เศรษฐกิจพอเพียงกับวิทยาศาสตร์
ในช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา เราต่างได้ยินคำว่าพอเพียงกันมาโดยตลอด ซึ่งนั่นเป็น "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ปรัชญาที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 หรือพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดำรัสชี้แนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย ซึ่งเป็นปรัชญาที่ใช้ได้ในทุก ๆ ด้านของการดำเนินชีวิต บทความนี้ เรามาดูตัวอย่างการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในด้านวิทยาศาสตร์กันดีกว่า
ภาพประกอบบทความเศรษฐกิจพอเพียงกับวิทยาศาสตร์
ที่มา ดัดแปลงจาก https://pixabay.com/ , janjf93 , http://scitarnkamonmarn.blogspot.com/
ด้วยเหตุที่ว่าพระองค์ทรงเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา นักเผยแพร่แนวคิด และนักปฏิบัติ ในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถสังเกตได้ว่า แก่นแท้ ของคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง”ก็คือการใช้หลักวิทยาศาสตร์มาปฏิบัติในการดำเนินชีวิตนั่นเอง ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจเห็นได้ว่า ปรัชญานี้ได้ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะไว้ตั้งแต่ก่อนที่ประเทศไทยจะเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจเสียด้วยซ้ำ ซึ่งนั่นก็ทำให้เห็นว่า ความพอเพียงจะทำให้เราผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมายในสมัยปัจจุบัน จากหลัก "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" อันได้แก่ พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาความสำคัญ ดังนี้
ความพอประมาณ
ซึ่งหมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ตั้งแต่ระดับเยาวชน โดยสามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานหรือวัสดุต่าง ๆ จากวัสดุท้องถิ่น หรือวัสดุเหลือใช้มาใช้งาน ตัวอย่างเช่น
1. การใช้ขวดน้ำอัดลมพลาสติกขนาดใหญ่ตัดขวางแทนการซื้ออ่างเลี้ยงปลาราคาแพง
2. การใช้สื่อการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ เช่น ใช้สีจากดอกไม้ทำสื่อทดสอบความเป็นกรด-เบส
3. การใช้มุ้งกันแมลงวันเวลาตากปลาสลิด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พื้นเมือง
4. ในด้านอุตสาหกรรมการผลิต การนำเอาของเสียมาทำให้เกิดมูลค่าหรือนำกลับมาใช้ประโยชน์
การมีเหตุผล
ซึ่งหมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ ตัวอย่างเช่น
1. การใช้หลักการและความรู้ เพื่อแสวงหาแนวทางและเครื่องมือในการจัดการ มาทำให้ประสิทธิภาพของการผลิตของโรงงานดีขึ้นและทำให้มีของเสียลดลง และต้นทุนการผลิตต่ำลง
2. การรู้จักใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการและสภาพแวดล้อม
3. การพัฒนาเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับคนหมู่มากก่อน
การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว
ซึ่งหมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ในอนาคตทั้งใกล้และไกล โดยสามารถสร้างได้จากการปลูกจิตสำนึกที่ดี ในการเห็นความสำคัญและบำรุงรักษาให้เกิดประโยชน์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ อาจต้องเริ่มต้นตั้งแต่ในระดับชั้นเรียน ผ่านการเรียนการสอนในห้องเรียน ควบคู่กับการนำไปปฏิบัติในท้องถิ่น โดยสร้างจิตสำนึกให้รักและพึงพอใจในสิ่งที่ตนและท้องถิ่นมี
จากที่กล่าวไปทั้งหมดนั้น เหล่านี้คือการประยุกต์แนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมายที่สามารถนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ มาประยุกต์ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงได้ ตัวอย่างเช่น การสร้างรายได้เลี้ยงตนในพื้นที่ 1 ไร่ ซึ่งเป็นบทความที่น่าสนใจ ลองเข้าไปอ่านกันเผื่อจะนำไปปรับใช้กันได้
แหล่งที่มา
รายงานพิเศษ: เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง จากงานวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562. จาก http://www.moe.go.th/news_center/news19012550_15.htm
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาขอนแก่น. บทเรียนวิทยาศาสตร์ออนไลน์ เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงและเทคโนโลยีที่เหมาะสม. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562. จาก http://www.kksci.com/elreaning/popea/page/e-lokron_1.htm
ทัศนียา กมลมาลย์. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง.สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562. จาก http://scitarnkamonmarn.blogspot.com/
-
10446 เศรษฐกิจพอเพียงกับวิทยาศาสตร์ /article-science/item/10446-2019-07-01-01-32-43เพิ่มในรายการโปรด