ได้ยินหรือไม่ได้ยิน ทดสอบกันอย่างไร
หู อวัยวะสำคัญสำหรับการได้ยิน 1 ใน 5 อวัยวะประสาทสัมผัสของมนุษย์เรา วันนี้มีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับอาการผิดปกติของอวัยวะสำคัญนี้มาให้ได้อ่านกัน ซึ่งเป็นภาวะหนึ่งที่น่าสนใจและควรศึกษาเป็นความรู้ไว้เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันเอาไว้ล่วงหน้า นั้นคือภาวะการสูญเสียการได้ยิน
การสูญเสียการได้ยินเป็นภาวะบกพร่องในการรับฟังเสียงที่ผิดปกติจากเดิมตามมาตรฐานของการได้ยินในคนปกติ ซึ่งภาวะการได้ยินนี้จะมีความแตกต่างกันไปตามช่วงอายุและความรุนแรงจากสาเหตุที่ทำให้สูญเสียการได้ยิน โดยการสูญเสียการได้ยินส่วนใหญ่เกิดจากความบกพร่องของอวัยวะภายในชั้นหูดังนี้
- ความผิดปกติจากหูชั้นนอกและชั้นกลางซึ่งเรียกว่าการนำเสียงบกพร่อง (conductive hearing loss) เกิดจากโรคหรือพยาธิสภาพ
- ความผิดปกติจากหูชั้นในหรือประสาทรับฟังเสียงบกพร่อง (sensorineural hearing loss) คือได้ยินแต่ฟังไม่รู้เรื่อง
- ความผิดปกติบกพร่องแบบผสม (mixed hearing loss) เป็นภาวะที่การนำเสียงบกพร่องร่วมกับประสาทรับฟังบกพร่อง
- ความผิดปกติการรับฟังเสียงบกพร่องจากสมองส่วนกลาง ได้ยินเสียงแต่ไม่สามารถแปลความหมายของสัญญาณเสียงนั้น ๆได้
- ความผิดปกติการรับฟังเสียงบกพร่องจากสภาวะทางจิตใจ
ภาพที่ 1 การตรวจการได้ยิน
ที่มา https://pixabay.com/th/ , williamsje1
โดยทั่วไปผลกระทบของเสียงดังที่ก่อให้เกิดการสูญเสียการได้ยินสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
1. การสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว เกิดจากการรับฟังเสียงที่สม่ำเสมอเกินกว่า 75 dBA (decibel hearing level) ขึ้นไป ทำให้สูญเสียการได้ยินเพียงเล็กน้อยคือ อาการหูหนวก หรือหูอื้อชั่วคราว
2. การสูญเสียการได้ยินแบบถาวร เกิดจากการได้ยินเสียงดังเป็นระยะเวลานานเป็นปี ๆ
การทดสอบการได้ยิน
เมื่อผู้ป่วยมีภาวการณ์สูญเสียการได้ยิน จะมีแนวทางการทดสอบการได้ยินเพื่อช่วยในการวินิจฉัยความผิดปกติของระบบการได้ยิน ซึ่งเป็นการตรวจการทำงานของหู และระบบโสตประสาทเพื่อหาระดับการได้ยิน โดยปกติจะทำการทดสอบหาระดับการได้ยินผ่านสองทาง คือ การนำเสียงผ่านอากาศจากการครอบหูฟัง และการนำเสียงผ่านกระดูก ทดสอบโดยการวางตัวปล่อยเสียงที่กระดูกกกหู จากนั้นจะปล่อยเสียงความถี่เดียว ที่ระดับความดังต่าง ๆ แล้วลดระดับลงเรื่อย ๆ จนถึงระดับความดังที่เบาที่สุดที่ผู้ถูกทดสอบได้ยิน
ซึ่งการตรวจการได้ยินมีหลายรูปแบบ สามารถจำแนกได้เป็น 3 ประเภท คือ
- การตรวจการได้ยินด้วยส้อมเสียง (tuning fork)
ส้อมเสียง (tuning fork) เป็นการตรวจด้วยเสียงความถี่เดียว ความดังอยู่ที่ 512 เฮิรตซ์ (hertz,Hz = รอบต่อวินาที) เครื่องมือที่ทำจากเหล็กหรืออะลูมิเนียม มีลักษณะเป็นสองขามีด้ามจับ เป็นการตรวจแบบคัดกรองผู้ป่วย ผู้ตรวจจะเคาะส้อมเสียงกับบริเวณแข็งและยืดหยุ่นได้ เช่นข้อศอกหรือหัวเข่าเพื่อให้ส้อมเสียงสั่นสะเทือน
โดยปกติมี 2 วิธี
วิธีที่ 1 การทดสอบวีเบอร์ (Weber test) ใช้กับการตรวจสำหรับผู้ที่มีปัญหาการได้ยินแบบการนำเสียงบกพร่อง กับผู้ที่มีปัญหาการได้ยินแบบประสาทรับเสียงบกพร่อง ตำแหน่งที่ใช้ทดสอบคือกลางหน้าผาก กลางกระหม่อม คาง หรือฟันหน้า ผู้ถูกตรวจจะสังเกตการได้ยินเสียงของหูข้างไหนดังกว่ากัน ผลการสอบของผู้ที่มีภาวะการได้ยินปกติจะแจ้งว่าได้ยินเท่ากันทั้งสองข้าง แต่ถ้ามีภาวะนำเสียงบกพร่องจะแจ้งว่าได้ยินเสียงดังไปยังหูข้างที่มีการนำเสียงบกพร่อง
วิธีที่ 2 การทดสอบรินเน (Rinne test) เป็นการตรวจโดยให้ฟังเสียง เพื่อเปรียบเทียบการได้ยินเสียงผ่านทางอากาศ (air conduction) และการได้ยินผ่านทางกระดูก (bone conduction) ในหูเดียวกัน ผู้ที่มีการได้ยินปกติ จะแจ้งว่าได้ยินเสียงที่หน้าช่องหูดังกว่าเรียกว่าการทดสอบรินเนให้ผลบวก (positive Rinne test) ผู้ที่มีปัญหาการได้ยินชนิดการนำเสียงบกพร่อง จะแจ้งว่าได้ยินเสียงที่กระดูกมาสตอยด์ดังกว่าเรียกว่า การทดสอบรินเนให้ผลลบ (negative Rinne test) และผู้ที่มีปัญหาการได้ยินแบบประสาทรับเสียงบกพร่อง จะแจ้งว่าได้ยินเสียงที่หน้าช่องหูดังกว่าเรียกว่า การทดสอบรินเนให้ผลบวก (positive Rinne test)
- การตรวจการได้ยินโดยใช้เสียงบริสุทธิ์ (pure tone audiometry)
การตรวจการได้ยินโดยใช้เสียงบริสุทธิ์ เป็นการตรวจการได้ยินโดยใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า เครื่องตรวจการได้ยิน (audiometer) เพื่อวัดระดับการได้ยิน หาตำแหน่งพยาธิสภาพต้นเหตุปัญหาในการได้ยิน แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ
วิธีที่ 1 การตรวจการได้ยินทางอากาศ (air conduction) เป็นการตรวจโดยใช้ที่ครอบหู (earphones) ครอบหูทั้ง 2 ข้าง เสียงจะเดินทางผ่านจากที่ครอบหูไปยังหูชั้นนอก หูชั้นกลางและหูชั้นใน โดยใช้ช่วงความถี่ที่ตรวจตั้งแต่ 250, 500, 1,000, 2,000, 4,000 และ 8,000 เฮิรตซ์ ระดับความดังที่ใช้เริ่มตั้งแต่ -10 dBHL (decibel hearing level) จนถึง 120 dBHL (decibel hearing level) ในช่วงความถี่ 500 - 4,000 เฮิรตซ์ ผลการตรวจการได้ยิน (audiogram) คือ ภาพกราฟที่แสดงความสามารถในการได้ยินและระดับการสูญเสียการได้ยินของบุคคลในหูแต่ละข้าง แนวด้านบนของกราฟจะมีตัวเลขเรียงกันตั้งแต่ 125 ถึง 8,000 ตัวเลขเหล่านี้แสดงความถี่ของเสียงหรือระดับเสียงที่แตกต่างกันออกไป
วิธีที่ 2 การตรวจการได้ยินทางกระดูก (bone conduction test) เป็นการตรวจโดยวางเครื่องสั่นกระดูก (bone vibrator) ไว้ที่บริเวณกระดูกมาสตอยด์ของหูข้างที่จะตรวจเสียงจะเดินทางผ่าน กระดูกมาสตอยด์ไปยังหูชั้นใน ช่วงความถี่ที่ตรวจคือ 500 - 4,000 เฮิรตซ์และ ระดับความดังที่ใช้เริ่มตั้งแต่ -10 dBHL (decibel hearing level) จนถึง 70 dBHL (decibel hearing level)
ขั้นตอนการตรวจเพื่อทดสอบการได้ยิน โดยให้ผู้ตรวจตอบสนองโดยการกดปุ่มเมื่อได้ยินเสียงถึงแม้ว่าจะได้ยินเสียงเบามาก ๆ ก็จะต้องกด ซึ่งเป็นการตรวจหาระดับการได้ยินในระดับต่ำสุด (determination of threshold) ในหูทั้งสองด้าน โดยการตรวจการได้ยินทางอากาศ (air conduction test :AC) และตรวจการได้ยินทางกระดูก (bone conduction test :BC) ตามลำดับ โดยต้องสรุปเป็นข้อมูลการทดสอบ 3 สิ่งต่อไปนี้
- การสูญเสียการได้ยินจากการตรวจการได้ยินทางอากาศ (air conduction test :AC)
- การสูญเสียการได้ยินจากการตรวจการได้ยินทางกระดูก (bone conduction test :BC)
- ความสัมพันธ์ระหว่างระดับต่ำสุดที่ได้ยินของการตรวจการได้ยินทางอากาศ (air conduction :AC) และ การตรวจการได้ยินทางกระดูก (bone conduction test :BC)
ซึ่งจะมีการบันทึกผลดังภาพ
ภาพตัวอย่างบันทึกผลการได้ยิน
ที่มา คมสรรค์ เพชรคอน
การบันทึกผลการตรวจการได้ยินจะใช้เครื่องหมายและสัญลักษณ์บันทึกลงในแบบบันทึก (audiogram) ดังตาราง แต่ทั้งนี้ผู้ที่จะวินิจฉัยค่าของตารางนี้ก็คือแพทย์ผู้ทำการรักษาผู้ป่วยนั้นเอง
จากผลการทดสอบเราจะเทียบกับความบกพร่องของอวัยวะภายในชั้นหูตามที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งอาจสรุปได้ดังนี้
- การได้ยินปกติ (normal hearing)
ค่าเฉลี่ย (AC) ที่ 500-2,000 เฮิรตซ์ ไม่เกิน 25 dBHL
ระดับการได้ยินในแต่ละความถี่ตั้งแต่ 250- 8,000 เฮิรตซ์ไม่เกิน 25 dBHL (decibel hearing level)
(AC) และ (BC) ในแต่ละความถี่ใกล้เคียงกัน แต่ถ้า (BC) ดีกว่า(AC) ต้องมีค่าความแตกต่าง (air bone gap: AB gap) ไม่เกิน 10 dBHL (decibel hearing level)
- การนำเสียงบกพร่อง (conductive hearing loss)
ค่าเฉลี่ย (AC) ที่ 500 - 2,000 เฮิรตซ์ มากกว่า 25 dBHLแต่ไม่เกิน 60 dBHL (decibel hearing level)
ระดับการได้ยินในแต่ละความถี่ตั้งแต่ 250 - 8,000 เฮิรตซ์ไม่เกิน 25 dBHL (decibel hearing level)
ค่าความแตกต่าง (air bone gap: AB gap) อย่างน้อย 15 dBHL ใน 2 ความถี่ขึ้นไป
- ประสาทรับฟังเสียงบกพร่อง (sensorineural hearing loss)
ค่าเฉลี่ย (AC) ที่ 500 - 2,000 เฮิรตซ์ มากกว่า 25 dBHL (decibel hearing level)
ค่าเฉลี่ย (BC) ที่ 500 - 2,000 เฮิรตซ์ มากกว่า 25 dBHL (decibel hearing level)
(AC) และ (BC) ในแต่ละความถี่ใกล้เคียงกัน แต่ถ้ามีค่าความแตกต่าง (air bone gap: AB gap) ต้องไม่เกิน 10 dBHL (decibel hearing level)
- การรับฟังเสียงบกพร่องแบบผสม (mixed hearing loss)
ค่าเฉลี่ย (AC) ที่ 500 - 2,000 เฮิรตซ์ มากว่า 25 dBHL (decibel hearing level)
ค่าเฉลี่ย (BC) ที่ 500 - 2,000 เฮิรตซ์ มากกว่า 25 dBHL (decibel hearing level)
ค่าความแตกต่าง (air bone gap: AB gap) อย่างน้อย 15 dBHL ใน 2 ความถี่ขึ้นไป
ทั้งนี้ การสูญเสียการได้ยินก็เป็นภาวะหนึ่งที่ก่อนให้เกิดความทุกข์ทางกายและใจจนอาจเกิดภาวะที่เครียดซึ่งส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับอวัยวะส่วนนี้เป็นอย่างมาก
แหล่งที่มา
การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน. สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2561, จาก
http://www.chanahospital.go.th/content/การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน
การตรวจการได้ยิน. สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2561, จาก
http://www.baw.in.th/sub/sci/161010115/link3_7.htm
การตรวจการได้ยิน. สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2561, จาก
https://www.rcot.org/data_detail.php?op=knowledge&id=134
การตรวจการได้ยิน. สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2561, จาก
http://www.medel.com/th/audiogram/
นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์, แพทย์อาชีวเวชศาสตร์,นพ.สุดเขต นรัฐกิจ, โสต ศอ นาสิกแพทย์. (2556, 9 กุมภาพันธ์). จะทำอย่างไรเมื่อผลตรวจสมรรถภาพการได้ยินออกมาผิดปกติ. สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2561, จาก
http://www.summacheeva.org/index_article_audiometry.htm
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย. แก้ไขด้านการได้ยิน. สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2561, จาก
https://med.mahidol.ac.th/commdis/th/commdis/audioth
-
7862 ได้ยินหรือไม่ได้ยิน ทดสอบกันอย่างไร /article-physics/item/7862-2018-02-22-02-48-07เพิ่มในรายการโปรด