อดีตกับปัจจุบันใส่ปุ๋ยข้าวต่างกันหรือไม่
วิถีชีวิตชาวนาไทยจากอดีตสู่อนาคต ในอดีตมีคำกล่าวที่ว่า “ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ” เป็นจริงแน่นอน เพราะในชนบทเกือบทุกครัวเรือนจะทำนามียุ้งข้าว และอุปกรณ์การทำนาที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เลี้ยงควายไว้ใช้ไถนาและบางครั้งก็ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวนาได้ด้วย แต่ปัจจุบันในชนบทพบว่า ควายซึ่งเป็นสัตว์คู่ทุกข์คู่ยากนั้นหายไปจากท้องทุ่ง หลายครอบครัวเลิกเลี้ยงควายกันแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่า หลายครอบครัวทำนาไม่มีปุ๋ยคอกใส่ในนาต้องซื้อปุ๋ยเคมีมาใส่ในนาแทนที่ปุ๋ยคอก เมื่อใสปุ๋ยเคมีต้องใส่ในปริมาณที่มากข้าวจะได้งามเมื่อใส่ไปมาก ๆ ก็จะส่งผลทำให้โครงสร้างของดินนั้นเสียไป ระบบนิเวศน์ถูกทำลายเพราะจุลินทรีย์ในดินและน้ำ สิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่อยู่ไม่ได้หรือมีการใช้สารเคมีฆ่าหญ้าและสารเคมีฆ่าแมลง ก่อเกิดความไม่สมดุลของธรรมชาติ เกิดการระบาดของโรคและแมลง จึงต้องมีการใช้สารเคมีในปริมาณที่มากขึ้น ดังนั้นในปัจจุบันการผลิตข้าวถ้าทุกคนใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมและคำนึงถึงระบบนิเวศน์ โดยการทำการเกษตรสมัยใหม่ร่วมกับการทำเกษตรแบบดั้งเดิม จะเป็นการคืนธรรมชาติให้กับแผ่นดินได้อย่างยั่งยืน
ภาพที่ 1 นาข้าวที่หว่านปุ๋ยคอกหลังปักดำ 30 วัน ณ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม
ที่มา วรางรัตน์ เสนาสิงห์
ข้าว เป็นอาหารหลักของชาวเอเชียโดยเฉพาะคนไทยที่กินข้าวทุกมื้อ บางภาคกินข้าวเจ้า บางภาคกินข้าวเหนียว บางคนตอนดึกมีเพิ่มข้าวต้มอีกหนึ่งมื้อ ปัจจุบันเป็นยุคข้าวยากหมากแพงเงินหายากแต่ใช้ง่าย ข้าวแพงโดยเฉพาะช่วงนี้ราคาข้าวเหนียวแพงกว่าข้าวเจ้า ข้าวสารขายกันเป็นลิตรหรือกิโลกรัม ต่อไปในอนาคตคนไทยและผู้คนทั่วโลกที่บริโภคข้าวจะต้องซื้อข้าวเป็นกิโลกรัมหรือบรรจุใส่ถุง ถุงละกิโลกรัมและ 5 กิโลกรัม ลิตรที่ใช้ตวงข้าวจะหายไป เหมือนกับอดีตที่ชาวนาใช้ควายไถนาเปลี่ยนเป็นรถแทรกเตอร์ ชาวนาใช้เคียวเกี่ยวข้าว ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นรถเกี่ยวข้าว ยุ้งฉางย้ายไปอยู่รีสอร์ต โรงสีข้าวในหมู่บ้านก็จางหายไป แต่ก่อนเมื่อข้าวสารหมดก็จะเอาข้าวเปลือกไปสีที่โรงสีในหมู่บ้าน แล้วจะได้ข้าวสารกลับมาพร้อมกับปลายข้าวและรำใช้สำหรับเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เป็ด ปลา เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ไม่ต้องไปหาซื้อตามท้องตลาดเหมือนในปัจจุบัน และในอนาคตตลาดสดก็จะหายไป จะมีเพียงแต่ซูเปอร์มาร์เกตให้เห็นในอนาคตอันใกล้ถึงนี้ ดังนั้น เกษตรกรไทยและชาวนาไทยต้องกลับมาคิดทบทวนและใช้องค์ความรู้ทางวิชาการในอดีตผสมผสานเทคโนโลยีสมัยที่เหมาะสม ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นผลิตข้าวอย่างถูกต้องเพื่อผลผลิตเพิ่มขึ้นและได้คุณภาพสูงตามมาตรฐานสากล
วิธีการใส่ปุ๋ยข้าวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
- ใส่ปุ๋ยครั้งแรก ก่อนปักดำ 1 วัน ด้วยปุ๋ยสูตร 16-20-0 นาดินเหนียวหรือ 16-18-8 สำหรับนาดินร่วนในอัตรา 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ (ตัวเลข 3 ตัวเป็นตัวเลขที่บ่งบอกให้ทราบถึงปริมาณธาตุอาหารหลักๆ ที่มีอยู่ 3 ชนิดด้วยกันก็คือ N-P-K หรือ ไนโตรเจน-ฟอสฟอรัส-โพแทสเซียม )
- การใส่ปุ๋ยให้หว่านปุ๋ยให้สม่ำเสมอทั่วทั้งแปลงนา และคราดปุ๋ยให้คลุกเคล้าเข้ากับดินนาก่อนปักดำ 1 วัน
- ดูแลรักษาระดับน้ำอย่างให้ลึกเกินไป และไม่ควรให้น้ำขาดนาช่วงระยะเวลาระหว่างเกิดช่อดอก
- ดูแลกำจัดวัชพืช
- มีการป้องกันและกำจัดโรค แมลง และสัตว์ศัตรูของข้าว - ใส่ปุ๋ยครั้งที่สองระยะข้าวเริ่มตั้งท้องหรือสร้างรวงอ่อนในอัตราไร่ละ 7-15 กิโลกรัมต่อไร่
- ระบายน้ำออกจากแปลงนาหลังจากข้างออกดอกแล้วประมาณ 21 - 25 วัน เพื่อเร่งให้ข้าวสุกแก่พร้อมกัน
แหล่งที่มา
ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้. (2560, 15 ธันวาคม). องค์ความรู้ทางการเกษตร ทำอย่างไรให้ข้าวสุขภาพแข็งแรง ผลผลิตมีคุณภาพ. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2562, จาก http://researchex.rae.mju.ac.th/agikl/index.php/knowledge/40-crops/134-rice-management
Biz Amnat. (2560, 3 พฤศจิกายน). วิถีชีวิตชาวนาไทยจากอดีตสู่อนาคต. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2562, จาก http://www.lovefarmer.org/?p=1647
-
10618 อดีตกับปัจจุบันใส่ปุ๋ยข้าวต่างกันหรือไม่ /article-science/item/10618-2019-09-02-01-31-27เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง