ความหมายของเสียงที่เกิดจากแมลง
เอาใจนักอ่านสายธรรมชาติกันซะหน่อย ที่อาจเคยได้ยินเสียงร้องจากแมลงแล้วอาจสงสัยว่า เสียงเหล่านั้นบ่งบอกความหมายอะไรบ้างหรือเปล่า เสียงเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นเสียงของแมลงที่เรารู้จักกันดีอย่าง จิ้งหรีด ตั๊กแตน และจักจั่น
จิ้งหรีดและตั๊กแตน แมลงประเภทนี้จะมีลักษณะเป็นแบบปากกัด มีตารวม หนวดยาว ขาคู่หลังมีขนาดใหญ่และแข็งแรง เพศเมียปีกเรียบและมีอวัยวะวางไข่ยาวแหลมคล้ายเข็มยื่นออกมาจากส่วนท้อง เพศผู้มีปีกคู่หน้าย่นสามารถทำเสียงได้ จิ้งหรีดจัดเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่พบได้ในทุกภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะเขตร้อนอย่างประเทศไทย จิ้งหรีดมักกัดกินต้นกล้าของพืช ใบของพืช ส่วนที่อ่อนๆ เป็นอาหาร จิ้งหรีดมีหลายชนิด หลายขนาดแตกต่างกันไป พฤติกรรมลักษณะพิเศษของจิ้งหรีดที่แตกต่างจากแมลงชนิดอื่นอย่างโดดเด่นและสังเกตได้ง่ายคือ การส่งเสียงร้องและการผสมพันธุ์ที่เพศเมียจะคร่อมบนเพศผู้เสมอ
ภาพตั๊กแตน
ที่มา https://pixabay.com, rmac8oppo
เพศผู้ ปีกคู่หน้าย่น สามารถทำให้เกิดเสียงได้ โดยใช้ปีกคู่หน้าถูกัน เสียงที่จิ้งหรีดทำขึ้นเป็นการสื่อสารที่มีความหมายของจิ้งหรีด
เพศเมีย ปีกคู่หน้าเรียบ และมีอวัยวะวางไข่ยาวแหลม คล้ายเข็มยาวประมาณ 1.50 เซนติเมตร
การทำเสียงของเพศผู้ เกิดจากการใช้ปีกคู่หน้าถูหรือสีกัน ปกติปีกจะทับกันเหนือลำตัว เพศผู้ปีกขวาจะทับปีกซ้าย ส่วนเพศเมียปีกซ้ายจะทับปีกขวา เวลาร้องจะยกปีกคู่หน้าขึ้นใช้ขอบของโคนปีกซ้าย ถูหรือสีกับฟันซี่เล็ก ๆ ที่เรียงกันเป็นแถวที่โคนด้านในของปีกขวา พร้อม ๆ กับการโยกตัว เสียงร้องจะบ่งบอกถึงพฤติกรรมของจิ้งหรีดในขณะนั้น ดังในตาราง
ตารางแสดงลักษณะเสียงและพฤติกรรมของจิ้งหรีด
ลักษณะเสียง |
การแสดงพฤติกรรม |
1. กริก.......กริก....กริก...นานๆ |
อยู่โดดเดี่ยว ต้องการหาคู่หรือหลงบ้าน บางครั้งพเนจรร้องไปเรื่อย ๆ |
2. กริก...กริก..กริก...เบา ๆ และถี่ ติดต่อกัน |
ต้องการผสมพันธุ์ ตัวผู้จะถอยหลังเข้าหา ตัวเมียเพื่อขึ้นคร่อมรับการผสมพันธุ์ |
3. กริก...กริก...กริก...ยาวดัง ๆ 2-3 ครั้ง |
โกรธ หรือแย่งความเป็นเจ้าของ |
4. กริก....กริก...กริก...ลากเสียงยาวๆ |
ประกาศอาณาเขต หาที่อยู่ได้แล้ว |
มาดูที่จักจั่นกันบ้าง แมลงดึกดำบรรพ์ที่เราก็รู้จักกันดีเช่นกัน ตามข้อมูลการสำรวจปัจจุบันโลกของเรามีจักจั่นอยู่มากกว่า 2,500 สายพันธุ์ จักจั่นมีอายุที่ยาวนานแต่มันจะโผล่ออกมาขับขานเสียงเพลง แค่ช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพราะชีวิตส่วนให้ซึ่งเป็นตัวอ่อนจะอาศัยอยู่ใต้ดินชื้นๆ หรือใต้รากไม้ใหญ่ๆ เเละอาศัยดูดน้ำจากรากไม้เป็นอาหาร พอโตขึ้นมาก็ลอกคราบ บินได้ ส่งเสียงร้อง “จั่น จั่น จั่น จั่น” เเบบนี้นาน ๆ ในช่วงนี้พวกมันมีอายุไม่มากเพื่อหาคู่ผสมพันธุ์เเละก็ตาย
เสียงที่เราได้ยินนั้นเป็นเสียงของจักจั่นเพศผู้วัยเจริญพันธุ์ ส่วนเพศเมียวัยเจริญพันธุ์จะทำเสียงไม่ได้ เสียงที่เราได้ยินเกิดจากการสั่นตัวของกล้ามเนื้อภายในช่องท้องของจักจั่น ทั้งนี้การทำเสียงจะมีหลายรูปแบบ เช่น เตือนภัย ร้องเรียกความสนใจจากจักจั่นเพศเมีย คนสมัยก่อนใช้พวกมันเป็นสัญญาณบอกให้รู้ถึง “ฤดูร้อน” ได้เริ่มขึ้นแล้ว
ต่อไปนี้เวลาที่เราอยู่ในบริเวณพื้นที่เงียบสงัด เช่น ป่า ซึ่งก็อาจได้ยินเสียงของแมลงเหล่านี้ นอกจากจะฟังแล้วจะรู้สึกผ่อนคลาย ก็จะรู้แล้วหละว่าเสียงดังกล่าวแสดงถึงพฤติกรรมอย่างไรของแมลงตามที่นำเสนอไปนั่นเอง
แหล่งที่มา
ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่. (2556, 15 สิงหาคม). จิ้งหรีด. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2562, จาก http://www.aopdb04.doae.go.th/thebeeflies04.htm
มูลนิธิโลกสีเขียว. (2560, 19 พฤษภาคม). จักจั่นเมืองกรุง. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2562, จาก https://greenworld.or.th/wild_watch/จักจั่นเมืองกรุง/
natong. (2556, 21 พฤษภาคม). แมลงที่ทำเสียงคล้ายเครื่องเลื่อยวงเดือนคือ เรไร ใช่ไหม?. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2562, จาก http://siamensis.org/webboard/topic/37442
-
10453 ความหมายของเสียงที่เกิดจากแมลง /index.php/article-science/item/10453-2019-07-01-01-58-53เพิ่มในรายการโปรด