สุขที่กิน? หรือ สุขที่อิ่ม?
ความหิว เป็นความรู้สึกที่มักจะเกิดเมื่อไม่ได้รับอาหารเป็นเวลาหลายชั่วโมง มักจะเกิดก่อนมื้ออาหารสามารถรับรู้ได้ทั้งทางกายภาพและทางจิตใจ ทางกายภาพที่บ่งบอกถึงความหิวเช่น มีเสียงท้องร้อง ปวดท้อง มือสั่น หน้ามืด ปวดหัว ไม่มีแรง ส่วนทางด้านจิตใจ เช่น ขาดสมาธิ หิว ต้องการอาหาร
ภาพอาหารและการกิน
ที่มา วรางรัตน์ เสนาสิงห์
ความอยากอาหาร เป็นความรู้สึกที่แตกต่างจากความหิว ส่วนมากจะเป็นอาการทางกายภาพและมักจะไม่เด่นชัด แต่จะมีอาการทางจิตใจที่ส่งสัญญาณบอก ซึ่งจากการศึกษาพบว่าความรู้สึกอยากอาหารนั้นสืบเนื่องมาจากฮอร์โมนในร่างกาย ระดับของฮอร์โมนอินซูลิน พีวายวายเลปติน และเกรลินบวกกับปัจจัยทางด้านความคิด และอารมณ์ความรู้สึกเบื่อ เหงาหงอย กดดัน ความเครียด โกรธ ผิดหวัง เสียใจ หรือการมีความสุข ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อความอยากอาหารทั้งนั้น จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าทำไมคนผิดหวัง อกหัก มักอ้วนขึ้น เนื่องจากการกินอาหารหวาน และคาร์โบไฮเดรตสูงแล้วทำให้รู้สึกดีขึ้น โดยมีการวิจัยพบว่า คนบางกลุ่ม เมื่อรู้สึกโกรธ หรือมีความเครียดจะต้องการคบเคี้ยวอาหารที่รุนแรง เช่น มันฝรั่งทอด อาหารทอดกรอบ อาหารเค็ม ตามด้วยอาหารหวานเพื่อช่วยระงับความโกรธ
ความอิ่ม เป็นความรู้สึกที่แสดงออกได้ทั้งทางกายภาพและทางจิตใจ ทางกายภาพโดยกระเพาะจะขยายใหญ่ขึ้น เริ่มรู้สึกแน่น พุงป่อง หยุดการกิน ทางด้านจิตใจจะรู้สึกอิ่ม พอใจ มีแรง ไม่อยากอาหาร
ระบบการควบคุมความหิวความอิ่ม เป็นระบบการทำงานที่เชื่อมต่อกันระหว่างระบบทางเดินอาหาร ระบบการเผาผลาญอาหาร และการทำงานของสมองซึ่งอวัยวะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะหลั่งฮอร์โมน ได้แก่ ฮอร์โมนอินซูลินเมื่อหลั่งออกมามากจะทำให้รู้สึกหิว และอยากอาหารมากขึ้น ฮอร์โมนเกรลินเมื่อหลั่งออกมาจะทำให้รู้สึกหิว และอยากอาหารโดยเฉพาะของหวานและแป้ง ฮอร์โมนเลปตินเมื่อหลั่งออกมาจะทำให้รู้สึกอิ่ม ฮอร์โมนพีวายวายจะช่วยทำให้อิ่มเร็วขึ้น และมีความรู้สึกอยู่ท้องได้นานรวมถึงนิวโรเปปไทด์เพื่อส่งสัญญาณผ่านระบบไหลเวียนเลือดหรือเส้นประสาทไปยังระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะสมองส่วนไฮโพทาลามัส ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการควบคุมซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมความหิวความอิ่ม และการบริโภคอาหารของมนุษย์สมองส่วนนี้จะทำหน้าที่ควบคุมฮอร์โมน และนิวโรเปปไทด์ที่เกี่ยวข้องกับความหิว ความอิ่ม ความอยากอาหาร และความเต็มอิ่ม (หรือการอยู่ท้อง) ในบางคนที่สมองส่วนนี้มีปัญหาก็จะทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบความอยากอาหารได้
ปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับความหิวความอิ่ม ได้แก่
-
ชนิดของอาหาร และสารอาหาร อาหารในกลุ่มของคาร์โบไฮเดรตพบว่ากลุ่มที่มีใยอาหารชนิดละลายน้ำสูงจะช่วยลดความรู้สึกหิวและเพิ่มความรู้สึกอิ่มให้มากขึ้น รวมถึงมีส่วนช่วยในการลดลงของการกินอาหารในมื้อถัดไป อาหารที่มีใยอาหารชนิดละลายน้ำ ได้แก่ ผัก ผลไม้ ถั่ว ข้าวโอ๊ต สำหรับอาหารกลุ่มโปรตีนพบว่า กลุ่มที่มีโปรตีนสูงจะช่วยให้มีความอิ่มที่ยาวนานขึ้น และเมื่อเปรียบเทียบนมกับน้ำผลไม้ที่ปริมาณเท่ากันจะพบว่านมทำให้อิ่มได้ยาวนานกว่า
-
ความถี่ในการรับประทานอาหาร โดยปกติความถี่ในการกินอาหารจะอยู่ที่ 3 มื้อต่อวัน จากหลายการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการกินอาหารที่มีความถี่เพิ่มขึ้น (มากกว่า 3 มื้อต่อวัน) ไม่ได้ทำให้การควบคุมความอยากอาหารดีขึ้นหรืออาจจะส่งผลต่อการควบคุมความอยากอาหารให้ดีขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่การกินอาหารที่ความถี่น้อยลง (มากกว่า 3 มื้อต่อวัน) ส่งผลในทางไม่ดีต่อการควบคุมความอยากอาหาร เช่น การงดอาหารมื้อเช้าและมื้อกลางวันทำให้ระดับความหิวก่อนมื้ออาหารเย็นเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ยังพบว่า ประสาทสัมผัสทั้ง 5 อันได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นจุดเริ่มต้นในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวผ่านอวัยวะรับความรู้สึกที่อย่างตา ลิ้น จมูก หู และผิวหนัง ซึ่งในศาสตร์อายุรเวทพบว่าประสาทรับรู้ทั้ง 5 นี้ ส่งผลอย่างมากต่อคุณภาพทางความคิดและอารมณ์ การรู้จักดูแลให้ประสาทสัมผัสทั้งหมดมีความสมดุลอยู่เสมอจะทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งกายและใจ
แหล่งที่มา
Piyawan-on. (2557, 05 มิถุนายน). ความหิว ความอยากอาหาร ความอิ่ม คืออะไร. สืบค้นเมื่อ 01 พฤษภาคม 2562, จาก https://www.thaihealth.or.th/Content/24563-ความหิว%20ความอยากอาหาร%20ความอิ่ม%20คืออะไร.html
สาโรจน์ มีวงษ์สม. (2554, 23 กันยายน). อาหาร...อิ่มสุข ความพิเศษที่ประสาทลิ้นได้สัมผัสกับอาหารที่ “อร่อย” คือความ “อิ่มสุข” ที่ใครต่างก็ปรารถนา. สืบค้นเมื่อ 01 พฤษภาคม 2562, จาก https://www.posttoday.com/travel/112485
Nirvana Daii PLC. (2561, 16 กรกฎาคม). 5 Senses at Home เติมสัมผัสความสุขให้เต็มบ้าน. สืบค้นเมื่อ 01 พฤษภาคม 2562, จาก https://www.posttoday.com/travel/112485
-
10101 สุขที่กิน? หรือ สุขที่อิ่ม? /article-science/item/10101-2019-04-19-02-22-45เพิ่มในรายการโปรด