ฤดูกาลที่แตกต่าง
"อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ดูแลสุขภาพกันด้วยนะ" ประโยคแสดงความห่วงใย ที่หลาย ๆ คนอาจใช้กันบ่อย และถ้าพูดถึงเรื่องของสภาพอากาศ ก็คงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของฤดูกาล ซึ่งเป็นสาระสำคัญของสภาพภูมิอากาศในแบบต่าง ๆ มาดูกันว่า ฤดูกาลต่าง ๆ มีความเกี่ยวข้องกันกับสภาพภูมิอากาศอย่างไรบ้าง
สภาพภูมิอากาศ คือ รูปแบบในระยะยาวของสภาพอากาศ (Weather) ในพื้นที่เฉพาะหนึ่ง ๆ หรืออธิบายได้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นค่าเฉลี่ยของสภาพอากาศ (Weather) ในภูมิภาคหนึ่ง ๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะภูมิอากาศที่แตกต่างกันออกไป ตามตำแหน่งหรือภูมิประเทศของพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเรามักให้เรียกภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นฤดูกาลต่าง ๆ เช่น ฤดูร้อน ฤดูหนาว และฤดูฝน
การศึกษาเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ในทางวิทยาศาสตร์เราจะพิจารณาไปที่ ค่าเฉลี่ยของน้ำฝน อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วลมหรือ การตรวจวัดสภาพอากาศอื่น ๆ ที่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานในพื้นที่เฉพาะหนึ่ง ๆ เช่น จากการติดตามข้อมูลปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำในแม่น้ำ อ่างเก็บน้ำและข้อมูลจากดาวเทียม เป็นต้น
ภาพสภาพอากาศช่วงเวลากลางวัน
ที่มา https://pixabay.com, Congerdesign
สภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติของโลก ถ้าสภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นเช่น อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นทำให้ฤดูกาลต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถเกิดขึ้นได้โดยจากทั้งธรรมชาติและมนุษย์
การเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากธรรมชาติ
เกิดได้ในหลายแบบด้วยกัน เช่น การหมุนรอบตัวเองของโลกและรอบดวงอาทิตย์ การเปลี่ยนแปลงแนววงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งมีผลต่อภูมิอากาศ เนื่องจากการกระจายของพลังงานรังสีดวงอาทิตย์ที่ตกลงมายังผิวโลกตามละติจูดต่าง ๆเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย คือจะทำให้ฤดูกาลในภูมิอากาศต่าง ๆ บนพื้นผิวโลกเปลี่ยนแปลงไปด้วยอย่างเป็นลูกโซ่
ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากธรรมชาติ
1. การเปลี่ยนแปลงของพลังงานจากดวงอาทิตย์ พลังงานดวงอาทิตย์เป็นสาเหตุจากภายนอกโลกที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ พลังงานดวงอาทิตย์มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านปริมาณและด้านคุณภาพซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อภูมิอากาศของโลก การเปลี่ยนแปลงของพลังงานรังสีดวงอาทิตย์มีข้อเสนอมากมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอันเนื่องมาจากการผันแปรพลังงานดวงอาทิตย์ส่วนใหญ่จะแสดงถึงความสัมพันธ์กับวงจรการเกิดจุดดับบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) และหมอกที่ปิดกั้นระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ (Nebulae)
2. การเกิดระเบิดของภูเขาไฟ การระเบิดของภูเขาไฟจะพ่นก๊าซและเศษวัสดุที่ละเอียดมากๆจำนวนมหาศาลเข้าสู่บรรยากาศการระเบิดที่รุนแรงมากๆจะมีกำลังมากพอที่จะพ่นเศษวัสดุต่างๆเหล่านี้ขึ้นไปได้สูงมากถึงบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ซึ่งจะกระจายแผ่ออกไปทั่วโลกและยังคงล่องลอยอยู่ในบรรยากาศนานหลายเดือนหรืออาจนานมากเป็นปีอิทธิพลที่สำคัญประการแรกที่เกิดจากเถ้าถ่านภูเขาไฟคือเป็นตัวการขวางกั้นพลังงานรังสีดวงอาทิตย์ที่แผ่ลงมายังผิวพื้นโลกให้ลดน้อยลงมีผลทำให้อุณหภูมิในบรรยากาศชั้นโทรโพสเพียร์ลดต่ำลง
การเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์
การเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากกิจกรรมมนุษย์นั้น มีผลสืบเนื่องมาจากประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่พื้นที่อยู่อาศัยไม่ขยาย ทำให้เกิดปัญหาความแออัดของประชากรต่อหน่วยพื้นที่ ยังก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมถอย จากการตัดไม้ทำลายป่า ทำลายสมดุลธรรมชาติอันเป็นแหล่งผลิตก๊าซออกซิเจนและยังเป็นตัวช่วยในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนของประชากรโลก ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทำให้ความต้องการใช้พลังงานในทุกด้านเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นก็หมายถึงการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ทำให้โลกร้อนมากยิ่งขึ้นส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ และโอกาสที่ภัยธรรมชาติจะเกิดขึ้นในมุมต่างๆ ของโลกนั่นเอง
สภาพอากาศ (Weather)และภูมิอากาศ (Climate) แตกต่างกันอย่างไร
นอกจากสภาพโดยทั่วไปที่เราหมายถึง อุณหภูมิ ความชื้น เมฆ หมอก ลม ฝน และทัศนวิสัย การรู้เรื่องลมฟ้าอากาศ (Weather) เป็นการเรียนรู้สภาพของอากาศในช่วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตาม วัน เวลาและสถานที่ เช่น ลมฟ้าอากาศที่กรุงเทพมหานครในวันนี้ อุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ เราก็ควรที่จะเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้สภาพอากาศที่เกิดขึ้นเป็นประจำต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งเราเรียกว่า ภูมิอากาศ (Climate) เช่น สภาพอากาศที่มีค่าปานกลางของแต่ละพื้นที่ เช่น ภูมิอากาศของกรุงเทพมหานครมีอุณหภูมิเฉลี่ย 27 องศาเซลเซียส และนี่คือความแตกต่างของสภาพอากาศและภูมิอากาศนั่นเอง
จากที่กล่าวไปนั้น เราอาจสรุปได้ว่า อากาศมีความแตกต่างกันเนื่องจากองค์ประกอบ 3 อย่างคือ อุณหภูมิ ความชื้น และความกดอากาศ โดยองค์ประกอบดังกล่าวเกิดจากการได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์ และองค์ประกอบทั้งหมดจะแตกต่างกัน
แหล่งที่มา
environnet. (2559, 25 สิงหาคม). สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2562, จาก http://www.environnet.in.th/archives/389
Amki Green. (2561, 20 กรกฎาคม). ความแตกต่างของสภาพอากาศ (Weather) และภูมิอากาศ (Climate). สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2562, จาก https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/67824/-blo-sciear-sci-
อณุศร พุ่มพวง. (2561, 10 พฤษภาคม). สภาพอากาศ (Weather)และภูมิอากาศ (Climate) แตกต่างกันอย่างไร. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2562, จาก http://www.geo2gis.com/index.php/geography/2016-01-29-05-50-19/226-weather-and-climate-2
-
10447 ฤดูกาลที่แตกต่าง /article-science/item/10447-2019-07-01-01-36-31เพิ่มในรายการโปรด