Robert G. Edwards ผู้บุกเบิกวิทยาการการปฏิสนธิของทารกในหลอดแก้ว
เมื่อวันที่ 10 เมษายน ค.ศ.2013 Robert G. Edwards ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบในวัย 87 ปี ด้วยโรคปอดอักเสบที่บ้านใกล้เมือง Cambridge ในประเทศอังกฤษ เขาคือบุคคลผู้บุกเบิกสู่ยุคการปฏิสนธิของทารกในหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization IVF) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีด้านการสืบพันธุ์รูปแบบใหม่ ผลงานนี้ทำให้ Edwards ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี ค.ศ. 2010 เพราะเทคนิค IVF ของ Edwards กับเพื่อนร่วมงานชื่อ Patrick Steptoe และJean Purdy สามารถบันดาลให้คู่สมรสที่ไม่สามารถให้กำเนิดทารกโดยวิธีธรรมชาติ สามารถมีทายาทของตนเองได้ นับถึงวันนี้ทารกที่ถือกำเนิดด้วยวิธี IVF มีมากถึงปีละ 5 ล้านคนแล้ว และมีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี
Robert G. Edwards
ที่มา: http://alumniconnections.com/olc/filelib/HAA/cpages/44/Library/webpics/H57-118.jpg
แต่เมื่อถึงวันที่รับรางวัลโนเบลคือวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.2010 ก็มีเหตุการณ์ที่น่าเสียใจคือ Edwards ไม่สามารถเดินทางไปรับรางวัลระดับสุดยอดที่ Stockholm ด้วยตนเองได้ เพราะป่วยด้วยโรคความจำเสื่อมระดับรุนแรงมานาน และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในปีนั้นตนคือผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ส่วนศัลยแพทย์ Patrick Steptoe และ Jean Purdy ได้เสียชีวิตไปก่อนนั้นนานแล้ว ดังนั้นภรรยาชื่อ Ruth Fowler Edwards (ผู้เป็นหลานสาวของ Ernest Rutherford นักฟิสิกส์ ผู้พบนิวเคลียสในอะตอม และเป็นลูกสาวของ Ralph Fowler นักฟิสิกส์ผู้มีชื่อเสียง) จึงเดินทางไปรับรางวัลแทน และเธอได้มอบให้ Martin Johnson ซึ่งได้ทำงานวิจัยเรื่องนี้ร่วมกับ Edwards เป็นเวลานาน แสดงปาฐกถาเรื่องแรงดลใจ และผลงานของ Edwards ให้ผู้เข้าร่วมพิธีมอบรางวัลโนเบลฟัง
Robert Geoffrey Edwards เกิดเมื่อวันที่ 27 กันยายน ค.ศ.1925 ที่เมือง Batley ใน Yorkshire ประเทศอังกฤษ เพราะบิดาของ Edwards ย้ายที่ทำงานบ่อย ดังนั้น Edwards จึงต้องย้ายโรงเรียน เนื่องจากเมือง Witney ไป Manchester High School เพื่อเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา แล้วศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ด้านชีววิทยาที่มหาวิทยาลัย Bangor ใน Wales จากนั้น ได้ศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาพันธุศาสตร์และคัพภวิทยา (embryology) ที่มหาวิทยาลัย Edinburgh จนจบปริญญาเอก Ph.D. เมื่ออายุ 30 ปี หลังสำเร็จการศึกษาได้ทุนวิจัยของมูลนิธิ Ford ไปทำงานวิจัยที่ Churchill College แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge ในปี ค.ศ. 1963 บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมได้ทำให้ Edwards รู้สึกเป็นสุขและพึงพอใจมาก จึงทำงานประจำที่นั่นจนเกษียณ
ระหว่างศึกษาปริญญาเอกนั้น Edwards เคยสนใจเรื่องความเป็นไปได้ที่จะสร้างเด็กหลอดแก้ว เพื่อช่วยสามีภรรยาที่ไม่สามารถมีทายาทได้ตามธรรมชาติ และเมื่อสำเร็จการศึกษาความคิดนี้ก็ได้หวนกลับมาหาเขาอีก จึงคิดจะนำเซลล์ไข่ (oocyte) จากรังไข่สตรีมาทดลองในหลอดแก้ว โดยได้รับความช่วยเหลือจาก Patrick Steptoe ซึ่งเป็นสูตินรีแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้าน laparoscopy (การผ่าช่องท้อง) ในการนำเซลล์ไข่ (oocyte) ของมนุษย์มาทดลอง
หลังจากความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ในปี ค.ศ. 1965 Edwards ก็ประสบความสำเร็จในการทำให้เนื้อเยื่อรังไข่ซึ่งได้จากการผ่าตัดสร้างเซลล์ไข่ได้หลายเซลล์ และรู้สึกดีใจเป็นล้นพ้นหลังจากเฝ้าคอยอยู่นานประมาณ 25 ชั่วโมง ก็รู้ว่าการทำ IVF เป็นเรื่องที่เป็นไปได้
ทั้ง ๆ ที่มีอุปสรรคมากมาย เช่น หาเนื้อเยื่อมาทดลองได้ยาก (คนไม่เชื่อฝีมือ) ห้องทดลองไม่พร้อมเพรียงด้วยอุปกรณ์ ไม่มีทุนวิจัยสนับสนุนจากรัฐบาล และถูกสังคมรวมถึงเพื่อนร่วมงานต่อต้าน เพราะคิดว่าผิดจริยธรรม Edwards ก็ยังเดินหน้าที่ทดลองต่อไป
ในปี ค.ศ.1968 Edwards ก็ประสบความสำเร็จในการทำให้ไข่มนุษย์ได้รับการปฏิสนธิในหลอดทดลอง แต่เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไปถึงสังคมภายนอกมหาวิทยาลัย งานวิจัยของ Edwards ก็ได้รับการต่อต้านจากสังคมมาก เพราะบรรดานักจริยธรรม สถาบันศาสนา สื่อ และประชาชนทั่วไป ล้วนมีความเห็นว่า การทดลองเรื่องนี้อาจทำให้ได้ทารกที่พิการหรือได้เด็กที่มีจิตใจผิดปกติ นอกจากนี้การทดลองยังก้าวก่ายบทบาทในการสร้างมนุษย์ของพระเจ้าด้วย เพราะ Edwards กำลังพยายามจะเล่นบทบาทเป็นพระเจ้าเสียเอง โดยใช้เซลล์ตัวอ่อนเป็นวัสดุวิจัย ซึ่งเซลล์ตัวอ่อนนี้ในภายหลังจะเจริญเติบโตเป็นมนุษย์ ดังนั้นถ้าตัวอ่อนตาย นั่นคือการฆ่า “คน” ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรมมาก และเมื่อ Edwards บอกว่าเขาไม่สามารถรับประกันความปลอดภัย หรือความสำเร็จใด ๆ ได้ 100% บรรดานักเคลื่อนไหวทั้งหลายจึงประกาศฟ้อง Edwards ต่อศาล จนบางวันเขาถูกฟ้องถึง 8 ศาล แต่ทุกศาลก็ตัดสินให้ Edwards ชนะคดีความทุกครั้งไป กระนั้นความกังวลใจที่สังคมต่อต้านนี้ ได้ชะลอความก้าวหน้าในการทำงานวิจัยพอสมควร
ในการทดลองระยะแรก ๆ Edwards ไม่ประสบผลสำเร็จเลยเพราะเซลล์ไข่ที่สุก เมื่อได้รับการปฏิสนธิด้วยเชื้ออสุจิในหลอดทดลอง แล้วถูกนำกลับไปฝังในโพรงมดลูก มักไม่ติด จึงไม่มีการตั้งครรภ์ แต่ Edwards ก็ได้พยายามเปลี่ยนตัวแปรต่าง ๆ จนได้พบว่าถ้าจะให้ได้ผลดีที่สุด เขาต้องใช้ไข่ที่สุก ในช่วงเวลาที่สตรีกำลังมีประจำเดือนตามธรรมชาติ และสภาพของสารละลายแวดล้อมที่ไข่จะเติบโตต้องเหมาะสม นอกจากนี้ เชื้อตัวผู้ก็ต้องแข็งแรงและสมบูรณ์ด้วย
องค์ความรู้เหล่านี้ได้ช่วยทำให้โลกได้เห็นทารกหลอดแก้วเป็นครั้งแรก เมื่อเวลา 11.47 น. ของวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ.1978 ทารกเพศหญิงชื่อ Louis Brown ได้ถือกำเนิดที่ Oldham General Hospital ในอังกฤษ ข่าวยิ่งใหญ่นี้ได้ถูกนำไปเผยแพร่ในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทั่วโลก ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งมีทั้งต่อต้าน ชื่นชม และวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานาหลังจากประสบความสำเร็จได้ไม่นาน Edwards กับ Steptoe ก็ได้รับข่าวร้ายว่าทีมวิจัยของเขาที่ทำงานเรื่องนี้ จะไม่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษอีกต่อไป ทั้งสองจึงขอทุนวิจัยจากองค์กรเอกชน และได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี จึงได้จัดตั้งคลินิกเด็กหลอดแก้วที่ Bourn Hall Clinic ในมหาวิทยาลัย Cambridge สำหรับฝึกนักชีววิทยา และนักนรีเวชวิทยาจากทั่วโลก ให้มีความเชี่ยวชาญด้าน IVF เพื่อช่วยสามี-ภรรยาที่น่าสงสารทั่วโลก ที่ไม่มีโชคให้มีลูกได้สมหวังเสียที
ในปี ค.ศ.1984 Edwards ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของ The Royal Society (F.R.S. : Fellows Of The Royal Society U.K.) หลังจากได้ทำงานร่วมกันมานานประมาณ 20 ปี จนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี Steptoe ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ.1988 (ถ้ายังมีชีวิตอยู่ เขาต้องได้รับรางวัลโนเบลร่วมกับ Edwards อย่างแน่นอน)
ในปี ค.ศ. 2001 Edwards ได้รับรางวัล Albert Lasker Clinical Medical Research Award ซึ่งวงการแพทย์ถือว่าเป็นรางวัลที่จะนำไปสู่การยอมรับอย่างสมบูรณ์ นั่นคือ รางวัลโนเบล
แล้วความคาดหวังของทุกคนก็เป็นจริง เพราะในวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ.2010 สถาบันโนเบลแห่งสวีเดน ได้ประกาศว่า Edwards คือผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี ค.ศ. 2010 อีกหนึ่งปีต่อมา Edwards ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรง ตำแหน่งเป็น Sir Robert Geoffrey Edwards
สำหรับการสร้างทายาทด้วยตนเอง (ตามวิธีธรรมชาติ) นั้น Edwards มีลูกสาว 5 คน และหลาน 12 คน
Robert G. Edwards
ที่มา http://i.huffpost.com/gen/1079491/thumbs/o-ROBERT-G-EDWARDS-facebook.jpg
บรรณานุกรม
Fauser, Bart และDevroey, Paul. (2011). Baby - Making : What the new reproductive treatments mean for family and society. Oxford University Press.
-
12817 Robert G. Edwards ผู้บุกเบิกวิทยาการการปฏิสนธิของทารกในหลอดแก้ว /article-science/item/12817-robert-g-edwardsเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง