ชื่อเรียกของพายุแต่ละแห่ง มีที่มาจากอะไรกันนะ?
หากกล่าวถึงฤดูฝนแล้วนั้น ในแถบภูมิภาคเขตร้อนชื้นอย่างประเทศไทยเรานั้น มีพายุหลาย ๆ ลูกที่พัดผ่านและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย วาตภัย หรือภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ก่อให้ผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก แล้วท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า พายุแต่ละลูกที่เคลื่อนผ่านในแต่ละเขตพื้นที่นั้นมีชื่อเรียกแปลก ๆ แตกต่างกันไป แล้วเขามีที่มาของพายุจากอะไร และเรียกชื่อแต่ละลูกได้ว่าอย่างไรบ้าง เรามาศึกษาข้อมูลกันค่ะ
พายุหมุนเขตร้อนและพายุหมุนกึ่งเขตร้อน จะได้รับการตั้งชื่อโดยศูนย์เตือนภัยต่าง ๆ เพื่อความสะดวกระหว่างนักพยากรณ์อากาศกับประชาชนทั่วไปในการคาดการณ์ ผู้สังเกตการณ์ และการเตือนภัย เนื่องจากระบบของพายุนั้น สามารถมีอายุนานกว่าสัปดาห์หรือมากกว่านั้น และในเวลาเดียวกัน ก็อาจมีพายุเกิดขึ้นได้มากกว่าหนึ่งลูกภายในแอ่งเดียวกัน การตั้งชื่อพายุจึงเกิดขึ้นเพื่อป้องกันการสับสนเกี่ยวกับพายุแต่ละลูก การใช้ชื่อที่ระบุเฉพาะตัวของพายุหมุนเขตร้อนแต่ละลูกต้องย้อนกลับไปหลายปี พร้อมกับระบบการตั้งชื่อตามชื่อสถานที่หรือสิ่งต่าง ๆ ก่อนจะมีการเริ่มต้นการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ โดยการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการมีใช้กับพายุที่ก่อตัวในแอ่งพายุหมุนเขตร้อนในแอตแลนติกเหนือ พายุหมุนเขตร้อนในแปซิฟิกตะวันออก กลาง พายุหมุนเขตร้อนในแปซิฟิกตะวันตก พายุหมุนเขตร้อนในแปซิฟิกใต้ ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อพายุหมุนเขตร้อนในภูมิภาคออสเตรเลียและพายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรอินเดีย โดยชื่อต่าง ๆ จะได้รับการกำหนดไว้ล่วงหน้า โดยเมื่อมีพายุหมุนเขตร้อนมีความเร็วลมเฉลี่ยในหนึ่ง สาม หรือ สิบนาที มากกว่า 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งขึ้นอยู่กับแอ่งนั้น ๆ
ภาพที่ 1 ตัวอย่างภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่เกิดพายุเฮอริเคน
ที่มา http://pixabay.com/ wikiImages
นักอุตุนิยมวิทยาใช้วิธีติดตามพายุตามปีที่พวกมันเกิดขึ้น แต่ในบางภูมิภาคของโลกอาจมีพายุได้นับร้อยครั้งในแต่ละปี และแต่ละลูกอาจมีอายุนานหลายเดือน การตั้งชื่อให้กับพายุ จึงช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามพวกมันได้สะดวก นอกจากนี้ มันยังช่วยให้ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์ตามสื่อต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ส่วนชื่อของพายุที่เคยสร้างความเสียหายรุนแรง มักจะถูกทดแทนด้วยชื่อใหม่ ด้วยเหตุผลเพื่อความเหมาะสม เช่น พายุทุเรียน ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในฟิลิปปินส์กว่า 1,400 คน ได้ถูกทดแทนด้วยชื่อ มังคุด ในปี 2551
พายุหมุนเขตร้อน (Tropical storm) คือคำทั่วไปที่ใช้เรียกพายุหมุนขนาดใหญ่ที่ก่อตัวเหนือทะเลหรือมหาสมุทรในเขตร้อน โดยทั่วไปมีเส้นผ่านศูนย์กลางหลายร้อยกิโลเมตร พายุหมุนเขตร้อน มีชื่อเรียกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด เช่น พายุที่ก่อตัวในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริบเบียน และอ่าวเม็กซิโก เรียกว่า "เฮอร์ริเคน" (Hurricane) หากเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้เรียกว่า "ไต้ฝุ่น" (Typhoon) เกิดมากที่สุดในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคมเป็นบริเวณที่เกิดพายุหมุนมากที่สุด ถ้าเกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดียเรียกว่า " ไซโคลน " (Cyclone) บางครั้งก็เรียกพายุไซโคลนที่เกิดขึ้นในทวีปออสเตรเลียว่า " วิลลี-วิลลี " (Willy-Willy) เกิดมากในเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
พายุหมุนเขตร้อนเมื่ออยู่ในสภาวะที่เจริญเติบโตเต็มที่จะเป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุดชนิดหนึ่งในบรรดาพายุที่เกิดขึ้นในโลก มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณตั้งแต่ 100 กิโลเมตรขึ้นไป และเกิดขึ้นพร้อมกับลมที่พัดแรงมาก ระบบการหมุนเวียนของลมเป็นไปโดยพัดเวียนในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาเข้าสู่ศูนย์กลางของพายุในซีกโลกเหนือ ส่วนในซีกโลกใต้พัดเวียนตามเข็มนาฬิกา ยิ่งใกล้ศูนย์กลางลมจะหมุนเกือบเป็นวงกลมและมีความเร็วสูงที่สุด
ความเร็วลมสูงสุดที่บริเวณใกล้ศูนย์กลางนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความรุนแรงของพายุ ซึ่งในย่านมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ (ด้านตะวันตก) และทะเลจีนใต้มีการแบ่งตามข้อตกลงระหว่างประเทศดังนี้
-
พายุดีเปรสชันเขตร้อน (tropical depression) ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
-
พายุโซนร้อน (tropical storm) ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 64 นอต (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
-
พายุไต้ฝุ่น (typhoon) ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 64 นอต (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไป
เกณฑ์ในการตั้งชื่อเรียกพายุ
-
1.เมื่อมีพายุที่มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางของพายุมากกว่า34 นอต หรือ 63 กม./ชม. พายุนั้นจะถูกตั้งชื่อต่าง ๆ ตามแหล่งกำเนิด
-
2. ชื่อของพายุจะเริ่มใช้ที่คอลัมน์ที่หนึ่งตัวบนสุดก่อน เช่น เมื่อมีพายุเกิดขึ้นมีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลาง ตามที่กำหนด ในข้อ1.เป็นตัวแรกของปี พายุนั้นจะมีชื่อว่า " Damrey (ดอมเรย์) "
-
3.เมื่อมีพายุตัวต่อไปเกิดขึ้นอีกและมีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางตามที่กำหนดในข้อ1. พายุนั้นจะใช้ชื่อที่อยู่ถัดลงมา เช่น พายุตัวที่สองจะมีชื่อว่า " Longwang (หลงหวาง) "
-
4.เมื่อใช้จนหมดคอลัมน์ให้ใช้ชื่อแรกของคอลัมน์ที่อยู่ถัดไป เช่น พายุที่เกิดหลังพายุ "Trami (ทรามี)" จะใช้ชื่อ "Kongrey (กองเรย์)"
-
5.เมื่อใช้จนหมดคอลัมน์ที่5 ให้กลับมาใช้ชื่อแรกของคอลัมน์ที่ 1 เช่น พายุที่เกิดหลังพายุ "Saola (เซลลา)" จะใช้ชื่อ "Damrey (ดอมเรย์)"
ในส่วนของประเทศไทย ตั้งอยู่ในโซนมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนบน และทะเลจีนใต้ ร่วมกับสมาชิกประเทศอื่น ๆ ได้แก่ กัมพูชา จีน เกาหลีเหนือ-ใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ลาว มาเก๊า มาเลเซีย ไมโครนีเซีย (รัฐอิสระอยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือหมู่เกาะอินโดนีเซีย) ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ และเวียดนาม
ทั้งนี้ชื่อพายุจะแบ่งเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 28 ชื่อ ชื่อพายุแต่ละชื่อ จะเรียงตามชื่อประเทศของลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ เริ่มจากกัมพูชา เรื่อยไปจนถึงเวียดนามซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย โดยไทยเราอยู่อันดับที่ 12 เมื่อใช้หมด 1 กลุ่มก็จะขึ้นชื่อแรกในกลุ่มที่ 2 เรียงกันเรื่อยไปจนครบทุกกลุ่ม แล้วจึงกลับมาใช้ชื่อแรกของกลุ่มที่ 1 ใหม่อีกครั้ง
ด้วยเหตุนี้ ทางกรมอุตุนิยมวิทยาจึงได้ตั้ง คณะกรรมการพิจารณารายชื่อ และความหมายของชื่อขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนเสนอชื่อพายุในภาษาไทยที่ที่ประชุมของ ศูนย์เตือนภัยพายุไต้ฝุ่นร่วม หรือ เจทีดับบลิวซี (Joint Typhoon Warning Center (JTWC)) ซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะกวม ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก โดยมีสมาชิกอีก 14 ประเทศในโซนเดียวกันมาร่วมประชุม จนได้ชื่อพายุของไทยตามลำดับได้แก่ พระพิรุณ ทุเรียน วิภา รามสูร เมขลา มรกต นิดา ชบา กุหลาบ และขนุน
ภาพที่ 2 พายุไซโคลนบรูซ ขณะเคลื่อนตัวไปยังมหาสมุทรอินเดียใต้-ตะวันตก
ที่มา https://earthdata.nasa.gov/labs/worldview
แหล่งที่มา
World Meteorological Organization. (2015). Tropical Cyclone Operational Plan for the Bay of Bengal and the Arabian Sea: 2015. pp. 11–12.
Tropical Cyclone Committee. (2016). Tropical Cyclone Operational Plan for the South-West Indian Ocean: 2016 (Report No. TCP-12). World Meteorological Organization. pp. 13–14.
https://www.bbc.com/thai/thailand-44884263 Retrieved on August 13th, 2019
-
10615 ชื่อเรียกของพายุแต่ละแห่ง มีที่มาจากอะไรกันนะ? /article-science/item/10615-2019-09-02-01-29-10เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง