รู้จักกับนักวิทย์-คณิต จากทุกมุมโลก ตอนที่ 19 Marie Curie
รู้หรือไม่ว่าศาสตร์ของเคมีมีความสำคัญอย่างไรกับการดำรงชีพในปัจจุบัน มาร่วมค้นพบคำตอบได้ในบทความซีรีส์ชุดรู้จักกับนักวิทย์-คณิตจากทุกมุมโลก ในคราวนี้เราเดินทางมาถึงบทความตอนที่ 19 กันแล้ว ในบทความนี้จะกล่าวถึงบุคคลที่กล่าวได้ว่าเป็นมารดาแห่งศาสตร์ของเคมี บุคคลท่านนี้เป็นผู้ยกระดับความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดีขึ้นนับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน บุคคลท่านนั้นคือ มารี กูรี หรือที่นิยมเรียกกันว่า มารี เป็นบุคคลที่มีแนวความคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับการให้ความสำคัญของศาสตร์เกี่ยวกับวิชาทางด้านเคมี และยังสร้างความสำเร็จทางด้านเคมีที่มีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตประจำวันในปัจจุบัน เรามาติดตามอ่านเรื่องราวของมารีผู้นี้จากบทความนี้กันได้เลย
การพัฒนาศาสตร์ของด้านวิชาเคมีนั้นเกิดขึ้นมาหลายร้อยปี มีนักฟิสิกส์และนักเคมีมากมายหลายท่านได้ทำการศึกษาและค้นพบข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์และเคมีที่แตกต่างกันออกไป มารี คือนักเคมีหญิงท่านหนึ่งที่ได้ทำการศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับธาตุเรเดียม จนสามารถนำรังสีเรเดียมนั้นมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งถือเป็นการใช้ศาสตร์ด้านเคมีที่ได้รับการยกย่องระดับชีวิตของมนุษย์ที่สำคัญ
ภาพที่ 1 ภาพถ่าย มารี กูรี (Marie Curie) ในปี ค.ศ.1900
ที่มา https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Marie_Curie_1900_-_DIG17379.jpg
ประวัติทางด้านครอบครัว
มาเรีย สคลอดอฟสกา Marja Sklodowska หรือมารี กูรี (Marie Curie) เป็นชาวโปแลนด์ มารีเกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1867 ที่เมืองวอร์ซอ เขตวิสทูลา จักวรรดิรัสเซีย ซึ่งในปัจจุบันคือประเทศโปแลนด์ มารีเป็นบุตรสาวของบรอนีสวาวา (Bronislawa) กับววาดีสวอฟ (Wladyslaw) มีพี่น้องจำนวน 5 คน บิดาของมารีเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์และมักพามารีมาที่ห้องปฏิบัติการอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มารีมีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ยังเด็ก แตกต่างจากจากค่านิยมของสังคมส่วนใหญ่ของผู้หญิงในสมัยนั้น ที่จะเน้นการเรียนและการเตรียมตัวเป็นแม่บ้าน เมื่อจบการศึกษาในระดับต้นแล้ว มารีกับพี่สาวของมารีได้ทำงานด้วยการเป็นครูสอนอนุบาลให้กับเด็ก ๆ ในละแวกนั้น โดยทั้งสองมุ่งหวังที่จะไปเรียนที่ต่อที่ฝรั่งเศส แต่ด้วยปัญหาทางการเงินของทางบ้านทำให้มารีตัดสินใจหยุดเรียนและไปรับสอนหนังสือที่บ้านของผู้มีฐานะ โดยมารีเป็นผู้เสียสละส่งเสียพี่สาวชื่อ โบรเนีย (Bronia) จนเรียนจบด้านแพทยศาสตร์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสก่อน และเมื่อพี่สาวเรียนจบจึงกลับมาส่งเสียมารีให้เรียนต่อทางด้านวิทยาศาสตร์ต่อไป ความตั้งใจของมารีก็ไม่สูญเปล่า เมื่อพี่สาวของมารีเรียนจบก็ได้มาส่งเสียมารีให้ได้เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยปารีส ในสาขาทางด้านวิชาฟิสิกส์ เคมี และคณิตศาสตร์ อย่างไรก็ตาม มารีก็ยังต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างประหยัดด้วยข้อจำกัดทางการเงิน และทำงานพิเศษเป็นติวเตอร์เพื่อหารายได้เพิ่มเติมจนสามารถเรียนจบปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์ได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1893 และได้เริ่มทำงานในห้องปฏิบัติการทางอุตสาหกรรมของศาสตราจารย์ Abriel Lippmann และเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยปารีสจนจบปริญญาโทในปี ค.ศ. 1894 จนสำเร็จ
มารีได้เริ่มทำงานในฐานะนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับงานด้านการตรวจหาคุณสมบัติทางแม่เหล็กของเหล็กกล้าหลายชนิด และในปีเดียวกันนั้นเองมารีก็ได้พบรักกับปิแอร์ กูรี (Pierre Curie) เป็นนักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส ความชอบและความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์ได้ทำให้ทั้งคู่ทำความรู้จักกันจนเริ่มสนิทสนมกันมากขึ้น ทั้งคู่ก็ได้ตัดสินใจแต่งงานกันเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1895 โดยจัดพิธีแบบเรียบง่ายที่ไม่ใช้แหวนหมั้น และทั้งคู่ได้เดินทางไปฮันนีมูลกันด้วยการปั่นจักรยานเที่ยวในฝรั่งเศส และเป็นที่รู้จักในนาม มาดามมารี กูรี (Marie Curie)
ภาพที่ 2 มารี กูรี (Marie Curie) ในห้องปฏิบัติการ
ที่มา https://www.flickr.com/photos/nationaalarchief/3334194920/Nationaal Archief
ผลงานสำคัญที่สร้างชื่อเสียงให้กับมารี กูรี
วิลเฮล์ม เรินต์เกน (Wilhelm Rontgen) ผู้ค้นพบรังสีเอกซ์ซึ่งเป็นรังสีที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและมีอำนาจสูงโดยผ่านเนื้อเยื่อคนไปยังกระดูกได้ ทำให้สามารถมองเห็นกระดูกของคนได้โดยที่ไม่ต้องใช้วิธีการผ่าตัด และ อองตอน เบกแครล (Antoine Becquerel) ผู้เสนอรายงานว่าสารประกอบยูเรเนียมแม้อยู่ในที่มืดก็สามารถแผ่รังสีออกมาจนทำให้แผ่นฟิล์มนั้นมัวหมองได้
มารีศึกษาต่อในระดับดุษฎีบัณฑิตด้านฟิสิกส์ และจากข้อมูลของวิลเฮล์ม เรินต์เกนและอองตอน เบกแครล ทำให้มารีสนใจที่จะทำการศึกษาต่อว่ารังสีที่สารประกอบยูเรเนียมนั้นปล่อยออกมาคือรังสีอะไร สารประกอบอื่น ๆ มีความสามารถเช่นเดียวกันหรือไม่ และสาเหตุที่ทำให้ธาตุนั้นเปล่งรังสีออกมานั้นคืออะไรและมีความรุนแรงเท่าใด
นอกจากนี้ ปิแอร์ผู้เป็นสามีของมารี และน้องชายของเขาได้ออกแบบอุปกรณ์วัดกระแสไฟฟ้ามีความไวสูงเพื่อให้มารีได้ทดลองใช้ ในการศึกษารังสีที่สารประกอบยูเรเนียมปล่อยออกมา มารีคิดว่ารังสีนั้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอะตอมยูเรเนียม แต่มารีก็ไม่มีหลักฐานที่ประกอบความคิดนี้ได้อย่างชัดเจน จนในที่สุดในปี ค.ศ. 1898 มารีได้นำ Pitchblende ซึ่งเป็นรังสีสีดำแข็งมาเริ่มทำการวิเคราะห์จบทำให้มารีได้พบธาตุใหม่ 2 ธาตุประกอบด้วย พอโลเนียม (มารีตั้งชื่อตามบ้านเกิดของมารี) และเรเดียมซึ่งมีสีเงินสามารถเรืองแสงได้ และมารียังได้พบว่าธาตุเรเดียมนั้นปล่อยรังสีออกมาได้รุนแรงมากกว่ายูเรเนียมถึง 900 เท่า ต่อมาในปี ค.ศ. 1902 มารีก็ได้สกัดแร่เรเดียมบริสุทธิ์ออกมาได้สำเร็จและพบว่าแร่มีกัมมันตภาพรังสีรุนแรงมากจนผิวของปิแอร์ถูกเผาไหม้
สตรีที่ได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 ครั้ง
ในปี ค.ศ. 1903 มารีได้ศึกษาจบปริญญาเอก โดยที่มารีมีเบ็กเคอเรลเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของมารี อีกทั้งมารียังเป็นผู้หญิงคนแรกในประเทศฝรั่งเศสที่ได้รับปริญญาเอก และไม่เพียงเท่านั้นในช่วงของปลายปียังมีการประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ คือ การค้นพบปรากฏการณ์กัมมันตภาพรังสี โดยรางวัลนี้ได้รับร่วมกัน 3 ท่านคือ แบ็กเกอร์แรลที่เป็นผู้ค้นพบเป็นคนแรก ปิแอร์และมารีที่ทำการทดลองค้นคว้าหาคำอธิบายสำหรับปรากฏการณ์นี้ การรับรางวัลโนเบลในครั้งนี้ทำให้มารีเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลอีกด้วย
ต่อมาในปี ค.ศ. 1911 มารีได้รับรางวัลโนเบลอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้มารีได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีจากการค้นพบธาตุพอโลเนียมและเรเดียม จากการได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 ครั้งของมารีทำให้มารีกลายเป็นบุคคลแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล 2 สาขาเพียงคนเดียวในโลก
ช่วงสุดท้ายของชีวิตมารี กูรี
ในปี ค.ศ. 1933 มารีได้ทำการจัดตั้งมูลนิธิ Curie Foundation เพื่อให้ทำหน้าที่ในการสนับสนุนการวิจัยด้านงานวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์และสนับสนุนทางการแพทย์ และในปี ค.ศ. 1953 สถาบันแห่งนี้ได้กลายเป็นต้นแบบของสถาบันวิจัยมะเร็งในหลายประเทศ และเริ่มใช้งานด้านวิทยาศาสตร์เข้ามามีส่วนร่วมส่งเสริมคุณภาพชีวิตของสังคมมากขึ้น
เมื่อมารีอายุ 58 ปี สุขภาพของมารีก็เริ่มทรุดโทรมหนักมากขึ้น มารีเริ่มมีอาการหูหนวก ตาบอด และมีรอยไหม้ที่ตามมือของมารี ผลมาจากการที่มารีใช้เวลาทำการทดลองรังสีต่าง ๆ ทำให้ถูกรังสีจากสารกัมมันตภาพรังสีแผดเผามารี ในเวลาต่อมามารีจึงป่วยหนักด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลโอตซาวัว (Haute Savoie) และเสียชีวิตในวัย 67 ปี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1934
แหล่งที่มา
มารี คูรี และผู้วิจัยรักษามะเร็งยุคแรก สัมผัสรังสีบ่อยเกินจนเป็นมะเร็งที่ส่งผลภายหลัง.สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2563. จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_47494
สุทัศน์ ยกส้าน,ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน. Marie Curie นักเคมีสตรีแห่งปีเคมีสากล ๒๐๑๑. สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2563. จาก https://www.sarakadee.com/2011/03/10/marie-curie/
มุกเคอร์จี, สิทธัตถะ. จักรพรรดิแห่งโรคร้าย ชีวประวัติโรคมะเร็ง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.
มารี กูรี. สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2563. จาก https://scoop.mthai.com/google_news/3306.html
มารี กูรี (Marie Curie) ผู้ศึกษาปรากฏการณ์กัมมันตภาพรังสี. สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2563. จาก http://www0.tint.or.th/nkc/nkc54/content-01/nstkc54-034.html
“มารีคูรี” สตรีผู้ยกระดบชีวิตมนุษยชาติด้วยศาสตรแห่งเคมี. สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2563. จาก http://nstda.or.th/rural/public/100%20articles-stkc/10.pdf
-
11461 รู้จักกับนักวิทย์-คณิต จากทุกมุมโลก ตอนที่ 19 Marie Curie /article-science/item/11461-19-marie-curieเพิ่มในรายการโปรด