จระเข้กลายเพศ เมื่อได้รับฮอาร์โมน MT จริงหรือ?
เมื่อต้องการจะรู้เพศของจระเข้ว่าเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย การสังกตลักษณะภายนอกไม่สามารถช่วยอะไรได้มาก นักชีววิทยามีวิธีการเดียวเท่านั้นที่จะตัดสินได้ว่าจระเข้ที่เห็นนั้นเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย โดยการจับตัวแล้วเอานิ้วแหย่เข้าไปในช่อง Cloaca ซึ่งอยู่ที่ฐานของหางถ้าพบว่ามีติ่ง นั่นแสดงว่ามันเป็นเพศผู้ แต่ถ้าพบความว่างเปล่า มันเป็นเพศเมีย ดังนั้น การจะรู้เรื่องเพศของจระเข้ จึงจำเป็นต้องใช้คนหลายคน ช่วยกันใช้บ่วงเชือกมัดปากมันให้แน่น จับตัว แล้วปิดตา จากนั้นจึงยกตัวขึ้นตรวจภายใน
ในปี ค.ศ. 2012 Chris Murray แห่งมหาวิทยาลัยAuburn และ Michael Easter ได้เดินทางไปสำรวจเพศของจระเข้สายพันธุ์ Crocodylus Acutus ที่แม่น้ำ Tascoles ของประเทศ Costa Rica ในทวีปอเมริกากลาง ซึ่งตามหลักพันธุศาสตร์อัตราส่วนระหว่างจำนวนเพศผู้ต่อเพศเมียควรจะเท่ากับ 1 : 1 หรือใกล้เคียง แต่กลับพบว่าจากจระเข้ 474 ตัวที่จับได้ในบริเวณที่แตกต่างกัน 7 แห่ง อัตราส่วนระหว่างเพศผู้ต่อเพศเมีย มีค่าประมาณ 3.5 : 1 และเมื่อนำเลือดและเนื้อเยื่อของจระเข้ดังกล่าวมาวิเคราะห์ พบว่ามีสารสเตียรอยด์สังเคราะห์ในปริมาณค่อนข้างมากผิดปกติ โดยเฉพาะฮอร์โมน 17a - methyltestosterone (MT) ซึ่งเป็นสารที่นักเพาะกายนิยมบริโภค และแพทย์นิยมฉีดให้สตรีสูงวัยที่เป็นมะเร็งทรวงอก
ภาพ 1 จระเข้
ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Crocodile
นักวิจัยทั้งสองมีข้อสงสัยว่า MT ไปอยู่ในจระเข้ได้อย่างไร และตั้งประเด็นว่า MT คงมีส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์ความไม่สมดุลทางเพศ การค้นหาสาเหตุของเรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น เพราะการมีจระเข้เพศผู้มากเกินไปอาจทำให้จระเข้สูญพันธุ์ได้ และการที่จระเข้มีฮอร์โมนชนิดนี้ในปริมาณมาก อาจทำให้มันมีนิสัยก้าวร้าว ชอบต่อสู้ และทำร้ายชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณข้างเคียงได้ นอกจากนี้ในบริเวณรอบแม่น้ำ Tascoles มีการเลี้ยงปลา Tlapia โดยใช้อาหารที่ผสมสาร MT จึงอาจส่งผลต่อเพศของปลาในลักษณะเดียวกันกับจระเข้ก็ได้
นับเป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้ว ที่นักชีววิทยาสนใจศึกษาผลกระทบของฮอร์โมนต่อระบบการทำงานของต่อมไร้ท่อในสัตว์สกุล Crocodilus เช่น จระเข้ และ Aligator เพราะมีการพบว่า Aligator ที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบ Apopka ในรัฐ Florida ของอเมริกา หลังจากที่บริโภค Trenbolone Acotate ซึ่งเป็นสารเคมีที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน สามารถทำให้อวัยวะเพศและขนาด ได้ลดปริมาณฮอร์โมนเพศชายได้แม้สารนี้จะมีประโยชน์ในการเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ เช่น วัว ควาย แต่สารที่สัตว์ขับออกมาทางของเสียสามารถแปลงเพศของปลา Zobrafish จากเพศเมียให้เป็นเพศผู้ได้
จระเข้เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในปี ค.ศ. 2000 Paul Serano ได้ขุดพบซากฟอสซิลของจระเข้ที่ทะเลทราย Gadoufaoua ในประเทศ Niger ซากที่พบมีอายุ110 ล้านปี ซึ่งอยู่ในยุค Crotaceous มีความยาว 13 เมตรและหนัก 10 ตัน
ภาพ 2 ซากฟอสซิลของจระเข้ที่ทะเลทราย Gadoufaoua ในประเทศ Niger
ที่มา https://paulsereno.uchicago.edu/exhibits_casts/african.crocs/sarcosuchus/
ข้อสังเกตหนึ่งเกี่ยวกับเพศของจระเข้ คือ อุณหภูมิของไข่เป็นตัวกำหนดเพศของจระเข้ ที่สวนสาธารณะ Palo Verde ซึ่งอยู่ใกล้แม่น้ำ Tarcoles คณะนักวิจัยภายใต้การนำของ Muray ในปี ค.ศ. 2015 ได้พบว่า ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของสถานที่นั้นเพิ่มขึ้นถึง 2.5 องศาเซลเซียส เพื่อเป็นการยืนยัน Muray ได้นำอุปกรณ์บันทึกอุณหภูมิไปวางในรังของจระเข้ 25 รัง เพื่อทดสอบว่า อุณหภูมิสูงคือสาเหตุที่ทำให้จระเข้เพศเมียถือกำเนิดมากกว่าเพศผู้เป็นจริงหรือไม่ และหวังว่าหลังการฟัก จำนวนเพศเมีย : เพศผู้ น่าจะมีค่ามากเป็น 2 : 1 แต่กลับพบว่าปัจจัยที่ทำให้อัตราส่วน เพศผู้ : เพศเมีย มีค่าเป็น 3.5 : 1 ไม่ได้มาจากอุณหภูมิแวดล้อมเขาจึงต้องหาสาเหตุเพิ่มเติม และพบว่าในบริเวณโดยรอบสวนสาธารณะนั้นมีฟาร์มเลี้ยงปลา Tilapia หลายฟาร์ม และชาวประมงนิยมใช้ Mโ เป็นอาหารเสริม จึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า MT น่าจะมีอิทธิพลในการแปลงเพศของจระเข้
ในการทดสอบสมมติฐานนี้ คณะนักวิจัยได้ใช้สัตว์ทดลองคือ Aligator (Aligator Mississippionsis) ซึ่งเป็นสัตว์ในสกุลเดียวกันกับจระเข้ แล้วเตรียมฮอร์โมนที่มีความเข้มข้นต่างกัน 3 ระดับ เพื่อใช้กับไข่ของ Aligator จากนั้นฟักไข่ที่อุณหภูมิสูง ซึ่งน่าจะให้เพศเมียทั้งหมด แต่กลับพบว่า 60% ของไข่ที่มี MT ในปริมาณมากกลับให้เพศผู้ นั่นแสดงว่า MT มีผลในการเกิดเป็นเพศผู้ในสัตว์สกุล Crocodilian
เมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2018 ทีมวิจัยได้พบสาร MT ในเลือด และในไข่แดงของจระเข้ที่ Palo Verde แสดงว่าจระเข้เหล่านี้ยังได้รับฮอร์โมน MT สำหรับปริศนาที่มาของฮอร์โมน MT ที่พบในจระเข้นั้นยังไม่มีคำตอบชัดเจน เพราะ MT ไม่สามารถเกิดได้เองตามธรรมชาติ Murray เสนอว่าฟาร์มปลาเป็นแหล่งกำเนิดของ MT ในสิ่งแวดล้อม และอาจเป็นไปได้ว่าปลาหลุดออกจากฟาร์มแล้วถูกจระเข้กิน ทำให้ MT เข้าสู่ตัวจระเข้ ซึ่งจะเก็บสารนี้ในลักษณะของไขมัน เมื่อตัวเมียวางไข่ ฮอร์โมน MT ก็จะถูกส่งต่อไปยังตัวอ่อน
ภาพ 3 American Alligator (Alligator mississippiensis)
ที่มา https://www.inaturalist.org/taxa/26159-Alligator-mississippiensis
คณะนักวิจัยได้ศึกษาหาแหล่งอื่นที่จะอาจเป็นแหล่งที่มาของ MT ในสิ่งแวดล้อม จึงขยายขอบเขตการตรวจสอบหา MT ในบริเวณที่อยู่ห่างไกลจากสวนสาธารณะออกไปอีก 100 กิโลเมตร และไปสำรวจที่ส่วนอื่นของแม่น้ำ Tarcoles ซึ่งอาจมีจระเข้ที่มี MT ปนเปื้อนจากสวน Palo Verde อพยพไปตามแม่น้ำ Tarcolos โดย Muray กล่าวว่า MT อาจเข้าสู่สิ่งแวดล้อมจากน้ำเสียของเมืองต้นน้ำ San Jose เพราะผู้คนที่นั่นนิยมบริโภค MT และอาจขับมันออกมาในระบบบำบัดน้ำเสียของเมือง
ถ้าฟาร์มปลาคือแหล่งผลิต MT เพียงแห่งเดียว การแก้ปัญหานี้ก็ไม่ยาก แต่ถ้า MT มาจากสิ่งแวดล้อม ผง MT ที่ละเอียดอาจตกตะกอนที่ท้องน้ำ และถูกพัดพาไปที่อื่น ๆ แล้วถูกจระเข้หรือสัตว์อื่นกิน ปัญหาที่จะแก้ก็จะยากขึ้น แต่สำหรับข้อสันนิษฐานที่ว่า MT คือสาเหตุที่ทำให้จระเข้กลายเพศเป็นเพศผู้ มีนักชีววิทยาหลายคนไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่า MT คงมีใช่สาเหตุเดียว
ในขณะที่ยังไม่มีการสรุป นักชีววิทยาได้สนใจต่อในประเด็นที่ว่า จระเข้ตัวผู้ที่มี MT มากเป็นจระเข้ที่สมบูรณ์แบบหรือไม่ ซึ่งการมีตัวผู้จำนวนมากเกินไม่ได้เป็นอันตรายต่อชาวบ้าน แต่ทำให้การสืบพันธุ์มีปัญหา นอกจากนี้นักชีววิทยาก็ยังสนใจว่า MT ที่ตัวผู้มีนั้น ทำให้มันเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวผิดปกติหรือไม่ และ MT สามารถทำให้มันเป็นหมันหรือไม่
การวิจัยในอนาคต กำลังมุ่งเป้าตอบคำถามที่ว่าMT มีอิทธิพลต่อจระเข้อย่างไร เพราะในอินโดนีเซียและแอฟริกาใต้ก็มีการเลี้ยงปลา Tilapia มาก ดังนั้นการตอบคำถามเหล่านี้ให้ชัดเจน นักชีววิทยาคงต้องจับจระเข้มาดูเพศอีกหลายตัว
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://magazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
Iskandar, D.T. & Bandung, ITB. (2000). Turtles and Crocodiles of Insular Southeast Asia and New Guinea.
-
12415 จระเข้กลายเพศ เมื่อได้รับฮอาร์โมน MT จริงหรือ? /article-science/item/12415-2021-08-23-06-00-47เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง