รู้จักกับนักวิทย์-คณิต จากทุกมุมโลก ตอนที่ 16 Charles Robert Darwin
กลับมาพบกันอีกครั้งกับบทความซีรี่ส์ชุดรู้จักกับนักวิทย์-คณิต จากทุกมุมโลก ในส่วนบทความของตอนนี้จะกล่าวถึงบุคคลที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นบุคคลที่ปฏิวัติความเชื่อเดิม ๆ ในเรื่องของการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต และหลักการพื้นฐานของกลไกลการคัดเลือกโดยธรรมชาติ โดยที่ว่าผู้ที่มีความเหมาะสมและแข็งแกร่งที่สุดเท่านั้นที่จะสามารถอยู่รอดได้ หากอยากทราบว่าบุคคลผู้นั้นคือใคร ตามมาอ่านกันได้เลย
หากกล่าวถึงทฤษฎีวิวัฒนาการจากการคัดสรรโดยธรรมชาติ (Theory of Evolution by Natural Selection) แล้วคงไม่มีผู้ใดที่ไม่รู้จัก “ชาร์ลส์ โรเบิร์ต ดาร์วิน” (Charles Robert Darwin) หรือที่เราต่างเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ดาร์วิน” เขาเป็นนักธรรมชาติวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ของโลกอีกทั้งยังเป็นนักธรณีวิทยาและนักชีววิทยา ดาร์วินปฏิวัติความเชื่อเดิม ๆ ที่เกี่ยวกับที่มาของสิ่งมีชีวิต และนำเสนอทฤษฎีซึ่งเป็นรากฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่และหลักการพื้นฐานของกลไกการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ดาร์วินมีผลงานวิจัยหลากหลายด้าน เช่น ด้านวิวัฒนาการของมนุษย์ สัตว์ และพืช ดาร์วินได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์คนหนึ่ง
ภาพ ชาร์ลส์ โรเบิร์ต ดาร์วิน
ที่มา https://pixabay.com/, WikiImages
ประวัติทางด้านครอบครัว
ชาร์ลส์ ดาร์วิน เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1809 (พ.ศ.2352) ที่เมืองชรูว์สเบอรี (Shrewsbury) ประเทศอังกฤษ ครอบครัวของดาร์วินมีฐานะร่ำรวย บิดาของเขาชื่อ โรเบิร์ต วอริง ดาร์วิน (Robert Waring Darwin) เป็นนายแพทย์และต้องการให้ดาร์วินเดินตามรอยเส้นทางการแพทย์ บิดาของเขาจึงส่งดาร์วินไปเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ (Edinburgh) ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์ที่ดีที่สุดของอังกฤษในขณะนั้น ดาร์วินศึกษาวิชาการแพทย์อยู่ที่นั่นได้เพียง 2 ปีก็ลาออก เนื่องจากรับไม่ได้กับการเรียนวิชาผ่าตัด หลังจากที่ดาร์วินออกจากมหาวิทยาลัยแห่งนั้นบิดาของเขาจึงส่งดาร์วินไปเรียนด้านศาสนาและเทววิทยาที่ไครสต์ส คอลเลจ (Christ’s Collaege) ในเมืองแคมบริดจ์ ระหว่างที่เขาเรียนเกี่ยวกับศาสนา เขาก็ได้ลงเรียนวิชาเกี่ยวกับการศึกษาสิ่งมีชีวิตและเขามักได้มีโอกาสรับฟังการบรรยายวิชาธรรมชาติอยู่เสมอ และดาร์วินยังมีที่อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญอีก 2 ท่านที่เป็นผู้ให้คำปรึกษา รวมถึงได้ศึกษาด้านพฤกษศาสตร์กับบาทหลวงจอห์น สตีเวนส์ เฮนสโลว์ (John Steven Henslow) และศาสตราจารย์เชดจ์วิค (P.Sedgwick) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านธรณีวิทยา ทั้งสองท่านได้พาดาร์วินออกสำรวจไปในสถานที่ต่าง ๆ และยังเป็นผู้แนะนำให้ดาร์วินเดินทางไปสำรวจพื้นที่บริเวณตามชายฝั่งทะเลของทวีปอเมริกาใต้และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อร่วมทำแผนที่กับเรือหลวงบีเกิ้ล (H.M.S.Beagle) ในฐานะของนักสำรวจธรรมชาติวิทยา
เส้นทางการสำรวจของดาร์วิน
ในวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1831 ดาร์วินได้ร่วมเดินทางไปกับเรือหลวงบีเกิ้ลโดยเรือออกจากท่าเรือเมืองดาเวนพอร์ต (Davenport Harbor) เมืองพลายเมาท์ ประเทศอังกฤษ โดยเรือหลวงบีเกิ้ลได้แล่นเข้ามหาสมุทรแอตแลนติกเลียบไปตามชายฝั่งทางทิศตะวันตกของทวีปแอฟริกาและเข้าสู่หมูเกาะคานาร์เป็นที่แรกซึ่งห่างจากชายฝั่งของทวีปแอฟริกาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 60 ไมล์ หลังจากนั้นเขายังออกสำรวจไปในที่ต่าง ๆ เช่น ประเทศบราซิลเพื่อเข้าสำรวจลุ่มน้ำแอมะซอน (Amazon) และยังเดินทางไปสำรวจหมู่เกาะต่าง ๆ ในประเทศเปรู ประเทศชิลี ประเทศนิวซีแลนด์ เกาะออสเตรเลีย และวนกลับมาที่ปราซิลอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นเรือหลวงบีเกิ้ลก็ได้เข้าที่อ่าวเปอร์โต ปาร์ยา (Porto Praya) ในหมู่เกาะเคปเวิร์ด และได้แวะที่เมืองอาโซสเป็นที่สุดท้ายก่อนที่จะเข้าจอดเทียบท่าที่เมืองฟอลมัธทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1836 ดาร์วินใช้เวลาเดินทางสำรวจเป็นเวลานานถึง 5 ปีจากที่กำหนดเวลาไว้เพียงแค่ 2 ปี ในระยะเวลาที่ดาร์วินออกเดินทางสำรวจ เขาได้พบสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายและอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะที่หมู่เกาะกาลาปากอส (Galapagos) เขาได้พบความพิเศษของเหล่าสัตว์ต่างชนิดนานาพันธ์ุ ซึ่งสัตว์บางชนิดนั้นเป็นสัตว์ชนิดใหม่ที่สามารถพบได้เฉพาะที่เกาะแห่งนี้เท่านั้น ดาร์วินจึงตั้งสมมติฐานขึ้นว่าสัตว์เหล่านี้นั้นมีต้นกำเนิดมาจากที่ใด และสัตว์หรือพืชแต่ละชนิดมีวิวัฒนาการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมโดยที่จะต้องดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ หากสัตว์หรือพืชชนิดใดที่อ่อนแอก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้และสูญพันธ์ไปในที่สุด ในส่วนของสัตว์ที่มีความแข็งแกร่งก็จะสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้โดยจะถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมนั้นต่อไปยังลูกหลาน หรือที่เรียกว่า “การคัดสรรตามธรรมชาติ” (Nature Selection) รวมไปถึงการตั้งสมมติฐานว่าพระเจ้านั้นไม่ได้เป็นผู้สร้างมนุษย์แต่มนุษย์นั้นน่าจะมีวิวัฒนาการมาจากลิง
ผลงานที่สำคัญของดาร์วิน
ดาร์วินใช้เวลาศึกษาค้นคว้ากว่า 20 ปีเกี่ยวกับวิวัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิต โดยเขาได้แรงบันดาลใจมาจากซากฟอสซิล เขารวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อทำการศึกษาส่งมีชีวิตอยู่หลายชนิด เช่น ม้า สุนัข และลิง เป็นต้น จากการรวบรวมข้อมูลของดาร์วินเขาสามารถสรุปและได้ตั้งเป็นทฤษฎีวิวัฒนาการได้ว่า สิ่งมีชีวิตในปัจจุบันนี้นั้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตในอดีต
ภายหลังต่อมาดาร์วินได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “กำเนิดของสิ่งมีชีวิต” (The Origin of Species) หนังสือของเขาได้ถูกตีพิมพ์ขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1859 แต่เมื่อหนังสือออกวางจำหน่ายด้วยความเชื่อที่มามีช้านานเกี่ยวกับคำที่ว่า “พระเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์” หนังสือของดาร์วินจึงถูกวิพากษ์วิจารย์จนเกิดประเด็นที่ขัดแย้งในสังคมเนื่องจากส่งผลกระทบต่อความเชื่อดั้งเดิมของชาวคริสต์ จึงทำให้ดาร์วินไม่ได้รับการยกย่องหรือรางวัลใด ๆจากผลงานชิ้นนี้ของเขา
ในช่วงสุดท้ายของชีวิตดาร์วิน
ด้วยความที่ดาร์วินสั่งสมอาการป่วยมานานหลังจากการเดินทางออกสำรวจไปในที่ต่าง ๆกับเรือหลวงบีเกิ้ล เขาได้เสียชีวิตลงอย่างสงบภายในบ้านพักของของเขาด้วยวัย 73 ปี เมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1882 ดาร์วินได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากหนังสือของดาร์วินเป็นผลงานโดดเด่นที่มีประโยชน์อย่างมากทั้งทางชีววิทยาและมนุษย์วิทยาโดยเฉพาะทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่เรียกได้ว่าเป็นก้าวสำคัญสำหรับวงการชีววิทยาและถูกนำไปใช้ในหลากหลายสาขาอีกด้วย ร่างของดาร์วินถูกฝังไว้ในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ใกล้กับนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างเซอร์ไอแซก นิวตันอย่างสมเกียรติและสมศักดิ์ศรี และได้กำหนดให้วันที่ 12 กุมภาพันธ์ เป็นวันดาร์วินสากล (International Darwin Day) เพื่อร่วมรำลึกถึงชาร์ลส์ ดาร์วิน ผู้ที่ถูกยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งทฤษฎีวิวัฒนาการและนักธรรมชาติวิทยาผู้ที่ปฏิวัติความเชื่อเรื่องจุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิต”
แหล่งที่มา
ชาร์ลส์ โรเบิร์ต ดาร์วิน. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2563. จาก http://siweb.dss.go.th/Scientist/Scientist/Charles%20Robert%20Darwin.html
BIOTEC.ฉายแววเป็นนักธรรมชาติวิทยา . สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2563. จาก www1a.biotec.or.th/BRT/dmdocuments/Charles_Darwin(1).pdf
ย้อนเส้นทางชีวิต "ชาร์ลส์ โรเบิร์ต ดาร์วิน". สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2563. จาก https://mgronline.com/science/detail/9520000015127
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2563. จาก www.safetybio.agri.kps.ku.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=4578&Itemid=42
-
11329 รู้จักกับนักวิทย์-คณิต จากทุกมุมโลก ตอนที่ 16 Charles Robert Darwin /article-science/item/11329-16-charles-robert-darwinเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง