เทคโนโลยีกับการแก้ปัญหาความยากจน
ปัญหาความยากจนและปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ที่ประเทศไทย และกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา กำลังเผชิญและหาแนวทางแก้ไขกันอยู่ เป็นข่าวที่ดีว่าในยุคที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามามีบทความต่อสังคมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคม ก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่อยู่ในกลุ่มการแก้ปัญหาด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี มาดูกันดีกว่าว่า ในปัจจุบัน (2020) มีแนวโน้มมากน้อยเพียงไหนที่เป้าหมายนี้จะประสบความสำเร็จ
ภาพการทำเกษตรกรรม
ที่มา https://pixabay.com/th , etheldith
ปัญหาความยากจนถือเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องรีบเร่งแก้ไข เนื่องจากเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญและหาทางช่วยเหลือตามแนวทางและรูปแบบของหน่วยงานนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น หน่วยงานที่สนับสนุนทางด้านนวัตกรรมแห่งชาติอย่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ก็ผลักดันและมุ่งมั่นในการลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยด้วยการส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปใช้ในสังคม ระดับพื้นที่ โดยมีกลไกการสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation)
ภาพการใช้เทคโนโลยีในการเก็บเกี่ยวผลผลิตในสวนพริก
ที่มา https://pixabay.com/th , perusona1004
การนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน ก็ต้องมองกลับไปที่ประเทศของเรานั้นส่วนใหญ่ยังเป็นประเทศกลุ่มเกษตรกรรมมากกว่าอุตสาหกรรม ดังนั้นการสนับสนุนดังกล่าวก็ต้องมุ่งเน้นไปที่การเริ่มต้นพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่หรือชุมชนทางด้านการเกษตรกรรมเสียส่วนใหญ่ โดยมีกลไกการสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) เป็นตัวเชื่อมโยงและการระดมความคิดจากนักวิจัย อาจารย์ ผู้ประกอบการ วิสาหกิจเพื่อสังคม ให้เกิดการนำต้นแบบความคิด ผลงานวิจัย และไอเดียต่าง ๆ มาพัฒนาเป็นเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มที่สอดคล้องกับปัญหาทางสังคม
ซึ่งนวัตกรรมตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จไประดับหนึ่งก็คือ เทคโนโลยี “ธนาคารน้ำใต้ดิน” เทคโนโลยี “ระบบอบแห้งชนิดการแผ่รังสีความร้อนของเซรามิก” และเทคโนโลยี “ระบบผลิตก๊าซชีวภาพแบบบอลลูนด้วยผ้าใบโพลีเอสเตอร์ และที่เป็นโครงการในการดำเนินงานต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนการนำนวัตกรรมต่าง ๆ เช่น นวัตกรรมการตลาดสำหรับสินค้าชุมชน นวัตกรรมการเงิน นวัตกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร นวัตกรรมด้านเกษตรอินทรีย์ นวัตกรรมพลังงานทดแทน นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ และนวัตกรรมการท่องเที่ยวชุมชนและวัฒนธรรม เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า แนวโน้มของการแก้ไขปัญหาความยากจนในสังคมไทยสอดคล้องกับบริบททางสังคมไทยที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ นั่นก็คือการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม และถึงแม้ว่าเรากำลังจะผันตัวเข้าสู่อุตสาหกรรม แต่ก็ยังคงเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรอยู่ดี ดังนั้นเทคโนโลยีส่วนใหญ่ก็จะถูกออกแบบและสร้างสรรค์มาเพื่อกิจกรรมทางการเกษตรเสียส่วนใหญ่
แต่เป็นสัญญาณที่ดีว่าการแก้ไขปัญหาความจนด้วยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมีแนวโน้มไปในทางที่ดีมากยิ่งขึ้น โครงการต่าง ๆ มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องก็หมายถึงโครงการก่อนหน้าประสบความสำเร็จ ผู้เขียนเองก็หวังว่าเป็นอย่างยิ่งว่า การแก้ไขปัญหานี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย ซึ่งจะส่งผลถึงความสำเร็จในระดับประเทศได้อย่างแน่นอน
แหล่งที่มา
บลูชิพ online. เอ็นไอเอ นำนวัตกรรม แก้เหลื่อมล้ำนำร่อง 6 หมู่บ้าน. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2562. จาก https://www.bluechipthai.com/news-เอ็นไอเอ_นำนวัตกรรม_แก้เหลื่อมล้ำนำร่อง_6_หมู่บ้าน-31363935
NIA ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม จัดงานสัมมนาเรื่อง “นวัตกรรมกับการแก้ปัญหาความยากจน” . สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2562. จาก https://www.nia.or.th/Social26-04
-
10996 เทคโนโลยีกับการแก้ปัญหาความยากจน /article-science/item/10996-2019-10-25-07-56-55เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง