เรียนรู้วิทย์ที่ Capilano Suspension Bridge
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปเที่ยวที่เมือง Vancouver รัฐ Victoria ประเทศ Canada ในวันแรกของการท่องเที่ยว เราเลือกไปสะพานแขวนคาพิลาโน (Capilano Suspension Bridge) เป็นแห่งแรก ด้วยเหตุผลที่ว่า หลังจากเปิดดูใน Google ถึงสถานที่แนะนำในระดับต้น ๆ ของเมืองนี้ พบว่า Capilano Suspension Bridge เป็นสะพานแขวนที่ยาวที่สุดของแคนาดา อีกเหตุผลหนึ่งที่ไป เพราะอยากดูว่าสะพานแขวนแห่งนี้จะมีความยาวสักเท่าใดและมีโอกาสจะพังเหมือนสะพานแขวนที่จังหวัดอยุธยาหรือไม่
Capilano Suspension Bridge เป็นสะพาน ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1889 โดยนาย George Grant Mackay วิศวกรและนักพัฒนาที่ดินชาวสกอต ร่วมกับนาย August Jack Khahtsahlano เพื่อการขนส่งไม้สน แต่ในวันนี้ Capilano Suspension Bridge เป็นสะพานแขวนที่มีความยาวที่สุดในประเทศแคนาดา โดยมีความยาว 450 ฟุต และสูง 230 ฟุต เหนือแม่น้ำคาพิลาโน่ (Capilano River)
ภาพที่ 1 สะพานแขวนคาพิลาโน (Capilano Suspension Bridge)
อีกด้านหนึ่งของสะพานแขวนคาพิลาโนที่สร้างเพิ่มขึ้นใหม่
การเดินทางเราใช้วิธีซื้อตั๋ว one day pass ราคา 9.25 CAD จากตู้อัตโนมัติที่ Waterfront station เพื่อใช้ Sea bus ไปขึ้นที่ท่าเรือ Lonsdale Quay แล้วต่อรถโดยสารประจำทางสาย 236 ต่อไปยัง Capilano Suspension Bridge ซึ่งค่าโดยสารพาหนะทุกประเภทในวันนี้รวมอยู่ในตั๋วที่เราซื้อใบเดียว การเดินทางใช้เวลาประมาณ 40 นาที เมื่อถึงบริเวณ Capilano Suspension Bridge Park ต้องเสียค่าผ่านประตูเข้าไปยังสะพานคนละ 32 CAD แต่สำหรับชาวแคนาดาจ่ายเงินครั้งเดียวสามารถมาเที่ยวที่นี่ได้ทั้งปี เด็กไม่เสียค่าผ่านประตูเมื่อได้ผ่านเข้าไปด้านในแล้วแต่เดิมกำหนดไว้ว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1.30 นาที แต่กลับเป็นว่าเราใช้เวลาไปกว่า 3 ชั่วโมง เพราะที่ Capilano Suspension Bridge มีอะไรที่น่าสนใจมากกว่าการเป็นสะพานแขวนที่ยาวที่สุดในแคนาดา
ในอุทยานแห่งชาติ Capilano ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของ Capilano Suspension Bridge มีเส้นทางเชื่อมต่อไปสู่ป่าฝนทางชายฝั่งตะวันตก เป็นจุดท่องเที่ยวใหม่ล่าสุดของอุทยาน ในรูปแบบการท่องเที่ยวชื่อ ผจญภัยบนยอดต้นไม้ (Treetop Adventure) โดยระหว่างต้นไม้มีสะพานแขวนขนาดเล็กเป็นเส้นทางชมป่าที่เชื่อมต่อตามจุดต่าง ๆ รวมทั้งสิ้นเจ็ดแห่ง ที่ความสูงกว่า 100 ฟุต เหนือป่าเขียวชอุ่ม เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินสำรวจบนทางเดินบนต้นไม้นอกจากนี้ผู้ที่สนใจสามารถใช้บริการนำเที่ยวชมธรรมชาติ และเข้าร่วมโปรแกรมนักสำรวจป่าฝนรุ่นเยาว์ (Kid’s Rainforest Explorer) และที่นี่ยังเป็นสถานที่จัดแสดงของสะสมส่วนบุคคลเกี่ยวกับเรื่องราวของกลุ่มชนชาวพื้นเมืองเผ่าอินเดียแดง ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในยุคแรก ๆ ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาเหนืออีกด้วย แต่ละจุดที่เดินผ่านภายในสวนที่จัดไว้อย่างสวยงาม จะมีป้ายบอกรายละเอียดทั้งพืชและสัตว์ที่สามารถพบได้ในบริเวณนั้น ส่วนที่เป็นป่าสน จะมีต้นสนที่มีขนาดใหญ่มาก ซึ่งเราจะเห็นความแตกต่างของต้นสนแต่ละชนิดได้อย่างชัดเจน ต้นสนที่บริเวณนี้พบได้ 3 ชนิด คือ ต้นสน Hemlock ต้นสน Douglas Fir และต้นสน Cedar
กิจกรรมให้ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ที่สะพานแขวน
สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากการเดินชมธรรมชาติคือ การให้ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ที่อยู่รอบ ๆ ตัว จากการอ่านป้ายชื่อต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ในจุดที่สำคัญ เช่น บริเวณที่มีต้นสนขนาดใหญ่ ซึ่งมีรายละเอียดที่นอกจากจะบอกชื่อและอายุของต้นไม้แล้ว ยังบอกวิธีการวัดความสูงการคำนวณอายุของต้นไม้ด้วย
กิจกรรมการผจญภัยบนยอดไม้
เป็นกิจกรรมที่ช่วยจุดประกายความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชน ได้เป็นอย่างดี วิธีการเขาใช้เด็กหนุ่มคนหนึ่งสวมบทบาท ดอกเตอร์ วู้ดส์ (Doctor Woods) ทำหน้าที่ต้อนรับอยู่บนชั้นสอง ส่วนที่เป็นสะพานทางเดินเชื่อมจากต้นสนดักกลาส ต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง สะพานนี้สูงประมาณ 30 เมตรจากพื้นดิน เมื่อเด็ก ๆ ขึ้นบันไดไปถึงจุดแรก ดอกเตอร์ วู้ดส์ จะมาเชิญชวนให้เด็กเข้าร่วมเป็นนักสำรวจน้อย และแนะนำอุปกรณ์บางอย่าง เช่น แว่นขยาย กล้องส่องทางไกล ตัวอย่างกะโหลกสัตว์และแมลงที่พบ จากนั้นก็จะแจกแบบสำรวจ แผนที่บอกจุดต่าง ๆ ที่ต้องไปสำรวจ ซึ่งแต่ละจุดที่กำหนด จะมีอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้ เช่น เครื่องวัดความชื้นของอากาศ เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิ
แผนที่แสดงจุดต่าง ๆ ที่ให้เด็กค้นหา
แบบสำรวจที่แจกให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรม
เมื่อได้แบบสำรวจแล้ว เด็ก ๆ ก็จะออกสำรวจ บันทึกข้อมูล ซึ่งขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้เป็นการฝึกการสังเกต การคิดวิเคราะห์ สิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของนักวิทยาศาสตร์ เมื่อเด็กออกสำรวจและทำแบบสำรวจมาส่งคืน ดอกเตอร์วู้ดส์ จะมีของรางวัลให้กับเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน ตลอดเวลากว่า 3 ชั่วโมงที่อยู่ที่นี่ ผู้เขียนได้เห็นเด็กรวมทั้งพ่อแม่ ร่วมกันทำกิจกรรมนักสำรวจกันอย่างสนุกสนาน และมีความสุขอยู่ตามจุดต่าง ๆ ทั่วไป จากการได้สอบถามจากดอกเตอร์วู้ดส์ ก็ได้รับความรู้ว่า นอกจากกิจกรรมประจำวันแบบนี้แล้ว ที่นี่ยังมีการจัดกิจกรรมสำหรับโรงเรียนที่นำนักเรียนมาทัศนศึกษาที่ Capilano Suspension Bridge Park อีกสองกิจกรรม คือ กิจกรรมนักอนุรักษ์ป่า และกิจกรรมนักสร้างสะพาน
ภาพที่ 2 Dr.Woods ให้ความรู้นำเด็กร่วมกิจกรรมนักวิจัยน้อย
ภาพที่ 3 เด็กและผู้ปกครองสำรวจตามจุดที่กำหนดไว้
กิจกรรมนักอนุรักษ์ป่า เป็นกิจกรรมที่เน้นเนื้อหาด้านชีววิทยา ให้นักเรียนได้เรียนรู้การจำแนกชนิดของพืชใน Capilano Suspension Bridge Park พืชหลักซึ่งได้แก่ สน 3 ชนิด ลักษณะของดิน การวิเคราะห์ดินร่วมกับนักวิชาการ สิ่งจำเป็นในการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่ ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจน น้ำ แสงแดด หรืออาจจะเป็นแสงประดิษฐ์ ธาตุอาหาร ดิน รวมทั้งความอบอุ่นกับต้นไม้ รู้จักพืชไร้ดอก เช่น เฟิร์นที่มีหลากหลายชนิด ไลเคน เห็ด รา ยีสต์ และนกชนิดต่าง ๆ โดยเน้น 3 R เพื่อการอนุรักษ์ป่าซึ่งได้แก่ Reduce, Reuse และ Recycle นั่นเอง
กิจกรรมนักสร้างสะพาน มีนักวิชาการอธิบายถึงวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสะพาน ซึ่งได้แก่ ฟิสิกส์คณิตศาสตร์ รวมทั้งวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ให้ความรู้เกี่ยวกับสะพานแขวน 3 แบบ ให้นักเรียนพิจารณาตัดสินใจเลือกออกแบบสะพานที่เหมาะสมกับโจทย์ โดยใช้ความรู้เรื่อง แรง การดึง การผลัก การหมุนแรงตึง แรงถ่วง รวมทั้งการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม นักเรียนจะได้สร้างสะพานจำลอง ทำการทดลองทดสอบความแข็งแรงของสะพาน สร้างสะพานจำลอง ทำการทดลองทดสอบความแข็งแรงของสะพาน กิจกรรมนี้ทำให้เด็กได้คิดนำความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับงานและได้ลงมือทำด้วยตนเอง
การประยุกต์กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อใช้ในการส่งเสริมครูวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กิจกรรมที่ยกตัวอย่างข้างต้น นับเป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะปลูกฝังให้ความรู้กับเยาวชนของเขา ที่มาเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในประเทศเราก็มีบางหน่วยงานที่พยายามดำเนินการอย่างเช่น ศูนย์ศึกษาธรรมชาติที่คุ้งกระเบน ที่จะจัดวิทยากรให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวหรือนักเรียนที่มาทัศนศึกษา หรือการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช แต่ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ ยังขาดแบบสำรวจที่จะกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจ และเกิดประสบการณ์การเรียนรู้ให้มากขึ้น รวมทั้งยังขาดอุปกรณ์ที่จะให้เด็กที่มาท่องเที่ยวได้มาสัมผัสทดลองใช้จริง การจัดทำแบบสำรวจถ้าหน่วยงานยังไม่พร้อมจะจัดทำ ผู้เขียนเชื่อว่า คุณครูของเรานี่แหละ มีความสามารถที่จะทำเองได้ไม่ยาก หากมีความมุ่งมั่นและตั้งใจตัวอย่าง เช่น การพานักเรียนไปทัศนศึกษาบนดอยอินทนนท์ กิจกรรมง่าย ๆ ที่คุณครูสามารถกำหนดได้เอง ให้นักเรียนทำอย่างแรกคือ การวัดอุณหภูมิบนยอดดอย ทั้งบนบกและในน้ำ เพียงครูให้นักเรียนจัดเตรียมเทอร์โมมิเตอร์ไปด้วย ครูสามารถสอนได้ตั้งแต่วิธีการใช้เทอร์โมมิเตอร์ที่ถูกต้อง ว่ามีวิธีการอย่างไร ที่จะทำให้การวัด เพื่ออ่านค่าของอุณหภูมิที่วัดได้ไม่คลาดเคลื่อน อุปกรณ์การวัดความสูงของต้นไม้ก็จัดหาได้ไม่ยาก การเตรียมทำแบบสำรวจพืชและสัตว์ที่พบบนดอยอินทนนท์ ครูสามารถหาข้อมูลได้จากสื่อต่าง ๆ ทั้งทางอินเทอร์เน็ตหรือกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช เมื่อถึงสถานที่จริง ครูแจกแบบสำรวจมอบหมายให้นักเรียนทำกิจกรรมด้วยตนเอง นักเรียนจะได้ค้นคว้า ได้คิด ได้ฝึกการสังเกตด้วยความละเอียดรอบคอบ เพื่อหาคำตอบมาใส่ในแบบสำรวจ หากนักเรียนได้มีโอกาสฝึกทักษะเหล่านี้บ่อย ๆ ก็จะเป็นการช่วยสร้างกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ อันจะเป็นพื้นฐานที่ดีของการศึกษาทุกแขนง ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น
นอกจากเนื้อหาด้านวิชาการแล้ว สิ่งสำคัญที่ครูสามารถช่วยอบรมและปลูกฝังได้ก็คือ ความรับผิดชอบต่อสังคม คุณธรรมและจริยธรรม เช่น สอนเรื่องการไม่ทิ้งขยะ การช่วยรักษาความสะอาดของสถานที่ การช่วยเหลือเอื้ออาทร การทำงานร่วมกับผู้อื่น หน้าที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม หรือจะเพิ่มเติม 3 R อย่างที่แคนาดาก็ได้ สิ่งที่ท่านสอนเหล่านี้ จะทำให้ลูกศิษย์ของท่านเติบโตเป็นคนมีคุณภาพ แล้วคุณครูก็จะมีความสุขในการทำหน้าที่ ให้ทั้งในด้านความรู้ ความคิด ความมีจิตสาธารณะ แก่เยาวชนที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยของเรา ให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงต่อไป
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 41 ฉบับที่ 183 กรกฎาคม - สิงหาคม 2556
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/
-
12837 เรียนรู้วิทย์ที่ Capilano Suspension Bridge /article-science/item/12837-capilano-suspension-bridgeเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง