หลายคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เด็ก ๆ ทุกคนชอบของเล่น และการเล่นเป็นส่วนหนึ่งในช่วงชีวิตในวัยเด็กที่น่าประทับใจ และนั่นทำให้ผู้ใหญ่หลาย ๆ คน นึกอยากย้อนเวลากลับไปในช่วงชีวิตนั้น ของเล่น เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า มีส่วนในการสร้างเสริมและพัฒนาทางความคิด การเรียนรู้ และทักษะการใช้ชีวิต ที่หาได้นอกเหนือจากการเรียนรู้ในห้องเรียน ให้เด็กเรียนรู้และฝึกใช้ทักษะทางร่างกาย การเคลื่อนไหว และเสริมสร้างจินตนาการ คิดค้น แก้ปัญหา ใช้เชาวน์ปัญญา ไปพร้อม ๆ กับการได้รับความสนุกสนาน เพลิดเพลินในขณะที่เล่นของเล่นซึ่งจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาในด้านอารมณ์ของเด็กได้อีกด้วย
ของเล่น
ในค่ายโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ประจำปี 2555 ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เมื่อวันที่ 7 ถึง 9 พฤษภาคม พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา สสวท. ร่วมกับ อพวช. ได้จัดกิจกรรม สนุกกับวิทยาศาสตร์ในภูมิปัญญาไทย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ในภูมิปัญญาไทยผ่านของเล่นไทย และลงมือทำของเล่นด้วยตัวเอง โดยพี่ ๆ วิทยากรจาก อพวช. ได้นำของเล่นไทยหลากหลายชนิด มาให้เด็ก ๆ ได้สัมผัส และได้สำรวจความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในของเล่น รวมทั้งเตรียมอุปกรณ์มาให้เด็ก ๆ ได้ลงมือทำของเล่นไทยด้วยตัวเอง เป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้เด็ก ๆ อีกด้วย
ของเล่นพื้นบ้านนี้ นอกจากเด็ก ๆ จะได้สนุกกับการเล่นของเล่น และการลงมือทำด้วยตัวเองแล้ว เด็ก ๆ ยังได้รับความรู้ทางวิทยาศาสตร์จากของเล่นหลายชนิด ที่พี่ ๆ วิทยากรนำมาให้สัมผัส เช่น เครื่องตำข้าวขนาดเล็ก ของเล่นตุ๊กตาเลื่อยไม้ ขลุ่ยไม้ นกหวีดไม้ จักจั่น ของเล่นจำลองรูปแบบวัวชน ของเล่นเลียนเสียงนกฮูก ปืนหนังยาง ปืนแก๊ปของเล่น งูกินนิ้ว จานบินไม้ไผ่ จานบินชักได้ ลูกข่างไม้ไผ่ พญาลืมงาย ของเล่นเหล่านี้สามารถถ่ายทอดการใช้วิทยาศาสตร์เข้ากับการดำเนินชีวิต ช่วยให้เด็ก ๆ เข้าใจหลักการทางวิทยาศาสตร์จากของเล่นแต่ละชิ้นได้มากขึ้น ถือเป็นการปลูกฝังเจตคติที่ดีทางวิทยาศาสตร์ได้อีกทางหนึ่ง จากการที่เด็กเหล่านี้มีความสนใจ อยากรู้ อยากเห็น ฝึกสังเกต เป็นการเพิ่มพูนทักษะการคิดแบบวิทยาศาสตร์นอกเหนือไปจากการทดลองในห้องปฏิบัติการได้อีกด้วย ตัวอย่างของเล่นไทยในค่าย มีดังนี้
เครื่องตำข้าวขนาดเล็ก
เครื่องตำข้าวขนาดเล็ก
เป็นของเล่นที่ต้องใช้แรงกดจากนิ้ว เป็นเสมือนแรงจากเท้าที่ทำให้คานตำข้าวกระดกขึ้นลงในครกขนาดจิ๋ว เป็นของเล่นที่อธิบายหลักการทำงานของคานและจุดหมุน ซึ่งเป็นความรู้ทางฟิสิกส์ อีกทั้งยังจำลองเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือนในอดีตให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวไทยสมัยก่อนที่อยู่ร่วมกับการเกษตร โดยพ่อแม่ก็ตำข้าวที่ได้จากนา และทำของเล่นตำข้าวอันเล็กให้ลูกได้ลองตำข้าวดูบ้าง
ลูกข่างโว้
ลูกข่างโว้
เป็นลูกข่างที่มีชื่อมาจากเสียง โว้ โว้ ของลูกข่าง การหมุนของลูกข่างทำให้เกิดเสียง ซึ่งเกิดจากการที่ตัวลูกข่างมีช่องเจาะเข้าไปในกระบอกลูกข่าง ในขณะที่ลูกข่างหมุน อากาศจะเกิดการอัดผ่านช่องเล็ก ๆ นั้น ยิ่งหมุนเร็ว อากาศเข้าไปได้น้อย ก็จะเกิดเสียงแหลม เมื่อลูกข่างหมุนช้าลง ก็จะเกิดเสียงทุ้มขึ้น ของเล่นนี้ใช้หลักการขยายเสียง อีกทั้งยังจำลองการเคลื่อนที่แบบหมุนให้เด็ก ๆ ได้ดูอย่างใกล้ชิดอีกด้วย
นกหวีดชัก
นกหวีดชัก
เป็นนกหวีดที่ทำเป็นลักษณะของท่อ ทำจากไม้ไผ่ที่มีคันชักสามารถชักเข้าและออกได้ โดยที่ปลายอีกด้านจะมีช่องสำหรับเป่าให้อากาศเข้า ซึ่งการชักจะเป็นการกำหนดความยาวของลำอากาศในนกหวีด ซึ่งใช้หลักการเกิดการสั่นพ้องของเสียง
จานบินไม้ไผ่ หรือคอปเตอร์ไม้ไผ่
จานบินไม้ไผ่ของหนูค่ะ
เป็นของเล่นที่เด็ก ๆ ทำด้วยตัวเองได้ โดยต่อใบพัดเข้ากับแกนหมุน ยึดให้แน่นด้วยกาว จากนั้นตกแต่งตามความต้องการด้วยสีเมจิกให้สวยงาม หลังจากประดิษฐ์เสร็จ จานบินไม้ไผ่ก็ร่อนเต็มห้อง เป็นที่สนุกสนานเฮฮาของเด็ก ๆ สำหรับการร่อนจานบินไม้ไผ่ จะใช้ฝ่ามือทั้งสองประสานกันแล้วใช้มือขวาปั่นไปข้างหน้าทำให้จานบินลอยขึ้นฟ้า โดยของเล่นชนิดนี้ จะสอนเรื่องแรงดันอากาศที่เกิดจากการหมุนอย่างรวดเร็วของใบพัดและลักษณะที่ต่างกันของใบพัดทั้งสองด้านทำให้แรงดันอากาศไม่เท่ากัน ส่งผลให้ใบพัดพุ่งไปข้างบน
กำหมุน
กำหมุนของหนูทำไม่ยากเลยค่ะ
กำหมุนจะมีลักษณะคล้ายกับจานบินไม้ไผ่ แต่ว่าจะไม่ทะยานขึ้นฟ้า แค่หมุนไปมาโดยอาศัยการชักเชือกผ่านลูกยางซึ่งเจาะเป็นช่อง แล้วสอดเชือกร้อยเข้าไปพันกับแกนหมุนของใบพัดไม้ไผ่ ทำให้มีลักษณะคล้ายรอก เป็นกลไกที่จะทำให้ใบพัดหมุนได้จากการดึงเชือก
พญาลืมงาย
ของเล่นชนิดนี้ เด็ก ๆ จะได้อุปกรณ์คือ แท่งไม้ที่เจาะรูแล้วเชือกและลูกปัด ซึ่งนักเรียนจะต้องมาร้อยลูกปัดเองและมัดเข้ากับแท่งไม้ โดยให้เชือกสองเส้นไขว้กันไว้ วิธีการเล่นคือคิดวิธีให้ลูกปัดที่ร้อยอยู่กับเชือกคนละเส้นไปรวมอยู่กับเชือกเส้นเดียวกัน ซึ่งกิจกรรมนี้ ทำให้เด็ก ๆ เงียบเป็นพิเศษ เพราะต่างคนต่างใช้สมาธิในการแก้ปัญหา และเมื่อเด็ก ๆ หาวิธีแก้ปัญหาได้ก็จะภาคภูมิใจในตนเอง รวมทั้งได้ของเล่นกลับไปให้เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนได้ฝึกแก้ปัญหาด้วย
พญาลืมงาย ทำง่าย เล่นสนุก
จากกิจกรรมของเล่นภูมิปัญญาไทยนี้ ทำให้เห็นว่าของเล่นมีส่วนในการเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็กได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาไทย ที่ผ่านการคิดค้นโดยคนโบราณนั้น มีประโยชน์กับลูกหลานอย่างยิ่ง หวังว่าน้อง ๆ จะนำความรู้ที่ได้จากกิจกรรมไปใช้ และร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาเหล่านี้ไว้ ไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในระดับต่อไป
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 42 ฉบับที่ 185 พฤศจิกายน - ธันวาคม 2556
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
ประสาท เนืองเฉลิม. (2548,ตุลาคม). วิทยาศาสตร์ในของเล่นพื้นบ้านไทย.สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2556, จาก http://www.myfirstbrain.com/teacher_view.aspx?ID=47521
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. จานบิน-วิทยาศาสตร์กับของเล่นไทย. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2556, จาก http://www.nstda.or.th/sci-kids-menu/1281-janbin
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. นกหวีดไม้ไผ่ -วิทยาศาสตร์กับของเล่นไทย. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2556, จาก http://www.nstda.or.th/sci-kids-menu/6418-nokweedmaipai
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. ลูกข่างโว้ - วิทยาศาสตร์กับของเล่นไทย. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2556, จาก http://www.nstda.or.th/sci-kids-menu/6421-loogkhangwo
สุชานันท์. (2553, 12 มกราคม). กำหมุน. สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม 2556, จาก http://khonglenthai.blogspot.com/2010/01/blog-post.html
สุชานันท์. (2553, 15 มกราคม). พญาลืมงาย. สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม 2556,จาก http://khonglenthai.blogspot.com/2010/01/blog-post_15.html
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)