ทำความรู้จัก คุชชิ่ง ซินโดรม
เรามักคุ้นเคยกับคำว่า ซินโดรม (syndrome) ซึ่งหมายถึง กลุ่มอาการ หรือ ชุดความสัมพันธ์ระหว่างอาการและอาการแสดงหลายๆ อย่าง ซึ่งพบร่วมกัน และอาจอธิบายกลไกการเกิดอาการต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุได้ ทั้งนี้ กลุ่มอาการต่าง ๆ ก็มักตั้งชื่อตามผู้ค้นพบหรือตามที่มาที่เกิดขึ้น เช่น สถานที่ ประวัติศาสตร์ ตำนาน หรือตามลักษณะเฉพาะของกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นได้ สำหรับบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับกลุ่มอาการหนึ่ง ที่เกิดจากร่างกายมีฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid) หรือฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) มากเกินปกติ
ภาพประกอบบทความ ทำความรู้จัก คุชชิ่ง ซินโดรม
ที่มา ดัดแปลงจาก https://pixabay.com/ , Clker-Free-Vector-Images
คุชชิ่ง (Cushing) คือชื่อศัลยแพทย์ระบบประสาทชาวสหรัฐอเมริกา นามว่า Harvey Cushing นายแพทย์คุชชิ่ง ได้เสนอรายงานเกี่ยวกับโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดหนึ่งที่สร้างฮอร์โมน ACTH ที่กระตุ้นให้ต่อมหมวกไตสร้างฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์จนร่างกายเกิดอาการผิดปกติ
ทั้งนี้ ในทางการแพทย์ก็มักจะเรียกโรคจากสาเหตุที่มีฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์สูงจากเนื้องอกต่อมใต้สมองว่า “โรคคุชชิง (Cushing disease หรือ Cushing’s disease)” ในขณะเดียวกันก็รวมไปถึงกลุ่มอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากฮอร์โมนชนิดนี้ก็รวม ๆ เรียกว่า กลุ่มอาการคุชชิ่ง (Cushing syndrome หรือ Cushing’s syndrome) เพื่อให้เกียรติกับนายแพทย์คุชชิ่งนั่นเอง
ฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid)
ฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid) เป็นฮอร์โมนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอวัยวะภายในทุกระบบของร่างกายซึ่งช่วยสร้างความสมดุล เช่น น้ำและเกลือแร่รวมไปถึงการทำงานในระบบสร้างมวลกล้ามเนื้อ การใช้พลังงาน การทำงานของรังไข่ในเพศหญิงและของอัณฑะในเพศชาย การเจริญเติบโตของเซลล์ในช่วงวัยเด็ก การทำงานเกี่ยวกับระบบการรับรู้และรับความรู้สึก การทำงานของระบบภูมิต้านทาน และระบบเนื้อเยื่อต่าง ๆ
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้วเราพบว่า ผู้ที่เสี่ยงจะมีกลุ่มอาการคุชชิ่งเกิดขึ้นในร่างกายก็คือ กลุ่มผู้ที่ได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์มากเกินไป หรือที่เรารู้จักและเรียกกันว่า สเตียรอยด์ (Steroid) นั่นเอง
โดยอาการที่พบโดยทั่วไปจะมีดังนี้ คือ อยากอาหารบ่อย กินจุ ใบหน้าอ้วนกลม น้ำหนักเพิ่มเฉพาะส่วน โดยเฉพาะส่วนกลางลำตัว แต่แขนขาลีบ มีก้อนไขมันสะสม โดยเฉพาะที่ใบหน้า ส่วนกลางลำตัว หลังส่วนบนหรือช่วงระหว่างบ่า ปัสสาวะมากและปัสสาวะบ่อย นอนไม่หลับ ผิวหนังแห้งบางจนเห็นเส้นเลือด หรือเกิดรอยช้ำได้ง่ายและแตกลายเป็นสีชมพูหรือสีม่วง เกิดรอยแผลเป็นได้ง่ายเวลาที่เป็นแผล กระดูกพรุนแตกหักง่าย กล้ามเนื้ออ่อนแอ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ความดันโลหิตสูง ติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย บกพร่องทางกระบวนการคิด วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน
การรักษาของกลุ่มผู้ป่วยที่เป็น Cushing Syndrome คือลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกายที่เพิ่มสูงเกินไป โดยขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการป่วยด้วย เช่น การลดหรือหยุดใช้ยาสเตียรอยด์ การผ่าตัดเนื้องอกออก ในกรณีที่มีเนื้องอกเป็นสาเหตุ เช่น เนื้องอกต่อมใต้สมอง เนื้องอกต่อมหมวกไต เนื้องอกตับอ่อนหรือปอด การฉายรังสี การใช้ยารักษา ใช้เพื่อควบคุมการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกาย เป็นต้น
แหล่งที่มา
Somsak. โรคคุชชิ่ง พิษจากยาชุดลูกกลอน. สืบค้นเมื่อ 7 มิถุนายน 2562. จาก https://www.doctor.or.th/article/detail/1063
“โรคคุชชิง” ไม่อยากเสี่ยงต้องเลี่ยงยาสเตียรอยด์. สืบค้นเมื่อ 7 มิถุนายน 2562. จาก http://www.healthandtrend.com/healthy/disease/cushings-disease-does-not-want-to-risk-to-avoid-steroids
กลุ่มอาการ. สืบค้นเมื่อ 7 มิถุนายน 2562. จาก https://th.wikipedia.org/wiki/กลุ่มอาการ
ศิริพร ศรีภูธร. สเตียรอยด์ สรรพคุณดั่งเวทมนต์ของปีศาจ. สืบค้นเมื่อ 7 มิถุนายน 2562. จาก https://www.sirihomemade.com/สเตียรอยด์/
ความหมาย กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome).สืบค้นเมื่อ 7 มิถุนายน 2562. จาก https://www.pobpad.com/cushing-syndrome
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์. กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing syndrome). สืบค้นเมื่อ 7 มิถุนายน 2562. จาก http:// haamor.com/th/กลุ่มอาการคุชชิง/
-
10458 ทำความรู้จัก คุชชิ่ง ซินโดรม /article-science/item/10458-2019-07-01-02-06-49เพิ่มในรายการโปรด