จันทน์เทศในชีวิตประจำวัน
หากพูดถึงพืชที่ใช้ในชีวิตประจำวันหลายคนคงนึกถึงต้นไม้ พืชผักที่เรารับประทานกันในจานอาหารและจันทน์เทศคงดูเป็นเรื่องไกลตัวไม่คุ้นหูมากนัก ในบทความนี้เรากำลังพูดถึงจันทน์เทศ ชื่อวิทยาศาสตร์ Myristica fragrans Houtt. หรือชื่อสามัญ Nutmeg ก็อาจจะพอคุ้นหูขึ้นมาบ้างในฝั่งยุโรปนิยมใช้อย่างแพร่หลาย
ภาพที่ 1 จันทน์เทศด้านในมีรกเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง
ที่มา https://unsplash.com/photos/zQ1FERRiUX8 , Lan Yeo
จันทน์เทศมีถิ่นกำเนิดในเกาะโมลุกกะอินโดนีเซีย เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนชื้น ในประเทศไทยพบมากในภาคใต้กระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร และภาคตะวันออกที่มีฝนตกชุก ระยอง จันทบุรี ตราด เป็นไม้พุ่มขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ จันทน์เทศจัดเป็นพืชโบราณที่ยังหลงเหลือโครงสร้างวิวัฒนาการให้ศึกษาโดยเป็นดอกแยกเพศต่างต้น คือมีลักษณะดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่คนละต้นกัน มีบ้างที่พบดอกเพศผู้และเพศเมียบนต้นเดียวกันแต่น้อยมากจนแทบไม่พบเลย ความพิเศษของจันทน์เทศอยู่ที่ผลของมัน ลูกจันทน์เมล็ดด้านในที่เรียกว่า Nutmeg มีส่วนเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงแปลกตาหุ้มเมล็ดลูกจันทน์คลุมไม่เต็มเมล็ดเรียกว่า Mace ให้ความรู้สึกเหมือนมือสีแดงโอบเมล็ดลูกจันทน์อยู่อย่างสวยงาม เยื่อหุ้มเมล็ดนี้คือส่วนของ (Aril) ที่เจริญเติบโตขึ้นพร้อมกับผลจันทน์เทศ
จันทน์เทศสำคัญอย่างไร ทราบหรือไม่ว่าพืชโบราณชนิดนี้อยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิดในรูปแบบของเครื่องเทศและตำรับยาสมุนไพรโบราณ ลูกจันทน์และรกหุ้มเมล็ดนิยมใช้ปรุงแต่งกลิ่นอาหารทั่วไป ในต่างประเทศนิยมน้ำลูกจันทน์มาบดผงใช้ถนอมอาหารปรุงแต่งอาหารที่มีกลิ่นคาวอย่างเนื้อวัวแพะแกะ ไส้กรอก และพาสตา ในยุโรปใช้กับอาหารทั้งคาวและหวานไม่ว่าจะเป็น พุดดิ้ง เค้กผลไม้ ฟรุตพันช์ อีกมากมาย และยังอยู่ในส่วนผสมใกล้ตัวที่คาดไม่ถึงอย่าง ขนมปังและน้ำอัดลม เราอาจจะมองไม่เห็นจันทน์เทศเป็นรูปธรรมแต่จันทน์เทศก็ถูกใช้อยู่ในชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภาพที่ 2 อาหารที่ใช้ผงจันทน์เทศปรุงแต่ง
https://unsplash.com/photos/bFRnG-L3bUY , Sarah Gualtieri
ตามสไตล์ของผู้เขียนที่ไม่ว่าจะหยิบประเด็นอะไรขึ้นมาให้คุณผู้อ่านได้ความรู้แล้วยังต้องเชื่อมโยงถึงปัญหาในปัจจุบันเพื่อเป็นประโยชน์ให้ชนรุ่นหลังที่เข้ามาอ่านเกิดไอเดียในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่อย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งจันทน์เทศยังมีสรรพคุณทางยาอีกมากมายแม้ไม่ได้เจาะลึกในบทความนี้ แต่ปัญหาของจันทน์เทศมาจากลักษณะพิเศษของดอกที่เป็นพืชแยกเพศต่างต้นตามที่ได้กล่าวไป เกษตรกรต้องการต้นเพศเมียเพื่อเก็บเกี่ยวผล มีอัตราการปลูก 1 : 9 เพศผู้ 1 ต้น ต่อเพศเมีย 9 ต้น ถึงแม้ว่าปัจจุบันวิทยาการขยายพันธุ์พืชจะพัฒนาไปอย่างก้าวไกล แต่จันทน์เทศนั้นใช้เวลานานถึง8ปีกว่าจะทราบเพศของจันทน์เทศซึ่งใช้เวลานานมาก การเพาะเมล็ดยังเป็นวิธีที่ตอบโจทย์ที่สุด ร้อยละของการงอกของเพศเมียเท่ากับร้อยละ 30 ของการงอกทั้งหมด จากปัญหาที่กล่าวมานี้ผู้เขียนจึงอยากฝากความหวังให้นักคิดหัวใจวิทยาศาสตร์เพิ่มจันทน์เทศไว้ในความตระหนักของนักอ่านทุกท่านด้วย
แหล่งที่มา
Medthai. (2560, 4 สิงหาคม) “จันทน์เทศ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นจันทน์เทศ ลูกจันทน์ 54 ข้อ” สืบค้นเมื่อ 29 มิถุนายน 2563, จาก https://medthai.com/จันทน์เทศ/
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.(2560, 4 สิงหาคม) ”สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด : จันทน์เทศ” สืบค้นเมื่อ 29 มิถุนายน 2563, จาก www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์.(2556, 14 สิงหาคม) “จันทน์เทศ” สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563 จาก http://www.qsbg.org/Database/Botanic_Book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=2269
-
11669 จันทน์เทศในชีวิตประจำวัน /article-science/item/11669-2020-06-30-06-41-00เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง