แม้แต่หนูยังหลีกเลี่ยงที่จะทำร้ายกันและกัน
“Empathy” การเอาใจใส่ หรือการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นคืออะไร? การเห็นอกเห็นใจผู้อื่นถ้าพูดให้ง่ายก็คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นการพยายามเข้าใจความคิดความรู้สึกและมุมมองของผู้อื่น เป็นทักษะที่จะช่วยให้เราเรียนรู้และเข้าใจผู้อื่นได้ ความเห็นอกเห็นใจนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่กับมนุษย์มาช้านานแล้ว แต่จากการศึกษาล่าสุดทำให้พบว่าพวกหนูก็มีการแสดงความเห็นอกเห็นใจเช่นเดียวกัน พวกมันหลีกเลี่ยงที่จะทำให้เพื่อนฝูงของมันต้องบาดเจ็บ
การศึกษาของนักวิจัยเหล่านี้เริ่มจากที่ให้พวกหนูเรียนรู้ที่จะดึงคันโยกเพื่อที่จะได้รับลูกอมหวานๆออกมาให้พวกมันได้กินกัน แต่หากพวกมันพบว่าการดึงคันโยกแล้วจะทำให้หนูบางอีกตัวโดนช็อตเบา ๆ แล้วละก็ พวกมันก็จะไม่ดึงคันโยกเดิมซ้ำอีก
ภาพหนู
ที่มา https://pixabay.com/, sipa
ความรู้สึกที่ไม่ชอบความรุนแรง เป็นลักษณะนิสัยที่พบได้ทั่วไปในมนุษย์ โดยความรู้สึกนี้จะถูกควบคุมโดยส่วนหนึ่งของเซลล์สมองที่เรียกว่า anterior cingulate cortex (ACC) การศึกษาดังกล่าวทำให้พบว่า ACC นั้นส่งผลกับพฤติกรรมจำพวกนี้ในหนูด้วย และนี้ก็เป็นครั้งแรกเลยที่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า ACC นั้นส่งผลกับสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ด้วย หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า ความคล้ายคลึงกันระหว่างสมองของมนุษย์และหนูนั้นมีความน่าตื่นเต้นอย่างมากอยู่สองข้อ หนึ่งก็คือ มันอาจบ่งบอกได้ว่าการหลีกเลี่ยงการทำร้ายกันนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกไว้ในประวัติศาสตร์การวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต อีกอย่างก็คืองานวิจัยชิ้นนี้อาจส่งผลกับผู้คนที่กำลังเผชิญอยู่กับปัญหาทางจิตจำพวกผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้ามีความบกพร่องได้
ในการทดลองแรก ทีมวิจัยได้ฝึกให้หนูซึ่งมีทั้งเพศผู้และเพศเมียทั้งหมด 24 ตัว เรียนรู้ที่จะดึงคันโยก โดยคันโยกนั้นจะมีอยู่สองอัน หนูพวกนี้จะได้เรียนรู้ว่า ไม่ว่าจะดึงคันโยกอันไหนก็ตามจะได้ของกินออกมาให้พวกมัน แต่ของที่ได้จากแต่ละคันโยกนั้นจะแตกต่างกัน หลังจากที่หนูทุกตัวเรียนรู้แล้วว่าการดึงคันโยกไหนคือคันโยกที่จะให้ขนมที่พวกมันชอบแล้ว ทีมวิจัยก็ได้ทำการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์เล็กน้อย โดยการทำให้คันโยกที่พวกหนูกดึงแล้วได้ขนมที่พวกมันชอบนั้น ต่อจากนี้ไปจะไม่ได้ให้แค่ขนมกับพวกมันแล้ว แต่จะเพิ่มการส่งกระแสไฟฟ้าไปช็อตเพื่อนหนูตัวอื่นเบา ๆ ที่เท้าของพวกมันด้วย หลังจากที่เริ่มการทดลองไปได้สักพัก ทีมวิจัยสังเกตพบว่าหนู 9 ตัวที่ได้ยินเสียงร้องของเพื่อนหนูจากการโดนช็อตนั้นหยุดที่จะดึงคันโยกที่ให้ขนมที่พวกมันชอบกับพวกมันแล้วหันไปดึงคันโยกอีกอันแทน แต่การศึกษานี้ก็มีความแปรปรวนอยู่มากเช่นกัน เพราะว่าหนูบางตัวหลังจากที่มีการติดตั้งระบบช็อตแล้ว พวกมันก็เลือกที่จะไม่ดึงคันโยกอีกเลย อีกทั้งยังดูมีความเครียดอีกด้วย แต่บางตัวกลับเลือกที่จะไม่สนใจอะไรทั้งสิ้นและดึงคันโยกต่อไป ทีมวิจัยบอกว่านี่ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจมากเหมือนกัน เพราะว่าเหตุการณ์เหล่านี้มีความคล้ายคลึงกับลักษณะนิสัยของมนุษย์มาก ๆ เช่นกัน และความเห็นใจของพวกหนูก็ดูจะมีลิมิตเหมือนกับมนุษย์เช่นกัน เพราะทีมวิจัยได้ลองทำการทดลองอีกครั้งนึง แต่คราวนี้ลองให้ขนมที่พวกมันชอบเพิ่มเป็น 3 เท่า แล้วก็พบว่าจำนวนของหนูที่หยุดดึงคันโยกนั้นลดลง
ในการทดลองที่สอง ทีมวิจัยได้ให้ยาชาเพื่อไปหยุดการทำงานของ ACC หรือส่วนที่ช่วยแสดงพฤติกรรมของความเห็นใจกับหนูที่มีการหยุดดึงคันโยกหรือแสดงความเห็นใจแก่หนูตัวอื่น แล้วพบว่าหนูพวกนี้ก็เลือกที่จะไม่หยุดดึงคันโยกแล้ว
ในท้ายที่สุด แม้ผลการทดลองจะออกมาค่อนข้างชัดเจนแล้วว่ามีหนูที่หยุดการทำร้ายเพื่อนหนูตัวอื่นอยู่จริง แต่ข้อสรุปก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงอยู่ว่า จริง ๆ แล้วที่หนูพวกนี้เลือกที่จะไม่ดึงคันโยกที่ทำร้ายเพื่อนของมันนั้น เป็นเพราะว่ามันเห็นใจเพื่อนของมัน หรือเป็นเพราะว่ามันทำเพื่อตัวมันเองเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการส้รางความรู้สึกกระวนกระวายกับตัวเองกันแน่ คำถามนี้เป็นคำถามที่อาจจะตอบได้ยาก แต่ทีมวิจัยก็ยังบอกอีกว่าการจะบอกเหตุผลที่คนคนหนึ่งเลือกที่จะทำดีก็ฟังดูเดาได้ยากเหมือนกันนะ
แหล่งที่มา
Liz Langley. (March 5, 2020). Rats avoid harming other rats. The finding may help us understand sociopaths. Retrieved April 6, 2020, From https://www.nationalgeographic.com/animals/2020/03/rats-empathy-brains-harm-aversion/
Julen Hernandez-Lallement. (March 23, 2020). Harm to Others Acts as a Negative Reinforcer in Rats. Retrieved April 6, 2020, From https://www.cell.com/current-biology/fulltext/S0960-9822(20)30017-8
Christian Keysers. Harm to others acts as a cingulate dependent negative reinforcer in rat. Retrieved April 6, 2020, From https://www.biorxiv.org/content/10.1101/808949v1.full.pdf
-
11497 แม้แต่หนูยังหลีกเลี่ยงที่จะทำร้ายกันและกัน /article-science/item/11497-2020-04-21-08-26-35เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง