ชุมชนนวัติวิถีท่องเที่ยวเชิงเกษตร
ชุมชนนวัติวิถีท่องเที่ยวเชิงเกษตร หรือที่รู้จักกันในชื่อของโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ถูกขับเคลื่อนพัฒนาประเทศตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ที่มุ่งสร้างรายได้และความเจริญ ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ โดยให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการร่วมกันกับภาครัฐ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และมอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชนเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ส่งเสริมดำเนินงาน OTOP โดยร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ยกระดับผลิตภัณฑ์ และพัฒนาช่องทางการตลาดที่หลากหลาย เพื่อให้ขายสินค้าได้ อีกทั้งยังมุ่งปรับตัวสู่การค้าแบบสากล โดยต้องมีการเปลี่ยนผ่านยุคการผลักดันขายสินค้า OTOP ออกจากชุมชนสู่รายได้ตามความต้องการ (Demand Driven Local Economy) ซึ่งจะมีการจำหน่ายสินค้าอยู่ในชุมชนจากการท่องเที่ยว มีการใช้เสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต การทำการเกษตร วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์แปลงเป็นรายได้ รวมทั้งทำให้มีคุณค่าเพียงพอเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือน และใช้จ่ายเงินในทุกกิจกรรมของชุมชน ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้อยู่กับคนในชุมชนโดยรอบนับเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้สินค้า OTOP ส่วนใหญ่ของไทยเกิดจากการพึ่งพาอาศัยธรรมชาติและภูมิปัญญาของปู่ย่าตายาย ซึ่งเป็นมรดกดั้งเดิมของท้องถิ่น แต่ขาดนวัตกรรมใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า จึงเกิดการลอกเลียนแบบได้ง่าย สังเกตได้จากหลายจังหวัดมีสินค้า OTOP ประเภทเดียวกันเต็มไปหมด และชาวบ้านส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารต้นทุนการผลิตสินค้าให้เกิดความคุ้มค่า คุ้มทุน และขาดช่องทางขายที่ดี แม้ชาวบ้านจะผลิตสินค้าได้เก่งสักเพียงใด แต่หาตลาดไม่ได้ ขายของไม่เป็น ก็ขาดทุน ต้องเลิกกิจการกันเป็นจำนวนมาก
ภาพการท่องเที่ยวในชุมชนนวัติวิถี ณ บ้านหัวนา ตำบลหนองแก้ว อำเภอกันทรารมย์ จังหวีดศรีสะเกษ
ที่มา วรางรัตน์ เสนาสิงห์
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลไทยมอบหมายกรมการพัฒนาชุมชนเป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งมีแนวนโยบายให้เกิดกระบวนการรองรับการปฏิบัติตามแนวนโยบายของรัฐบาลใน “โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” ทำให้ต้องเร่งทำการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานโครงการดังกล่าว ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตลอดจนสร้างการรับรู้สู่สาธารณชนในวงกว้าง กรมการพัฒนาชุมชนจึงจัดทำแผนการประชาสัมพันธ์และการตลาดออนไลน์ขึ้นเพื่อ
วัตถุประสงค์ดังนี้
- เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดรายได้กับชุมชน โดยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง กระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศให้มีความเข้มแข็ง
- เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางในการท่องเที่ยว (กระแสหลัก เมืองรอง ชุมชน) ให้มีความโดดเด่น มีความพร้อมบนอัตลักษณ์ของชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี
- เพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากร ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องในชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ให้มีขีดความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์ และนำมาต่อยอดการบริหารจัดการชุมชนได้อย่างเหมาะสม
โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับการพัฒนาอาชีพให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง โดยเชื่อมโยงชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีจำนวน 3,273 หมู่บ้านกับเส้นทางการท่องเที่ยวกระแสหลัก เมืองรอง และแหล่งท่องเที่ยว ให้เกิดรายได้ที่กระจายไปสู่ผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน และประชาชนเกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่ม Quadrant D เพิ่มขึ้น จำนวน 64,570 ผลิตภัณฑ์ ให้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน (Strength with in) และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งอย่างแท้จริง เพื่อสร้างรอยยิ้ม คืนความสุข เพื่อคนไทยทุกคน อีกทั้งยังเป็นกระบวนการเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านและทรัพยากรท้องถิ่นผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีความคิดสร้างสรรค์เป็นแรงขับเคลื่อน ก่อให้เกิดสินค้า OTOP นวัตกรรม ที่สร้างสรรค์ใหม่ให้มีคุณค่าและมูลค่า เพิ่มจำนวนสินค้า OTOP ใหม่ ๆ ได้อย่างมีคุณภาพเหมือนกับ “โออิตะ” ต้นตำรับ OTOP ของญี่ปุ่นที่ชาวบ้านผลิตสินค้าด้วยตัวเอง และรับซื้อสินค้าในชุมชนมาขายให้นักท่องเที่ยวจนเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขายช่วยเพิ่มโอกาสการขายและตลาด OTOP ได้อย่างต่อเนื่อง
แหล่งที่มา
OTOP นวัตวิถี. (2561, 24 ธันวาคม). เกี่ยวกับโครงการ OTOP นวัตวิถี เชื่อมโยงภูมิปัญญา วิถีชุมชน. สืบค้นเมื่อ 01 พฤษภาคม 2562, จาก http://nawatwithi.com/about/
เทคโนโลยีชาวบ้าน. (2562, 11 มีนาคม). ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี “ การตลาดเหนือเมฆ ” ดึงคนซื้อเข้าสู่ชุมชน. สืบค้นเมื่อ 01 พฤษภาคม 2562, จาก https://www.technologychaoban.com/marketing/article_101610
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย. (2561, 24 พฤษภาคม). คู่มือบริหารโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี. สืบค้นเมื่อ 01 พฤษภาคม 2562, จาก http://yala.cdd.go.th/wp-content/uploads/sites/47/2018/05/คู่มือ-OTOP-นวัตวิถี.pdf
-
10096 ชุมชนนวัติวิถีท่องเที่ยวเชิงเกษตร /other-article/item/10096-2019-04-19-02-15-43เพิ่มในรายการโปรด