เหตุผลที่ผักกรอบ
ผักมีมากมายหลายชนิด ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น แม่บ้านส่วนใหญ่จึงนิยมซื้อผักไปแช่ไว้ในตู้เย็นครั้งละเยอะๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องออกตลาดบ่อย ๆ แต่เมื่อแช่ผักไว้ในตู้เย็นเป็นเวลานาน ๆ ก็มักจะเจอกับปัญหาผักเหี่ยวเฉา เป็นสีคล้ำๆ จนดูไม่น่าทานเอาซะเลย แต่เราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ง่ายๆ โดยวิธีการดังนี้
ภาพผักสดหลายชนิด
ที่มา https://pixabay.com, Waqutiar
ก่อนเราจะเก็บผัก ผักเป็นพืชชนิดหนึ่งที่เน่าเสียบอบช้ำได้ง่าย เราไม่ควรเก็บผักไว้รวมกันเพราะจะทำให้เกิดการเน่าเสีย และเสื่อมสภาพเร็วขึ้น การเก็บผักควรเก็บด้วยวิธีแช่น้ำ และไม่ควรแช่ผักลงในน้ำทั้งตันเพราะจะทำให้วิตามินละลายน้ำเสียไป ควรเก็บผักเล็กๆ น้อยๆ ที่ใช้ในครัวและเก็บในตู้เย็นเท่านั้น ที่สำคัญควรล้างผักให้สะอาดก่อน เพราะผักที่ซื้อจากตลาดขายปลีกมักไม่สะอาด หากยังไม่ได้ใช้ทันทีให้ล้างทั้งต้นด้วยน้ำสะอาด แล้วผึ่งให้สะเด็ดน้ำจริงๆ จึงเอาเข้าเก็บ
เป็นที่ทราบกันดีว่าผักในปัจจุบันมักมีสารเคมีเจือปน ดังนั้นเราควรเรียนรู้วิธีลดสารเคมีในผักก่อนเก็บด้วยวิธีง่าย ๆ ดังต่อไปนี้ เช่น ใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอุ่น 1 กะละมัง (20 ลิตร) แช่ผักนาน 15 นาที แล้วนำไปล้างน้ำสะอาดหลายๆครั้ง จะสามารถลดสารตกค้างได้ร้อยละ 90-95 ขึ้นอยู่กับชนิดของผัก หรือจะใช้น้ำส้มสายชูที่มีกรดความเข้มข้นร้อยละ 5 ก็ได้เช่นกัน ผสมในอัตราส่วน 1:10 เช่น น้ำส้มสายชู 1 ถ้วยตวง ต้องใช้น้ำ 10 ถ้วยตวง นำไปแช่ผัก 10-15 นาที แล้วล้างน้ำสะอาด สามารถมารถลดสารเคมีได้ร้อยละ 60-84 ส่วนวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือใช้น้ำล้างผักปล่อยให้ไหลผ่านผัก โดยเด็ดผักเป็นใบ ๆ ใส่ตระแกรงโปร่ง แล้วใช้มือช่วยคลี่ใบผักล้างนาน 2 นาที สามารถลดสารเคมีได้ร้อยละ 25-63
มาดูการเก็บผักให้อยู่ได้นาน ๆ กันบ้าง กลุ่มผักที่เน่าเสียง่าย เหี่ยวและเหลืองเร็วอย่าง เห็ด ผักชี ผักกาดหอม ถั่วงอก ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง ชะอม การเก็บในตู้เย็นก็ไม่ได้ช่วยยืดอายุมากนัก วิธีเก็บที่ยืดอายุได้ดีที่สุดคือ บรรจุผักในถุงพลาสติกที่แห้งและสะอาดแล้วเก็บไว้ในตู้เย็น จะช่วยให้เก็บผักได้นานขึ้น 5-7 วัน
ส่วนผักที่มีอายุเวลาจํากัด เช่น ผักกาดขาว ผักคะน้า มะเขือเทศ และผักอื่นๆ ผักกลุ่มนี้ควรเก็บไว้ในห้องเย็นหรือตู้เย็นเช่นเดียวกัน โดยควรแยกใส่ถุงพลาสติก แล้วเก็บในอุณหภูมิ 7-8 องศาเซลเซียส จะช่วยให้คงความสดได้นานขึ้น ส่วนกลุ่มผักที่เก็บไว้ได้นานซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะเปลือกหนา เช่น ฟัก เผือก มัน ฟักทอง เป็นต้น หากเก็บรักษาระยะสั้น ไม่จำเป็นต้องนำเข้าตู้เย็นหรือห้องเย็น โดยเฉพาะฟักทอง และถ้าเก็บไว้ในที่มีอากาศเย็น แห้ง มีการถ่ายเทที่ดี จะสามารถเก็บได้นาน 2-3 เดือน แต่ถ้าผักถูกใช้ไปบางส่วนแล้วใช้ไม่หมดจำเป็นต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น โดยต้องปล่อยให้ผิวรอยตัดแห้งเสียก่อน และเก็บได้นานเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น และผักหัวประเภทแครอท หัวผักกาด ควรตัดใบออกให้หมดก่อนเก็บ มิเช่นนั้นจะทำให้ความหวานในหัวผักลดลงวิธีการเพียงเท่านี้ก็สามารถทำให้ยืดอายุผักให้สด และมีชีวิตชีวา ไม่เหี่ยว สีสันสดใส น่ารับประทาน
แหล่งที่มา
suparaporn. (2561, 17 กันยายน). เคล็ด (ไม่) ลับ! ดูแลผักสดกรอบ จนถึงจานคุณสืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2562, จาก https://goodlifeupdate.com/healthy-body/health-education/40794.html
รักบ้านเกิด. (2562, 31 มกราคม). ผักมีสภาพสดกรอบนานด้วยเทคนิคการน็อคน้ำเย็น. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2562, จาก
กิดานัล กังแฮ. (2560, 18 พฤษภาคม). อยากเก็บ ‘ผัก’ ให้นานทำไงดี?. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2562, จาก https://www.thaihealth.or.th/Content/36744-อยากเก็บ%20‘ผัก’%20ให้นานทำไงดี.html
-
10442 เหตุผลที่ผักกรอบ /article-science/item/10442-2019-07-01-01-25-45เพิ่มในรายการโปรด