รู้จักกับนักวิทย์-คณิต จากทุกมุมโลก ตอนที่ 20 Maria Goeppert-Mayer
หลายคนอาจรู้จักชื่อเสียงของเหล่านักวิทยาศาสตร์มากมายหลายท่าน แต่สังเกตหรือไม่ว่าส่วนใหญ่แล้วเรามักไม่เห็นชื่อของผู้หญิงหรือหากได้ผ่านตามาบ้างอาจจะไม่รู้ว่าชื่อเหล่านี้เป็นใครและมาจากไหนกันบ้าง ในคราวนี้เราจะกลับมาพบประวัติของบุคคลสำคัญที่เป็นสุภาพสตรีอีกครั้ง ต่อเนื่องจากบทความซีรีส์ชุดรู้จักกับนักวิทย์-คณิตจากทุกมุมโลกชุดที่แล้ว บุคคลท่านนี้เป็นสุภาพสตรีคนที่สองที่ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาฟิสิกส์ นับว่าเป็นบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งในศตวรรษที่ 20 เลยก็ว่าได้ เรามาพบกับเรื่องราวของท่านนี้กันได้เลย
มีเพียงไม่กี่คนที่จะได้ประสบผลสำเร็จสูงสุดดั่งใจปรารถนา ทุกคนล้วนมุ่งมานะบากบั่นเพื่อให้ได้มาซึ่งชื่อเสียงและผลงานที่โดดเด่นเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์กายภาพ(ฟิสิกส์)ท่านนี้ เธอเป็นสุภาพสตรีคนที่สองของโลกที่ได้รับรางวัลเกียรติยศเชิดชูชั้นสูงโนเบล ในสาขาฟิสิกส์ ต่อจาก Marie Curie โดยบุคคลท่านนี้มีนามว่า Maria Goeppert-Mayer
ภาพมาเรีย เมเยอร์ (Maria Goeppert-Mayer)
ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/File:Maria_Goeppert-Mayer_portrait.jpg
ประวัติทางด้านครอบครัว
Maria Gertrude Kate Goeppert หรือ Maria Mayer เธอเกิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1906 ที่เมือง Kattowitz ประเทศเยอรมนี (เมืองหนึ่งในโปแลนด์ปัจจุบัน) มาเรียเป็นบุตรสาวคนเดียวของศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Kattowitz และมารดาซึ่งเป็นอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสและดนตรี มาเรียเป็นบุตรสาวคนเดียวที่เป็นความหวังของครอบครัว ดังนั้นจึงมีความกดดันทางด้านครอบครัวที่หมายว่าจะต้องมีอนาคตในสายอาชีพที่ครอบครัวกำหนดไว้
มาเรียเข้าศึกษาระดับชั้นมัธยมใน Gottingen โดยมีประวัติการเรียนค่อนข้างดีและมีความสามารถพิเศษทางด้านภาษาและวิชาคณิตศาสตร์ สามารถสอบเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัย Georgia Augusta ในวิชาเอกทางคณิตศาสตร์
จากการที่มาเรียมีโอกาสได้เข้าฟังการบรรยายของ Max Born บุคคลที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 1954 ด้วยผลงานการแปลความหมายของกลศาสตร์ควอนตัม ทำให้มาเรียมีความสนใจในเรื่องของฟิสิกส์มากขึ้น และด้วยในช่วงขณะนั้นภายใต้สถานการณ์การสูญเสียบิดาผู้ตั้งความหวังไว้กับเธอ เธอจึงตั้งใจเรียนฟิสิกส์จนสำเร็จปริญญาระดับดุษฎีบัณฑิต โดยที่มี Max Born เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ให้กับเธอ
ประวัติการทำงาน
ในสังคมการทำงานในยุคสมัยนั้น ปัญหาหาการปิดกั้นทางสังคมที่มีต่อสุภาพสตรียังมีอยู่มาก มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ยังไม่ค่อยยอมรับและนิยมรับสุภาพสตรีเข้าบรรจุเป็นอาจารย์ มาเรียจึงได้มีโอกาสทำงานในตำแหน่งอาสาสมัครตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ แต่ในที่สุดด้วยความพยายามและความสามารถที่โดดเด่นของมาเรีย ทำให้เธอได้รับตำแหน่งเป็นอาจารย์สอนในวิทยาลัย Sarah Lawrence รวมทั้งการเป็นนักวิจัยในมหาวิทยาลัย
ผลงานที่สำคัญของมาเรีย
มาเรียได้แต่งงานและใช้ชีวิตคู่อยู่กับ Joseph Edward Mayer และได้เข้าร่วมวิจัยฟิสิกส์ในโครงการ Manhattan เพื่อร่วมสร้างระเบิดปรมาณูในเวลาที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวิจัยชิ้นนี้มาเรียได้ทำร่วมกับ Edward Teller เพื่อหาวิธีแยกยูเรเนียม 235 จากยูเรเนียม 238 มาเรียมีความสนใจในส่วนของปัญหาที่เกิดขึ้นว่า เพราะเหตุใดนิวเคลียสของธาตุบางชนิดถึงไม่เสถียร คือสลายตัวโดยการปล่อยอนุภาคต่าง ๆ และแผ่รังสีแกมมาออกมา เมื่อเธอได้ทำการศึกษาในเรื่องนี้ ทำให้มาเรียได้คิดทฤษฎีโครงสร้างของนิวเคลียสขึ้น โดยมีหลักพิจารณาว่า อนุภาคโปรตอนและนิวตรอนที่อยู่ในนิวเคลียสนั้นมีวงโคจรเป็นชั้น ๆ (Shell) และรวมกันอยู่ด้วยความหนาแน่น แต่อนุภาคก็ไม่ชนกันตามหลักการห้ามทับซ้อนของ Pauli ในวิชากลศาสตร์ควอนตัม ดังนั้นอนุภาคแต่ละตัวจึงได้ความเคลื่อนที่ที่อิสระภายในสนามของแรงที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของอนุภาคตัวอื่น ๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้อนุภาคเหล่านี้มีพลังงานที่แตกต่างกันและอยู่เรียงกันเป็นชั้น ๆ ตามหลักวิชากลศาสตร์ควอนตัม และทฤษฎีโครงสร้างนิวเคลียสที่มาเรียค้นพบนี้ ยังแสดงให้เห็นอีกว่าเวลาที่นิวเคลียสมีอนุภาคโปรตอนหรือนิวตรอนรวมกันมากกว่า 2 8 .. นั้นมันจะมีความไม่เสถียร และจะสลายตัวด้วยการปล่อยกัมมันตรังสีอีกด้วย และต่อมาในปี ค.ศ. 1963 มาเรียได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ จากผลงานการนำเสนอโมเดลที่เรียกว่า นิวเคลียร์เชล (Nuclear Shell Model) ซึ่งเป็นโมเดลของนิวเคลียสในอะตอมที่นำมาอธิบายโครงสร้างของนิวเคลียสได้ในรูปของระดับพลังงาน ตามที่กล่าวไปข้างต้น
และถึงแม้ว่าเมื่อครั้งที่มาเรียได้ทำงานวิจัยร่วมกับ Teller จนในที่สุด ญี่ปุ่นถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณู แต่มาเรียก็ไม่ได้กังวลใด ๆ เพราะเธอไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการสร้างระเบิดปรมาณูลูกนี้ และเมื่อสงครามโลกจบลง Joseph ก็ได้ย้ายไปเป็นอาจารย์ ส่วนมาเรียก็ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นรองศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Chicago
ช่วงบั้นปลายชีวิตของมาเรีย
ในช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเรียเริ่มมีปัญหาสุขภาพที่ปอดเนื่องจากเธอสูบบุหรี่จัดพอสมควร และมีอาการหูหนวกข้างหนึ่ง แต่เธอก็ยังคงทำงานอยู่อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเธอได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัย California ที่ San Diego จนได้รับได้รับรางวัลโนเบล ปี ค.ศ. 1963 ภายหลังจากนั้นไม่นานเธอก็ล้มป่วยด้วยอาการเส้นเลือดในสมองอุดตันจนทำให้เป็นอัมพฤกษ์ และได้เสียชีวิตลงด้วยโรคหัวใจล้มเหลวในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1972 อายุได้เพียง 66 ปี
แหล่งที่มา
โตมร ศุขปรีชา. 1.4 เปอร์เซ็นต์ : ผู้หญิงที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2563. จาก https://www.the101.world/female-physics-nobel-prize-laureates/
สุทัศน์ ยกส้าน. Maria Goeppert - Mayer : สตรีคนที่สองที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ (1). สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2563. จาก https://mgronline.com/science/detail/9500000046317
สุทัศน์ ยกส้าน. Maria Goeppert - Mayer : สตรีคนที่สองที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ (จบ). สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2563. จาก https://mgronline.com/science/detail/9500000049311
Jone Johnson Lewis. Maria Goeppert-Mayer 20th Century Mathematician and Physicist . Retrieved April 16,2020. From https://www.thoughtco.com/maria-goeppert-mayer-biography-3530367
Maria Goeppert - Mayer. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2563. จาก https://th.eferrit.com/maria-goeppert-mayer/
Maria Goeppert . Maria Goeppert Mayer. Retrieved April 16,2020. From https://www.britannica.com/biography/Maria-Goeppert-Mayer
-
11473 รู้จักกับนักวิทย์-คณิต จากทุกมุมโลก ตอนที่ 20 Maria Goeppert-Mayer /article-science/item/11473-20-maria-goeppert-mayerเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง