ถ้าจะลดค่าไฟฟ้าที่ใช้ในบ้าน...ทำได้อย่างไร
ถ้าเรานำใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้าที่บ้านเราได้รับ 3 - 4 เดือนที่ผ่านมา มาดูกันว่าเราเสียค่าไฟฟ้าไปเดือนละเท่าไร และในแต่ละเดือนเราเสียค่าไฟฟ้าเป็นอย่างไร แล้วลองคิดกันต่อไปอีกว่าการที่เราจะจ่ายค่าไฟฟ้าน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยไม่ผิดระเบียบหรือกติกานั้น' จะทำได้หรือไม่ และทำอย่างไร
เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ในบ้าน เช่น หลอดไฟฟ้า เตารีดไฟฟ้า พัดลม เครื่องรับโทรทัศน์ ฯลฯ เครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ใช้กับพลังงานไฟฟ้าในบ้านซึ่งเจ้าของบ้านจะต้องขอรับบริการพลังงานไฟฟ้ามาจากการไฟฟ้า ซึ่งอาจจะเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง ไฟฟ้าที่เราได้รับเข้ามาใช้ในบ้านจะมีคำว่า "ความต่างศักย์ 220 โวลต์ (V)" นั่นคือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้กันอยู่ในบ้านทุกชนิดจะมีค่าความต่างศักย์ 220 โวลต์ (V) และบอกค่า "กำลังไฟฟ้า" ซึ่งเป็นตัวเลขมีหน่วยเป็น วัตต์ (W) จะหมายถึงพลังงานไฟฟ้าที่ถูกเปลี่ยนไปเป็นพลังงานอื่นภายในหนึ่งหน่วยเวลา เช่น ถ้านำหลดไฟฟ้า แบบธรรมดา 1 หลอด ที่มีตัวหนังสือบอกไว้ที่หลอดว่า 40W 220V อีกหลอดหนึ่งบอกไว้ว่า 100W 220V แสดงว่าหลอดแรกมีค่ากำลังไฟฟ้า 40 วัตต์ ส่วนอีกหลอดหนึ่งมีค่ากำลังไฟฟ้า 100วัตต์ ถ้าใช้หลอดไฟฟ้านี้สองหลอดนี้พร้อมกัน และใช้อยู่นานเท่ากันคือ 3 ชั่วโมง พลังงานไฟฟ้าที่หลอดไฟฟ้าแต่ละหลอดถูกเปลี่ยนไป เป็นพลังงานรูปอื่น เช่น พลังงานแสง พลังงานความร้อน ซึ่งจะเป็นดังนี้
จะเห็นว่า หลอดไฟฟ้าทั้ง 2 หลอดต่างก็ใช้พลังงานไฟฟ้าไป โดยหลอดที่ 2 ใช้พลังงานไฟฟ้าไปมากกว่าหลอดไฟฟ้าหลอดที่ 1 และจากการสังเกตสิ่งต่าง ๆ อย่างอื่นเพิ่มเติมก็จะพบว่า แสงสว่างจากหลอดที่ 2 สว่างมากกว่าแสงสว่างจากหลอดที่ 1 และเมื่อใช้มืออังใกล้ ๆ หลอดฟฟ้าก็จะพบว่า ความร้อนจากหลอดที่ 2 มากกว่าความร้อนจากหลอดที่ 1 นั่นคือเราพิจารณาจากการคำนวณและผลจากการสังเกตสอดคล้องกันดังนี้
พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ = กำลังไฟฟ้า x เวลาที่ใช้
และเมื่อใช้หน่วยกับความสัมพันธ์ดังกล่าว เป็นดังนี้
พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ (หน่วย หรือ ยูนิต) = กำลังไฟฟ้า (กิโลวัตต์) x เวลาที่ใช้ (ชั่วโมง)
ดังนั้น ถ้าถามว่า พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ไปจะมีค่ามากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณอะไรบ้างเราก็คงจะตอบได้ว่าขึ้นอยู่กับทั้งกำลังไฟฟ้า และ จำนวนเวลาที่ใช้
ถ้าในบ้านเรามีเครื่องใช้ฟฟ้าหลายชนิด เช่น มีหลอดไฟฟ้า พัดลม เครื่องรับโทรทัศน์ วิทยุ เตารีดไฟฟ้าจากการสำรวจเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดพบว่า เครื่องใช้ฟฟ้าแต่ละชนิดมีค่ากำลังไฟฟ้าต่างกัน และจำนวนเวลาที่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดนานไม่เท่ากัน ดังตารางที่ 1
การคิดค่าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ไปใน 1 เดือน ก็ทำได้โดยคิดจากความสัมพันธ์
พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ (หน่วย หรือ ยูนิต) = กำลังไฟฟ้า (กิโลวัตต์) x เวลาที่ใช้ (ชั่วโมง)
นั่นคือเราสามารถหาค่าพลังงานไฟฟ้าที่เครื่องใช้ไฟฟ้าใช้ไปทั้งหมดได้ ดังตารางที่ 2
เราสามารถหาค่าพลังงานไฟฟ้าที่เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดใช้ไป แล้วนำมารวมกันเป็นพลังงานไฟฟ้ารวมที่บ้านเราใช้ไปในเวลา 1 เดือนได้ แต่ในทางปฏิบัตินั้นเราจะเห็นว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวงได้ติดตั้งอุปกรณ์วัดจำนวนพลังงานไฟฟ้าไว้ให้กับทุกบ้านที่ขอใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งมักจะติดตั้งไว้บริเวณหน้าบ้าน เช่น ที่เสาไฟฟ้าที่อยู่ใกล้บ้าน อุปกรณ์ชุดนี้มีชื่อเรียกกันว่า มาตรกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าจะมาบันทึกค่าพลังงานไฟฟ้าจากมาตรกิโลวัตต์ชั่วโมงทุกเดือนเดือนละครั้งทำให้เราทราบว่าในแต่ละเดือนใช้พลังงานไฟฟ้าไปกี่หน่วย
ภาพ มาตรกิโลวัตต์ชั่วโมง
ถ้าถามว่าเราจะลดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในบ้านได้อย่างไร ค่าพลังงานไฟฟ้าที่กล่าวมาส่วนแรกนี้ เมื่อนำมาคิดเป็นเงินค่าพลังงานไฟฟ้าที่ผู้ใช้พลังงานไฟฟ้าต้องจ่ายค่าพลังงานก็เรียกกันว่า ค่าไฟฟ้าฐาน ค่าไฟฟ้าฐานนี้คิดรวมจากค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าระบบสายส่งพลังงานค่าเชื้อเพลิงสำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าไฟฟ้าฐานนี้ใบแจ้งค่าไฟฟ้าจะใช้คำว่า "ค่าพลังงานไฟฟ้า"
นอกจากนี้ยังมีค่าพลังงานไฟฟ้าอีกส่วนหนึ่งที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากการที่ได้ประมาณการไว้ในค่าไฟฟ้าฐานซึ่งเรียกว่า ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที่ (Ft) โดยกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรเป็นหน่วย (ยูนิต) ละกี่บาทซึ่งราคานี้เป็นตัวเลขที่เป็นที่ยอมรับของคณะรัฐมนตรี และยังมีเงินอีกส่วนหนึ่งที่เราต้องจ่ายคือภาษีมูลคำเพิ่มที่ผู้ขอใช้สินค้าหรือผู้ขอรับบริการจะเป็นผู้รับภาระภาษี ซึ่งภาษีส่วนนี้รัฐจะนำไปใช้การพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ต่อไป
กล่าวโดยสรูปในส่วนที่เกี่ยวกับการจ่ายค่าไฟฟ้าได้ว่าค่าไฟฟ้าที่เราต้องจ่ายทั้งสิ้นนั้นเป็นดังนี้
เงินที่ต้องชำระค่าไฟฟ้า = ค่าไฟฟ้าฐาน(ค่าพลังงานไฟฟ้า) + ค่าไฟฟ้าผันแปร + ภาษีมูลค่าเพิ่ม
การกำหนดราคาค่าไฟฟ้ายังกำหนดเป็นอัตราก้าวหน้า กล่าวคือ ถ้ายิ่งใช้พลังงานไฟฟ้ามากค่าไฟฟ้าจะยิ่งสูงขึ้น เช่น
- 150 หน่วยแรก ( 1 - 150 ) ราคาพลังงานไฟฟ้า 414.42 บาท
- 250 หน่วยต่อไป (150 - 400) ค่าพลังงานไฟฟ้า 934.05 บาท
เราจะเห็นว่า 150 หน่วยแรกราคาพลังงานไฟฟ้าจะถูกกว่า250 หน่วยต่อไป ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ต้องใช้อัตราก้าวหน้านี้เนื่องจากเชื้อเพลิงซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ก๊าซธรรมชาติที่เข้ามามีส่วนในการผลิตพลังงานไฟฟ้ามีจำนวนจำกัดและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงต้องการให้ประชาชนใช้พลังงานไฟฟ้าเท่าที่จำเป็นและใช้อย่างประหยัด
ภาพ ใบแจ้งค่าไฟฟ้า
จากการที่กำลังไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้า และจำนวนเวลาที่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้านั้น เป็นปริมาณสำคัญ 2 ปริมาณหลักที่จะทำให้เราต้องจ่ายเงินค่าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ไปมากหรือน้อยดังนั้นการที่จะลดพลังงานไฟฟ้าลงได้นั้นทำได้ดังนี้
- ควบคุมจำนวนเวลาที่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เช่น การปิดเครื่องรับโทรทัศน์เมื่อไม่มีคนดู
- ควบคุมจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ใช้ตามที่มีความจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น เช่น การปิดหลอดไฟฟ้าเมื่อไม่ต้องการใช้แสงสว่าง
- ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี เช่น ขณะใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้าไม่ควรเปิดฝาหม้อข้าวเพื่อดูข้าว เพราะจะทำให้สูญเสียความร้อนทำให้เสียค่าไฟฟ้ามากขึ้น
การจ่ายค่าพลังงานไฟฟ้านั้นเราในฐานะประชาชนที่ต้องรับผิดชอบต่อพลังงานไฟฟ้าที่เราใช้ไปตามใบแจ้งค่าไฟฟ้าซึ่งแจ้งรวมค่าไฟฟ้าฐาน ค่าไฟฟ้าผันแปร และภาษีมูลค่าเพิ่มรวมทั้งค่าบริการรายเดือนอีกด้วย อีกทั้งเรายังต้องช่วยดูแลรักษาระบบสายส่งพลังงานไฟฟ้าในบ้านไม่ว่าจะเป็นสวิตช์ ปลั๊กสายไฟฟ้าแผงควบคุมไฟฟ้า และฟิวส์ เพื่อที่เราจะได้มีระบบไฟฟ้าใช้กันได้อย่างประหยัดและปลอดภัยตลอดไป
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://magazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม. ข้อแนะนำการประหยัดไฟฟ้าในครัวเรือน เอกสารเผยแพร่ ฉบับที่ 81.กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2555). หนังสือเรียนรายวิขาพื้นฐานวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เล่ม 1กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว.
-
12611 ถ้าจะลดค่าไฟฟ้าที่ใช้ในบ้าน...ทำได้อย่างไร /article-science/item/12611-2022-07-25-08-20-30-15เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง