คลื่นความร้อน...ภัยร้อนแสนอันตราย
"คลื่นความร้อนทำพิษ สเปน-โปรตุเกส ระอุ ไฟป่ากระหน่ำ วอด!"
"ตายไม่หยุด เหยื่อคลื่นความร้อนปากีสถานพุ่ง 1,242 ราย"
"อากาศยุโรปสาหัส คลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมถึงอังกฤษ"
"คลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมจีน-ญี่ปุ่น ผู้คนล้มป่วยระนาว"
"ภัยแลังและคลื่นความร้อน ทำอาหารโลกหาย 10%"
ผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้อ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ที่พาดหัวข่าวอย่างน่าตระหนกเกี่ยวกับการเกิดคลื่นความร้อนในช่วงฤดูร้อนของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกซึ่งนับวันจะดูเหมือนว่าภัยจากคลื่นความร้อนจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จนทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนและส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์รวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย เมื่ออ่านถึงตอนนี้หลายท่านคงกำลังมีคำถามมากมายว่าสรุปแล้วคลื่นความร้อนคืออะไร มีความแต่กต่างจากอากาศร้อนปกติอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร มีโอกาสเกิดขึ้นในประเทศไทยได้หรือไม่ จะสร้างความรุนแรงและส่งผลกระทบอะไรบ้าง แล้วเราต้องเตรียมรับมือกับปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างไรวันนี้เรามาหาคำตอบจากบทความนี้กัน
คลื่นความร้อน หรือ ฮีตเวฟ (Heat Wave) เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ที่อากาศมีปริมาณความร้อนมากกว่าปกติอย่างรวดเร็วในระยะเวลาหนึ่ง และอุณหภูมิที่เพิ่มสูงนี้ อาจเกิดยาวนานเป็นเวลาไม่กี่วันหรือนานหลายสัปดาห์ ตามปกติการให้นิยามคำว่า "คลื่นความร้อน" ไม่สามารถระบุอุณหภูมิที่แน่นอนได้ว่าอุณหภูมิเท่าใดจึงจะเรียกว่าเป็นคลื่นความร้อน เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีอุณหภูมิของอากาศแตกต่างกัน และลักษณะของคลื่นความร้อนจะขึ้นกับลักษณะอากาศปกติของพื้นที่นั้น โดยอุณหภูมิของอากาศในพื้นที่ที่มีภูมิอากาศร้อนปกติ อาจเป็นคลื่นความร้อนสำหรับพื้นที่ที่มีอุณหภูมิปกติค่อนข้างต่ำก็ได้ อย่างไรก็ตาม องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) ได้กำหนดนิยามของคลื่นความร้อน ว่าหมายถึง ภาวะที่อุณหภูมิสูงสุดประจำวันเกินค่าอุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ยประมาณ 5 องศาเชลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน ยกตัวอย่างการเกิดคลื่นความร้อนตามนิยามของ WMO เช่น พื้นที่ A มีอุณหภูมิอากาศปกติที่ประมาณ 18-25 ๐C เมื่อมีการเคลื่อนที่ของมวลอากาศร้อนเข้ามาในพื้นที่ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเป็น 30-35'C อย่างฉับพลัน ภายในเวลา 24 ชั่วโมง และอุณหภูมิสูงจะคงค่านี้เป็นเวลาหลายสัปดาห์ เราจึงเรียกว่าพื้นที่ดังกล่าวเกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อน
การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอากาศโดยคลื่นความร้อนสามารถเกิดได้ 2 รูปแบบ คือ
1. การเกิดคลื่นความร้อนแบบสะสมความร้อน: คลื่นความร้อนที่เกิดจากกรณีนี้ จะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ได้สะสมความร้อนเป็นเวลานาน พื้นที่มีความแห้งแล้ง ปราศจากเมฆและลมสงบนิ่งเป็นเวลาหลายวัน ส่งผลให้มวลอากาศร้อนไม่เคลื่อนที่ อุณหภูมิอากาศของพื้นที่นั้นจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมวลอากาศร้อนจะมีสะสมจนกลายเป็นคลื่นความร้อน การเกิดคลื่นความร้อนรูปแบบนี้ มักเกิดในแอฟริกา ออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ อินเดีย และปากีสถาน
2. การเกิดคลื่นความร้อนแบบพัดพาความร้อน: ในกรณีนี้ คลื่นความร้อนเกิดจากการมีลมแรงที่หอบมวลความร้อนจากทะเลทรายหรือเส้นศูนย์สูตร เข้ามาในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นกว่าหรือพื้นที่เขตหนาว ส่งผลให้อุณหภูมิในพื้นที่นั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และอุณหภูมิจะยังสูงอยู่จนกระทั่งลมร้อนนั้นได้พัดผ่านไปหรือสลายตัวไปเองการเกิดคลื่นความร้อนรูปแบบนี้ มักพบในพื้นที่เขตหนาว เช่น แถบยุโรป
ที่มา http://mpics.manager.co.th/pics/Images/558000007723503.JPEG
ประเทศไทย กับ คลื่นความร้อน...
สำหรับประเทศของเรา แม้คนไทยมักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อากาศบ้านเราร้อน ร้อนมาก และร้อนที่สุด แต่คำพูดดังกล่าวบอกสภาพอากาศปกติในพื้นที่ที่มีภูมิอากาศร้อนเท่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีรายงานว่าพื้นที่ใดมีอุณหภูมิอากาศเพิ่มสูงกว่าปกติอย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นคลื่นความร้อนเลยที่เป็นเช่นนั้นอาจจะเพราะประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีมวลอากาศร้อนจัด ไม่มีทะเลทราย แต่มีพื้นที่อยู่ใกล้ทะเลจึงได้รับความชื้นเข้ามาปกคลุมพื้นที่ ประกอบกับการได้รับอิทธิพลจากลมต่าง ๆ ที่พัดปกคลุมพื้นที่ตลอดปี นอกจากนี้ก็ยังได้รับมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดฝนตกด้วย ดังนั้นโอกาสที่จะมีความร้อนสะสมในพื้นที่จนเกิดคลื่นความร้อนจึงเป็นไปได้น้อย อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้านโลกร้อนของไทยบางท่านให้ความเห็นว่าประเทศไทยอาจมีคลื่นความร้อนเกิดขึ้นได้ในอนาคดเช่นกันเนื่องจากในปัจจุบัน ปรากฏการณ์เอลนี้โญยังทวีความรุนแรงจึงทำให้ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่แห้งแล้ง และอุณหภูมิอากาศเพิ่มสูงขึ้นมากโดยเฉพาะในฤดูร้อน
ที่มา https://10technician.files.wordpress.com/2012/06/113.jpg
คลื่นความร้อนกับผลกระทบต่อชีวิต สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม...
นับเป็นเรื่องใชคดีที่ยังไม่มีรายงานการเกิดคลื่นความร้อนในประเทศไทยเลย เพราะในบรรดาประเทศที่มีปรากฏการณ์ดังกล่าวล้วนได้รับผลกระทบมากมายจากความร้อนที่มีสะสมในพื้นที่จนทำให้อุณหภูมิอากาศสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในยุโรป และ เอเชีย เช่น จีน ปากีสถาน บังคลาเทศ และอินเดีย ที่มีความผิดปกติของอุณหภูมิอากาศค่อนข้างมาก โดยในบางพื้นที่ของเอเชียอาจมีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 40 - 50 ๐C ในแต่ละปีจึงมีผู้คนทั่วโลกจำนวนหลายหมื่นคนที่เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับความร้อน (Heat-related illness) หรือจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเพิ่มของอุณหภูมิที่สูงขึ้นสู่ระดับที่ร้อนจัดอย่างฉับพลันได้ ทำให้ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ในการรักษาพยาบาลการเจ็บป่วยจากปรากฏการณ์ดังกล่าวเพิ่มสูงตามไปด้วย นอกจากนี้เรายังพบอีกว่าในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อน ประชาชนใช้พลังงานในอัตราสูงขึ้นมาก เนื่องจากต้องใช้เครื่องปรับอากาศเพื่อช่วยทำความเย็น ส่งผลให้บางพื้นที่ประสบกับปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า และทำให้เกิดผลกระทบอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องตามมา
การเกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อนในพื้นที่ต่าง ๆ ของอินเดียเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา
ทำให้บางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 47๐C จนมีผู้เสียชีวิตในปีนั้นประมาณกว่า 2,000 คน
ที่มา: http://weeridnewsdiary.blogspot.com/2015/06/2558.html
นอกจากคลื่นความร้อนจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของมนุษย์แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ รวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย โดยผลพวงจากการที่อากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้นทำให้สัตว์เจ็บป่วยหรือล้มตายเช่นเดียวกับมนุษย์ ส่วนพืชก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดี และถ้าพื้นที่มีสภาพแห้งแล้งและอุณหภูมิสูงมากอย่างต่อเนื่อง พืชก็อาจตายไต้ในที่สุด ในหลายพื้นที่มีรายงานว่า คลื่นความร้อนได้ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายในปริมาณมาก รวมถึงมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ อันอาจนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนอาหารของมนุษย์ได้ นอกจากนี้ ความแห้งแล้งและอากาศที่ร้อนจัดของคลื่นความร้อนยังเป็นปัจจัยทำให้เกิดไฟป่าได้โดยง่าย และอาจเกิดขึ้นได้อย่างรุนแรง จนสร้างความเสียหายทั้งต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิตและทรัพย์สิน จากผลกระทบทั้งหมดที่กล่าวมา จึงเห็นได้ว่าปรากฎการณ์คลื่นความร้อนได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมมูลค่ามหาศาล
การรับมือภัยคลื่นความร้อน...
ในประเทศที่มักประสบภัยคลื่นความร้อน มักมีการเตรียมรับมือกับปรากฏการณ์ดังกล่าว และการพยากรณ์สำหรับการเกิดปรากฏการณ์นี้โดยใช้การวิเคราะห์แผนที่อากาศหรือข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาเพื่อบ่งชี้การเคลื่อนที่ของมวลอากาศร้อนเข้าสู่พื้นที่ รวมถึงการกำหนดค่าดัชนีค่าความร้อน (Heat index) เพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวรับปรากฏการณ์คลื่นความร้อนที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพในระดับต่าง ๆ ค่าความร้อนเป็นค่าอุณหภูมิที่ร่างกายจะรู้สึกร้อนขึ้นมากกว่าอุณหภูมิจริงของอากาศจึงมีปัจจัยของความชื้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่ออัตราการถ่ายเทปริมาณความร้อนระหว่างผิวหนังของร่างกายกับอากาศที่ล้อมรอบ ถ้าความชื้นสัมพัทธ์เพิ่มสูงขึ้นร่างกายจะระบายความร้อนลดลง อุณหภูมิของร่างกายจึงมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น จนเป็นอันตรายได้
การเปรียบเทียบค่าอุณหภูมิอากาศที่พื้นผิวกับค่าความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ จากตารางดัชนีค่าความร้อนสามารถใช้พิจารณาผลกระทบจากคลื่นความร้อนได้ดังตัวอย่างเช่น ถ้าระดับอุณหภูมิอากาศเท่ากับ 30'C และ ค่าความชื้นสัมพัทธ์เท่ากับ 55% เมื่อพิจารณาในตาราง 1 จะเห็นดัชนีค่าความร้อนเท่ากับ 32 ๐C นี่เป็นระดับความรู้สึกจริงที่ร่างกายได้รับความร้อน โดยในตาราง 2 อุณหภูมิ 32 ๐C ถือเป็นผลกระทบจากคลื่นความร้อนในระดับ "แจ้งเตือน" ซึ่งอาจส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีอาการเหนื่อยล้า หรือในกรณีที่อุณหภูมิอากาศเท่ากับ 38 ๐C และมีค่าความชื้นสัมพัทธ์ 45% จะมีดัชนีค่าความร้อนเท่ากับ 46 ๐C ซึ่งถือเป็นผลกระทบในระดับ "อันตราย" ที่อาจส่งผลให้มีอาการลมแดด และ/หรือ เพลียแดด ตะคริวแดด หรือเหนื่อยล้าได้ ดังนั้นเมื่อประชาชนทราบเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อสภาพอากาศเป็นดังกล่าว เราจึงต้องเตรียมตัวอย่างระมัดระวังล่วงหน้าโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุที่มีน้ำหนักตัวมาก รวมถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพด้านความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะร่างกายไม่สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้ดีเท่าที่ควร นอกจากนี้ ผู้ที่ออกแรงมากในการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น เพราะตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัด
สำหรับแนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงภัยคลื่นความร้อนก็อาจทำได้โดยพยายามอยู่ในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้กำลังมากกลางแดดที่ร้อนจัด ดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอไม่ปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสวมใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ เพื่อให้ร่างกายระบายเหงื่อได้ดีหากมีอาการโรคตะคริวแดด (Heat cramp) ซึ่งแสดงอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่บริเวณหน้าท้องและขา อุณหภูมิร่างกายจะเปลี่ยน เหงื่อจะออกมาก ร่างกายจะกระหายน้ำและหัวใจเต้นเร็ว ควรบรรเทาอาการโดยรีบเข้าที่ร่ม และดื่มน้ำและเกลือแร่ หรือหากเป็นโรคเพลียแดด (Heat exhaustion) ซึ่งมีอาการ อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด ความดันต่ำ และอุณหภูมิของร่างกายอาจเพิ่มสูงได้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง ควรปฐมพยาบาลโดยให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในที่เย็นสบาย ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ให้ดื่มน้ำและเกลือแร่ แต่ในกรณีคนไข้ที่มีอาการรุนแรงต้องนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
ในกรณีเกิดโรคลมแดด (Heat stroke) ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางที่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นกว่า 40 ๐C ผู้ป่วยจะต้องหยุดทำกิจกรรมต่าง ๆ ทันที และควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยด่วน เนื่องจากอาการอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตโรคลมแดดมีอาการเบื้องตันคล้ายกับโรคเพลียแดด แต่อาจมีอาการรุนแรงเพิ่มเติม เช่น ไม่มีเหงื่อออก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจเร็ว เพ้อ ซักไตล้มเหลว มีการตายของเซลล์ตับรวมถึงมีการบวมของปอดจากการคั่งของของเหลว ช็อค หมดสติ และเกิดการล้มเหลวในการทำงานของอวัยวะต่าง ๆการปฐมพยาบาลผู้ป่วยเบื้องต้นสามารถทำได้โดยรีบนำผู้ป่วยเข้าที่ร่มให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้างเพื่อให้เลือดหมุนเวียนไปเลี้ยงสมองได้ และใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตามตัวโดยเฉพาะตามข้อพับต่าง ๆ ร่วมกับการใช้พัดลมเป้า เพื่อช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกายให้เร็วที่สุด
อาการโรคตะคริวแดด (Heat cramp)
ที่มา: http://www.wikihow.com/Treat-Heat-Cramps
การปฐมพยาบาลผู้ป่วยเบื้องต้นในกรณีเกิดโรคลมแดด (Heat stroke)
ที่มา: http://www2.atvcourse.com/newmexico/study?chapter=6&page=20
สุดท้ายนี้ ท่านผู้อ่านคงได้คำตอบที่ครอบคลุมทุกประเด็นที่เกี่ยวกับคลื่นความร้อนแล้วนะคะ แม้ประเทศไทยยังไม่มีรายงานการเกิดคลื่นความร้อน แต่ก็เป็นไปได้ว่าวันหนึ่งในบ้านเมืองเราอาจเกิดปรากฏการณ์นี้ได้ หรือท่านผู้อ่านอาจต้องเดินทางไปยังประเทศที่มักประสบภัยคลื่นความร้อนดังนั้น การมีความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้จึงเป็นประโยชน์ในการป้องกันภัยจากคลื่นความร้อนที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองได้และผู้อ่านยังสามารถให้การปฐมพยาบาลหรือช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้อื่นที่ประสบภัยจากคลื่นความร้อนได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย อย่างไรก็ดี ขอให้ผู้อ่านทุกท่านห่างไกลจากภัยของคลื่นความร้อน
ขอขอบคุณ อาจารย์บุศราสิริ ธนะ ผู้ชำนาญ สาขาโลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ สสวท. ในการให้คำปรึกษาทางวิซาการ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://magazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
National Oceanic and Atmospheric Administration. Heat wave: A major summer killer. สืบคั้นเมื่อ 25 มีนาคม 2559.จาก http://www.nws.noaa.gov/os/heat/ww.shtml.
สำนักเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค. คลื่นความร้อน. สืบคั้นเมื่อ 25 มีนาคม 2559. จาก http://old.ddc.moph.go.th/advice/showimgpic.php?id=374.
-
12578 คลื่นความร้อน...ภัยร้อนแสนอันตราย /article-science/item/12578-2022-02-15-07-00-17-2-2-2-2-2เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง