”ไลทอป”หินมีชีวิต
มาทำความรู้จักก้อนหินมีชีวิตไลทอปกันเถอะ เจ้าไลทอปเป็นพืชชนิดหนึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของพืชอวบน้ำ ชื่อของไลทอปมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก คือ คำว่า “Lithos” ซึ่งแปลว่า “หิน” และ “-ops” ซึ่งแปลว่า “เหมือน” ดังนั้นคำว่า “Lithops” จึงแปลได้ว่า “เหมือนหิน” ซึ่งชื่อก็บ่งบอกเลยว่าลักษณะของพืชชนิดนี้ เหมือนก้อนหิน ลักษณะเด่นของไลทอปมีความแตกต่างจากพืชชนิดอื่นอย่างชัดเจน หน้าตาของเจ้าไลทอปจะมีหลากหลายสีสันมากมายทั้งรูปร่าง ลักษณะ สีสัน คล้ายคลึงกับก้อนหินก้อนกรวด จนมีผู้เรียก ไลทอป ว่า “หินมีชีวิต”
“ไลทอป” หินมีชีวิต
ที่มา https://pixabay.com , rmac8oppo
Lithops (ไลทอป) เรียกโดยทั่วไปว่า flowering stones หรือ living stones (หินมีชีวิต) ขึ้นอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง และอากาศเย็น ส่วนใหญ่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศนามิเบีย และประเทศแถบแอฟริกาใต้ จุดเด่นของ ไลทอป ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง ขนาด และสีสันที่มีหลากหลาย ลวดลายที่แตกต่างกันอีกมากมาย จัดเป็นพืชอวบน้ำที่ขึ้นอยู่ในทะเลทรายอันแห้งแล้ง มักมีสัตว์มากัดกินต้นของมันเพื่อทดแทนการขาดน้ำในยามแล้ง นั่นคงเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้เจ้าไลทอปแสนน่ารักนี้ ต้องปรับตัวเองให้มีลักษณะคล้ายกับก้อนกรวดเล็ก ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกพบเห็นจากสัตว์เจ้าปัญหาต่าง ๆ และหลายๆ ครั้งเมื่อนักวิจัยมาเก็บตัวอย่างพืชชนิดนี้ ยังตาลายมองข้ามไลทอปไปก็ยังมี ดอกของไลทอปส่วนใหญ่มีสีเหลืองหรือสีขาว มีเพียงบางพันธุ์ที่มีดอกสีชมพูหรือบานเย็นมักออกในช่วงปลายปีประมาณช่วงฤดูใบไม้ร่วงถึงฤดูหนาว ช่วงเวลาที่ดอกบานมักจะเป็นเวลาหลังเที่ยงและหุบลงในเวลาเย็น ไลทอปเป็นพืชที่ต้องการการผสมเกสรข้ามต้นจึงจะติดเมล็ด มักฝังตัวเองอยู่ในพื้นหรือวัสดุที่ใช้ปลูก และเหลือเพียงส่วนบนของใบที่โผล่ขึ้นมาเท่านั้น สำหรับบริเวณส่วนบนของใบทั้ง 2 จะมีส่วนที่ค่อนข้างโปร่งแสง เรียกกันว่า "หน้าต่าง" (window) เพื่อให้แสงสามารถส่องเข้าไปในเนื้อเยื่อภายใน ซึ่งเป็นบริเวณที่สังเคราะห์แสง แต่ละสายพันธุ์ของไลทอปมีความต้องการแดดในปริมาณไม่เท่ากันแต่ส่วนใหญ่จะชอบแดด ดังนั้นผู้ที่จะเลี้ยงควรศึกษารายละเอียดของแต่ละสายพันธุ์ให้ดี การเตรียมวัสดุปลูกไลทอปนั้นไม่ยากเพียงแค่จัดหาหินภูเขาไฟนำมาผสมดินปลูกแคสตัส 1 ส่วน แต่โดยหลักการของวัสดุปลูกก็คือระบายน้ำได้ดีและแห้งได้เร็ว วิธีการสังเกตว่าระบายน้ำได้ดีไหม เมื่อรดน้ำแล้วทิ้งไว้สัก 1 วัน ให้สังเกตที่หินภูเขาไฟจะเหลือแค่ร่องรอยของความชื้นเท่านั้น (สีเข้มว่าปกติเล็กน้อย)นั่นเอง วิธีการเอาไลทอปให้ใช้ไม้ช่วยจิ้มรากลงไปในดิน โดยให้โคนต้นลอยเหนือดินเล็กน้อย และใช้หินภูเขาไฟโรยค้ำต้นไว้ ทำไมต้องใช้ไม้ช่วยเพราะถ้าจิ้มลงไปเลย อาจช้ำ รากหักได้ต้องทำอย่างทะนุถนอมเพราะไลทอปค่อนข้างจะบอบบาง คนเลี้ยงจึงต้องใส่ใจรายละเอียดมากมาก
สำหรับประเทศไทยนั้น ไลทอปเป็นพืชอวบน้ำที่ค่อนข้างเลี้ยงยากสักหน่อย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอากาศร้อนชื้น ไม่ค่อยเหมาะสมกับการเจริญเติบโตเท่าไหร่นัก แต่ถ้าศึกษาวิธีการเลี้ยงดี ๆ ก็สามารถเลี้ยงได้ ในการให้น้ำ “ให้อดจนแสดงอาการ แล้วค่อยให้กิน” คือเราจะไม่รดน้ำจนกว่าแสดงอาการว่าขาดน้ำ โดยอาการที่ว่าก็คือเกิดรอยย่นขึ้นบริเวณโคนต้น และตัววัสดุปลูกแห้งสนิท จึงจะรดน้ำได้ ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก จะรู้จักกันเฉพาะในกลุ่มที่ปลูกเลี้ยงแคสตัสและไม้อวบน้ำเป็นส่วนใหญ่
แหล่งที่มา
Nick, Rowlette. Contents on A guide to the cultivation of Lithops. Retrieved April 1,2019, from http://www.lithops.info/
CHAIYAPON. (2559, 12 มีนาคม). Lithops Nursery. สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2562, จาก http://lithopsinchiangmai.blogspot.com/2016/03/blog-post_12.html
-
10121 ”ไลทอป”หินมีชีวิต /article-science/item/10121-2019-04-19-04-47-23เพิ่มในรายการโปรด