รู้จักกับนักวิทย์-คณิต จากทุกมุมโลก ตอนที่ 23 รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์
กลับมาอีกครั้งกับบทความซีรี่ส์ชุดรู้จักกับนักวิทย์-คณิต จากทุกมุมโลก ในคราวนี้เราจะขอกล่าวถึงบุคคลที่มีความสำคัญทางด้านธรรมชาติวิทยาและสิ่งแวดล้อมกันบ้าง ในประเทศไทยมีบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถในการวิจัยเป็นอย่างมาก และในบทความนี้เราจะขอกล่าวถึงบุคคลท่านนี้ รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์
ทวีปแอนตาร์กติกหรือขั้วโลกใต้ น้อยคนนักที่ชีวิตนี้จะมีโอกาสได้ไปเยือน แต่ไม่ใช่กับบุคคลท่านนี้ ซึ่งมีประสบการณ์ในการไปเยือนขั้วโลกใต้มาแล้วถึงสองครั้ง เป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงชาวไทย ผู้ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงไทยคนแรกที่ไปศึกษาวิจัยยังทวีปแอนตาร์กติกและปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งยังเป็นหนึ่งในทีมของนักวิทยาศาสตร์ไทยที่ทำการเพาะขยายพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศสำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
ภาพ รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์
ที่มา https://th.m.wikipedia.org/wiki/ไฟล์:Suchana_C.jpg , Sarocha.p
ประวัติส่วนตัว
รศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วหลังจากนั้นจึงเดินทางไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ Central Connecticut State University และได้เข้าศึกษาระดับปริญญาเอกที่ University of New Hampshire ประเทศสหรัฐอเมริกา
ผลงานที่สำคัญ
รศ. ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นทูตแห่งมหาสมุทรเพื่อความยั่งยืนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Sustainable Ocean Ambassador: SOA) รศ. ดร.สุชนา เป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงไทยคนแรกที่ไปสำรวจขั้วโลกใต้ 2 ครั้ง ได้ทำให้เห็นถึงภาพรวมปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลกนั้นว่ามีต้นเหตุจากภาวะของโลกร้อน และปัจจุบันนี้โลกยังเข้าสู่ขั้นวิกฤติ มีงานศึกษาวิจัยออกมารองรับว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในทุกวันนี้ควรจะเกิดขึ้นอีก 100 ปีข้างหน้า แต่ด้วยกิจกรรมของมนุษย์ทำให้ภาวะ 100 ปีในอนาคตเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน และยังมีผลกระทบแรกที่เกิดขึ้นกับ “ขั้วโลกเหนือ” และ “ขั้วโลกใต้” ซึ่งเป็นด่านแรกในการเผชิญปัญหาโลกร้อนนี้
รศ. ดร.สุชนา ได้เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับการเดินทางไปขั้วโลกว่า "กว่าจะเห็นก้อนน้ำแข็งใช้เวลานานมาก เพราะน้ำแข็งละลายหมด พวกหมีขาวที่คิดว่ามันจะอยู่บนแผ่นน้ำแข็ง แต่เราเห็นอยู่บนหญ้า บนหน้าผา เพราะไม่มีน้ำแข็งให้มันอยู่ แล้วเราเห็นหมีขาวมันกินหญ้า มันไม่ได้เป็นมังสวิรัติ แต่พฤติกรรมมันเปลี่ยน และเชื่อไหมว่าขั้วโลกได้รับผลกระทบจากขยะ เพราะกระแสน้ำมันไหล สุดท้ายมันไปตกที่ขั้วโลกเหนือและใต้ เราตกใจเลย บนเกาะไม่มีใครอยู่ แต่เห็นขยะอยู่บนเกาะ ทุกก้าวที่เดินไปบนชายหาดจะพบขยะอย่างน้อย 1 ชิ้น เช่น ขวดน้ำ ทุ่น” ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นถึงวิกฤตของสิ่งแวดล้อมในระดับโลก ในขณะเดียวกัน รศ. ดร.สุชนา ก็เป็นนักวิชาการและนักวิจัยไทยคนหนึ่งที่มีความเห็นว่า ประเทศไทยเองก็เข้าสู่สถานะ “วิกฤติสิ่งแวดล้อม” โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเล และก็ได้เป็นกระบอกเสียงสำคัญในการผลักดันเกี่ยวกับการอนุรักษNผ่านการทำงานในปัจจุบัน
ปัจจุบัน รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ และอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกและวันมหาสมุทรโลก เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 รศ.ดร.สุชนา ได้รับการแต่งตั้งจากองค์การสหประชาชาติเพื่อมหาสมุทรและองค์กร AFMA – FAO Annex แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ให้เป็น ทูตแห่งมหาสมุทรเพื่อความยั่งยืนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Sustainable Ocean Ambassador: SOA ในฐานะผู้ทุ่มเทและมีความโดดเด่นในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ รวมถึงงานวิจัยด้านขยะทะเล และไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหาร เพื่อนำความอุดมสมบูรณ์กลับคืนสู่ท้องทะเลไทยโดยการร่วมมือกับชุมชนและชาวบ้าน นอกจากนี้ยังเป็นครูสอนดำน้ำ อาจารย์พิเศษ วิทยากรพิเศษ ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ ผู้เขียนบทความ และผู้แปลบทความด้านการดำน้ำ การอนุรักษ์ทางทะเล และการท่องเที่ยวทางทะเล ให้กับให้นิตยสารทั้งในและต่างประเทศ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และหน่วยราชการอื่น ๆ อีกด้วย
แหล่งที่มา
รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับแต่งตั้งเป็น “ทูตแห่งมหาสมุทรเพื่อความยั่งยืนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2563. จาก https://www.chula.ac.th/news/19870/
มื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลาย อะไรจะเกิดขึ้น ?. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2563. จาก https://news.thaipbs.or.th/content/274574
"ดร.สุชนา ชวนิชย์" กับปฏิบัติการวิจัยขั้วโลกใต้ครั้งที่สองของคนไทย. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2563. จาก https://mgronline.com/science/detail/9520000116020
-
11644 รู้จักกับนักวิทย์-คณิต จากทุกมุมโลก ตอนที่ 23 รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ /article-science/item/11644-23เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง