รู้จัก รังสีแพทย์
ก่อนหน้านี้เราเคยนำเสนอบทความเรื่อง Image Processing กับประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งบทความดังกล่าว ได้นำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลภาพและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางด้านภาพถ่ายเพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ไว้อยู่ด้วย ก็เลยทำให้อยากนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง และไม่ใช่แค่เกี่ยวกับเรื่องของการประมวลผลภาพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังเกี่ยวข้องกับศาสตร์เฉพาะทางอย่างด้านรังสีวิทยาอีกด้วย เราเรียกกลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ว่า รังสีแพทย์ (radiologist)
ภาพ การวินิจฉัยทางการแพทย์
ที่มา https://pixabay.com, jarmoluk
รังสีแพทย์ เป็นแพทย์ที่ศึกษาจนจบแพทย์ทั่วไป และผ่านการฝึกฝนจากการเป็นแพทย์อาชีพอย่างน้อย 1 - 3 ปี หลังจากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อเฉพาะทางด้านรังสีวิทยา โดยใช้เวลาศึกษาฉพาะทางนี้เป็นเวลา 3 ปี เพราะฉะนั้นจะมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษเกี่ยวกับเรื่องของรังสีวิทยาและรังสีวินิจฉัย นอกจากนี้ รังสีแพทย์ยังต้องเรียนต่อเพิ่มเติมในอนุสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความรู้และความสามารถในการวินิจฉัยและรักษาโรค
รังสีแพทย์ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีภาพวินิจฉัยต่าง ๆ อาทิเช่น Computed Tomography (CT) , Magnetic Resonance Imaging (MRI) , Positron Emission Tomography (PET scan) กล่าวคือ สามารถอ่านภาพถ่ายจากการทำตามขั้นตอนที่กล่าวไปข้างต้น โดยสามารถอ่านและวิเคราะห์มองหาโรคในภาพถ่ายแต่ละชนิดได้ เช่นภาพถ่ายจากฟิล์มเอกซเรย์ อัลตราซาวด์เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยและรักษาของแพทย์หลักที่ทำการรักษาผู้ป่วย
หน้าที่ของรังสีแพทย์
- เป็นที่ปรึกษาของแพทย์หลัก รังสีแพทย์ช่วยจะเป็นที่ปรึกษาของแพทย์หลักในกรณีการรักษาที่ต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องเกี่ยวข้องกับการประมวลผลภาพทางด้านรังสีวิทยา แพทย์รังสีจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกการตรวจภาพวินิจฉัยที่เหมาะสม และแปลผลภาพวินิจฉัยเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำสำหรับการรักษาขั้นต่อไป
- รักษาโรคโดยใช้เทคนิคภาพวินิจฉัยนำทางโดยไม่ต้องผ่าตัด เรียกสาขานี้ว่า interventional radiology
- เปรียบเทียบภาพวินิจฉัยกับการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคนิคอื่น ๆ
- แนะนำวิธีการตรวจวินิจฉัย และการรักษาที่อาจเหมาะสม
รังสีแพทย์ แบ่งสาขาได้อีก 4 สาขาดังนี้
- รังสีแพทย์ หรือที่รู้จักกันดีในนามหมอเอกซเรย์ มีหน้าที่วินิจฉัยโรคจากผลการตรวจโดยการใช้เครื่องมือทางการแพทย์
- รังสีรักษา รักษาผู้ป่วยมะเร็งโดยอาศัยรังสีชนิดต่าง ๆ ในการทำลายมะเร็ง
- เวชศาสตร์นิวเคลียร์ ทำงานเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสีที่นำมาใช้ในการรักษาโรคและการวินิจฉัยต่าง ๆ
- รังสีร่วมรักษา ใช้เครื่องมือทางรังสีวินิจฉัยมาเป็นตัวนำทางเพื่อเข้าไปทำการรักษาโรคในอวัยวะต่าง ๆ
รังสีแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจนเชี่ยวชาญ จะได้รับการฝึกฝนความรู้และประสบการณ์ในการให้การวินิจฉัย อีกทั้งยังมีหน้าทีรองคือ ทำหน้าที่เป็นผู้วิจัยและแสวงหาแนวทางการรักษาใหม่ ๆ อยู่เสมอ
นอกจากนี้ในวิชาชีพด้านรังสีวิทยา กลุ่มบุคคลที่รังสีแพทย์จะต้องทำงานร่วมด้วยนั้นก็มีความสำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะนักรังสีเทคนิคหรือพนักงานรังสีเทคนิค ซึ่งมีหน้าที่ร่วมกับรังสีแพทย์ในการตรวจและดูแลผู้ป่วย รวมไปถึงนักฟิสิกส์ผู้ช่วยสำคัญที่คอยให้ความช่วยเหลือในการดูแลความปลอดภัยของการใช้รังสีอีกด้วยและช่วยให้การรักษาโรคโดยเฉพาะการฉายแสงรักษามะเร็ง ทำได้อย่างแม่นยำและปลอดภัย
แหล่งที่มา
รังสีวิทยา. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
https://th.wikipedia.org/wiki/รังสีวิทยา
รังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย. รังสีแพทย์คือใคร.สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
http://www.radiologythailand.org/content/25
รังสีแพทย์คือใคร. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
http://thairadiologist.org/work/
-
7941 รู้จัก รังสีแพทย์ /article-physics/item/7941-2018-03-20-04-35-48เพิ่มในรายการโปรด