เรียนวิทยาศาสตร์จากเต้าหู้แผ่น
เรียนวิทยาศาสตร์จากเต้าหู้แผ่น
เภสัชกร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุภชัย ติยวรนันท์
คณะเภสัชศาสต ร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันก่อนระหว่างนั่งทานข้าว ผมนึกถึงเรื่องบทความในคอลัมน์นี้ที่จะเขียนต่อไป ระหว่างนั้นก็ตักไข่พะโล้ใส่ปากพร้อมข้าวร้อนๆ ค่อยๆ เคี้ยวอย่างเอร็ดอร่อย ทันได้นั้นก็เกิดอาการปิ๊ง... ไอเดียกระฉูด เพราะอะไรทราบหรือเปล่าครับ... นั่นก็เพราะเต้าหู้ที่อยู่ในถ้วยพะโล้นี่แหละ ที่ทำให้อยากเล่าเรื่องสู่น้องๆ ให้ได้รับทราบกัน
เมื่อไอเดียเกิด ผมก็เสาะแสวงหาแหล่งข้อมูลทันที จึงได้แหล่งข้อมูลแบบต้นตำรับที่ตลาดเมืองขอนแก่น เจ้าของสถานที่คือคุณวรรณวิมล วัฒนกูล ผู้สืบทอดความรู้และเทคนิคการทำเต้าหู้มาจากบรรพบุรุษ ซึ่งพื้นเพเดิมเป็นคนชลบุรี ต่อมาจึงมาปักหลักที่ขอนแก่น โดยยึดอาชีพทำเต้าหู้แผ่นมาโดยตลอด และ เป็นการทำเต้าหู้แผ่นตามสูตรดั้งเดิม เมื่อไปพบคุณวรรวิมลครั้งแรก ผมได้รับความกรุณาอย่างสูง จึงนัดหมายเวลาเพื่อถ่ายภาพและเฝ้าสังเกตุเทคนิคต่างๆ อย่างใกล้ชิด
เต้าหู้แผ่นที่เจ้าของสถานที่ได้ทำอยู่เป็นประจำนั้นมี ๒ ชนิด นั่นคือ เต้าหู้แผ่นแบบแข็ง และเต้าหู้แผ่นแบบนิ่ม ซึ่งทั้งสองชนิดใช้แหล่งวัตถุดิบอย่างเดียวกัน นั่นคือ “ถั่วเหลือง” เอาหล่ะครับ ผมขอทำหน้าที่แทนคุณวรรณวิมล เล่าเรื่องเต้าหู้ทั้งสองชนิดให้น้องๆ ฟังก็แล้วกัน
เต้าหู้แผ่นยอดนิยม...
เต้าหู้แผ่นชนิดแข็ง ในภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า เต่าหู่กัว (豆腐乾)หรือ เต่ากัว (豆乾 ) ซึ่งในสำเนียงจีนกลางออกเสียงว่า โต้วฟูกาน หรือ โต้วกาน เมื่อแยกอักษรเพื่อดูความหมาย ตัวอักษร 豆 หรือเขียนได้ในรูป荳 ออกเสียง เต่า (แต้จิ๋ว) หรือ โต้ว (จีนกลาง) แปลว่า ถั่ว ในที่นี้ความหมายโดยนัยคือ เต้าหู้ (豆腐) ส่วนอักษร 乾 ออกเสียงได้หลายเสียง แต่ในที่นี้ออกเสียง กัว (แต้จิ๋ว) หรือ กาน (จีนกลาง) แปลว่า แห้ง เมื่อรวมกันจึงมีความหมายว่าเต้าหู้แห้ง
เต้าหู้แผ่นชนิดนิ่ม ในภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกกันว่า นับเต่ากัว หรือถ้าออกเสียงตามตัวหนังสือคือ หลุ่งเต่ากัว สำเนียงจีนกลางออกเสียงว่า เนิ่นโต้วกาน (嫩豆乾) หากดูความหมายตามตัวอักษร 嫩 ออกเสียงหลุ่ง (แต้จิ๋ว) หรือ หนับ หรือ นึ่ง ในภาษาพูดของชาวจีนแต้จิ๋ว ในสำเนียงจีนกลางออกเสียงว่า เนิ่น แปลว่า นิ่ม รวมกับอักษร 豆乾 ซี่งแปลว่า เต้าหู้แห้ง ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในวรรคก่อนหน้านี้ จึงรวมความได้ว่า เต้าหู้แห้งชนิดนิ่ม
เคล็ดไม่ลับ สูตรเต้าหู้...
การทำเต้าหู้แผ่นชนิดแข็งและชนิดนิ่มนั้นจะเริ่มต้นด้วยการโม่ถั่วเหลือง โดยถั่วเหลืองที่จะนำมาโม่ต้องผ่านการแช่น้ำจนพองตัวเต็มที่ โดยปรกติจะใช้เวลาในการแช่เมล็ดถั่วเหลืองราว ๖ ชั่วโมง ซึ่งคุณวรรณวิมลจะเริ่มนำถั่วเหลืองแช่น้ำราวเที่ยงคืน หลังจากนั้นราว ๖ โมงเช้าก็จะนำถั่วเหลืองที่พองตัวแล้วมาล้างน้ำสองสามน้ำ จึงเริ่มโม่ ด้วยโม่หินแบบโบราณ แต่ก่อนนั้นใช้แรงคนโม่ปัจจุบันใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาช่วย การโม่เมล็ดถั่วเหลืองจะป้อนเมล็ดถั่วเหลืองลงในโม่หินพร้อมน้ำ มีเคล็ดลับอยู่ที่การทำเต้าหู้แผ่นนั้น จะใช้น้ำในการโม่เมล็ดถั่วเหลืองปริมาณไม่มากเกินไป จึงจะได้เนื้อเต้าหู้ที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเต้าหู้แผ่นชนิดนิ่ม จะใช้น้ำน้อยกว่าเต้าหู้แผ่นชนิดแข็งในการโม่
หลังจากโม่เมล็ดถั่วเป็นที่เรียบร้อย สิ่งที่ได้ออกมาจากโม่หินคือน้ำนมถั่วเหลืองที่ผสมกากถั่วเหลือง สิ่งที่ได้จากการโม่นี้จะถูกนำไปกรองผ่านผ้าขาวบางละเอียดเพื่อกรองเอากากถั่วเหลืองออกให้เหลือเฉพาะน้ำนมถั่วเหลือง แล้วนำน้ำนมถั่วเหลืองที่ได้ไปต้มให้เดือดในกระทะที่ออกแบบเฉพาะ น้ำนมถั่วเหลืองที่ผ่านการต้มแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการเหนี่ยวนำให้เกิดตะกอน ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้ได้เนื้อเต้าหู้ต่างชนิดกัน และใช้เตรียมเป็นเต้าหู้แผ่นชนิดแข็ง หรือ เต้าหู้แผ่นชนิดนิ่ม
รูปที่ ๕ น้ำถั่วเหลืองที่กรองเสร็จแล้วจะถูกนำไปต้มจนเดือด
มาปั้นน้ำให้เป็นตัวกัน...
การทำเต้าหู้แผ่นชนิดแข็ง จะนำเอาน้ำนมถั่วเหลืองที่ต้มเสร็จใหม่ๆ ยังร้อนๆ อยู่มาเติมน้ำดีเกลือ โดยค่อยๆ เติมน้ำดีเกลือลงไปทีละน้อย และกวนผสมกันให้ทั่ว จนกระทั่งน้ำนมถั่วเหลืองตกตะกอนเป็นเม็ดๆ มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และจะทำการเติมไปเรื่อยๆ จนตะกอนเลิกก่อตัวจึงหยุดเติมน้ำดีเกลือ แล้วตั้งทิ้งไว้ซักพักจนอุณหภูมิลดลง จึงตักตะกอนใส่เบ้าพิมพ์ที่รองผ้าไว้ ตรงนี้ต้องใช้ความชำนาญการเป็นอย่างยิ่ง เพราะต้องตักให้แต่ละก้อนมีเนื้อเต้าหู้ที่พอเหมาะ และสม่ำเสมอกันทุกก้อน แล้วจึงมัดผ้าขาวบาง หลังจากนั้นก็ทำการทับด้วยแผ่นไม้เพื่อรีดน้ำออกและทำให้เนื้อเต้าหู้แน่นขึ้น
รูปที่ ๖ น้ำนมถั่วเหลืองที่ผ่านการต้มแล้วจะถูกนำมาใส่ภาชนะรอการเติมน้ำดีเกลือเพื่อก่อให้เกิดการจับตัวของโปรตีน
รูปที่ ๗ ภาพเปรียบเทียบน้ำนมถั่วเหลืองที่ยังไม่เติมน้ำดีเกลือ (ถังซ้าย) กับ น้ำนมถั่วเหลืองที่เติมดีเกลือแล้ว (ถังขวา) ซึ่งเกิดตะกอนโปรตีนจับตัวกันเบาๆ เต็มไปหมด
รูปที่ ๘ น้ำเต้าหู้ที่ตกตะกอนด้วยน้ำดีเกลือแล้วจะถูกนำมาหยอดลงพิมพ์ ตรงนี้ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะตัวเพื่อให้ได้ปริมาณเนื้อเต้าหู้เท่าๆ กันทุกพิมพ์
รูปที่ ๙ เมื่อหยอดลงพิมพ์เสร็จก็จะทำการมัดผ้าขาวบางให้เป็นห่อๆ
รูปที่ ๑๐ เมื่อห่อเสร็จจะวางเรียงบนแผ่นกระดานไม้ เพื่อรอการนำไปอัดให้เป็นแผ่น
รูปที่ ๑๑ กระดานที่วางห่อเต้าหู้แต่ละแผ่นจะถูกวางซ้อนกันหลายชั้น แล้วใช้คานน้ำหนักกดทับลงไปเพื่อรีดน้ำออก ซึ่งผลที่ได้จะได้เป็นเต้าหู้แผ่นที่วางขายกันตามตลาด
รูปที่ ๑๒ เมื่อทับจนน้ำแห้งได้ที่ ก็จะนำออกจากห่อผ้าขาวบาง ได้เป็นผลิตภัณฑ์เต้าหู้แผ่นชนิดแข็ง
ส่วนการทำเต้าหู้แผ่นชนิดนิ่มนั้น จะนำเอาน้ำนมถั่วเหลืองที่ต้มเสร็จใหม่ๆ เหมือนกรณีการทำเต้าหู้แผ่นชนิดแข็ง แต่คราวนี้จะใช้สารช่วยในการก่อตะกอนต่างจากเดิม โดยจะใช้สิ่งที่เรียกกันว่า เจี๊ยะกอ หรือ หินเต้าหู้ แทนน้ำดีเกลือ โดยจะเอาผงเจี๊ยะกอราว ๑ ถ้วยชา ใส่ลงในครุถัง แล้วเติมน้ำลงไปเล็กน้อย กระจายผงเจี๊ยะกอให้ทั่ว หลังจากนั้นจึงเทน้ำนมถั่วเหลืองร้อนๆ ใส่ลงในครุถังแล้วเทกลับมายังภาชนะเดิมของน้ำนมถั่วเหลืองเป็นอันเสร็จพิธีการผสม ดูแล้วเป็นเทคนิกการผสมของสองสิ่งให้เข้ากันได้อย่างพอดี เมื่อผสมเสร็จตั้งทิ้งไว้ราว ๑๕ นาที น้ำนมถั่วเหลืองจะค่อยๆ จับตัวกันกลายเป็นวุ้น สิ่งที่ได้ทุกคนคงรู้จักดี ก็เต้าฮวยดีๆ นี่แหละครับ ถ้าไม่ทำอะไรต่อ ยกไปเป็นถังๆ ก็คือเต้าฮวย แต่ถ้านำมาอัดให้เป็นแผ่นในพิมพ์เหมือนอย่างที่ทำเต้าหู้แผ่นชนิดแข็ง ก็จะได้เต้าหู้แผ่นชนิดนิ่ม
รูปที่ ๑๓ ภาพที่เห็นนี้เป็นผงเจี๊ยะกอ หรือหินเต้าหู้ที่กระจายตัวในน้ำรออยู่ในถัง
รูปที่ ๑๔ นำน้ำเต้าหู้ที่ต้มแล้วและกำลังร้อนเทผสมลงในถังที่ใส่หินเต้าหู้ไว้
รูปที่ ๑๕ เมื่อเทกลับไปมาผสมกันจนได้ที่ ก็จะตั้งทิ้งไว้จนน้ำเต้าหู้กลายเป็นวุ้นอย่างที่เห็นในภาพ หรือถ้านึกไม่ออกให้นึกถึงเต้าฮวยที่ขายกันในตลาด แบบเดียวกันเลยครับ
รูปที่ ๑๖ วุ้นเต้าหู้ที่ได้จะถูกตักใส่พิมพ์ในลักษณะคล้ายเคียงกับการทำเต้าหู้แผ่นชนิดแข็ง
รูปที่ ๑๗ เมื่อเต็มพิมพ์ก็จะห่อผ้าขาวบางแล้วนำมาวางบนแผ่นกระดานสำหรับอัด แต่คราวนี้จะต่างจากการทำเต้าหู้แข็งตรงที่ มีการเสริมขอบด้วยท่อนไม้ เพื่อกำหนดความหนาของเต้าหู้
แตะวิทย์นิดๆ...
ที่ยกเรื่องเต้าหู้มาให้ดูนี่ก็เพื่อจะเล่าถึงภูมิปัญญาของบรรพชนที่รู้จักสังเกตุ และนำมาพัฒนาใช้ประโยชน์ ในส่วนของการทำเต้าหู้นั้นนักวิทยาศาสตร์มารู้ภายหลังว่าเป็นคุณสมบัติการตกตะกอนของโปรตีนเมื่อมีเกลือเข้ามารบกวนในระบบ (salting out effects) ผนวกกับการก่อตัวเป็นวุ้นของโปรตีน (gel formation property)
การก่อตัวเป็นวุ้นของโปรตีนนั้นนอกจากจะถูกกระตุ้นได้ด้วยเกลือต่างๆ แล้ว ยังสามารถกระตุ้นได้ด้วยการใช้ความร้อน ถ้าพูดขึ้นมาน้องๆ จะร้องอ๋อทันที เพราะตัวอย่างที่จะยกนี้เป็นของใกล้ตัวมาก สิ่งนั้นคือ ไข่ตุ๋น ความร้อนที่ใช้นึ่งทำให้โปรตีนในไข่ขาวเกิดการเกาะกลุ่มกันและตามด้วยกระจายตัวก่อเป็นวุ้น (aggregated dispersions)
อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นการก่อเจลของโปรตีนกลุ่มเจลาติน (gelatin) ซึ่งจะพบมากในหนังหมู... ครับ หนังหมู น้องๆ หลายคนอาจบอกว่า หนังหมูมันไขมันนี่นา ไม่น่าใช่โปรตีน จริงๆ แล้วหนังหมูนั้นไม่ใช่ไขมันครับ ส่วนที่เป็นไขมันอยู่ใต้ชั้นผิวหนังของหมูครับ ถ้าน้องทานแคบหมู หรือ กากหมู จะมีสองประเภท ประเภทหนึ่งติดมัน อีกประเภทเป็นหนังหมูล้วนๆ ถ้าเคยมีคนซื้อมาฝากจากเชียงใหม่จะเป็นหนังหมูทอดเป็นเส้นเหลืองหอม เคี้ยวอร่อย
เอาหล่ะ แล้วโปรตีนที่หนังหมูก่อตัวเป็นเจลได้อย่างไร... ตัวอย่างที่จะยกให้เห็นนี้ค่อนข้างหาดูยากนิดนึง ถ้าเป็นครอบครัวคนจีนโพ้นทะเลในไทยอาจเคยเห็น อย่างตอนไหว้เจ้า จะมีหมูชิ้นที่ติดทั้งหนัง มัน และเนื้อ ก็หมูสามชั้นนั่นแหละครับเอามาต้มเพื่อไหว้เจ้า คนจีนเรียกบ๊ะเหลี่ยว น้องๆ ลองสังเกตุดูตอนไหว้เสร็จนะครับ บริเวณชิ้นหมูที่ต้มจนร้อนแล้วนำมาไหว้จนเย็น จะมีของเหมือนวุ้นใสๆ เกาะอยู่ ถ้าไม่อยู่บนหนัง ก็อยู่ที่ถาดรองไหว้ นั่นแหละครับเจลที่เกิดจากเจลาตินในหนังหมู การก่อเจลลักษณะนี้จะต่างจากแบบที่เกิดกับไข่ตุ๋น คือเจลหรือวุ้นที่ได้จะมีลักษณะใส แสงทะลุผ่านได้ ลักษณะการเกิดวุ้นแบบนี้เป็นการก่อพันธะกันระหว่างโมเลกุลของโปรตีนเป็นพอลีเมอร์ (polymeric networks) ซึ่งวุ้นที่ได้มานี้จะมีคุณสมบัติไวต่ออุณหภูมิ จะหลอมเมื่อร้อนและเป็นวุ้นเมื่อเย็น เรียกว่า thermo-reversible property
สำหรับการเกิดวุ้นในการทำเต้าหู้นั้น เป็นสิ่งที่มีการศึกษาติดต่อกันมานาน มีนักเคมีอาหารได้ทำการศึกษาเพื่อพัฒนาการผลิตเต้าหู้สู่ระดับอุตสาหกรรมและให้ได้มาซึ่งเต้าหู้ที่มีคุณลักษณะและรสชาติรวมถึงเนื้อสัมผัสที่คงที่ และดีที่สุด เรียกได้ว่าเป็นศาสตร์ที่ยังคงค้นหาไม่รู้สิ้น เพื่อสนองลิ้นคนบริโภคและส่งเสริมเข้าสู่ระดับอุตสาหกรรม อย่างในปี ๑๙๙๘ ก็มีการรายงานการศึกษาผลของเวลาในการผสมน้ำเต้าหู้กับเกลือ เพื่อก่อวุ้น รวมถึงขนาดของใบพัดในการกวนผสมว่ามีผลต่อเนื้อสัมผัสของวุ้นอย่างไร แบบไหนดีที่สุดในการผลิตระดับอุตสาหกรรม ล่าสุดเป็นการรายงานการศึกษาในปี ๒๐๐๗ ในวารสาร วิศวกรรมเคมีและกระบวนการผลิต (Journal of Chemical Engineering and Processing) ที่ดูเรื่องอุณหภูมิของน้ำเต้าหู้ก่อนที่จะทำการก่อวุ้น ว่าควรทำให้มีอุณหภูมิสองระดับ คือ เริ่มต้นทำให้ร้อนที่ ๗๐ องศาเซลเซียส เป็นเวลา ๑๐ นาที แล้วเป็น ๑๐๐ องศาเซลเซียส อีก ๕ นาที ก่อนก่อวุ้น ซึ่งผลผลิตจะดีกว่าการทำการต้มที่ความร้อนระดับเดียวอย่างที่เคยทำกันมาตั้งแต่โบราณ
เห็นหรือเปล่าครับว่าการศึกษาค้นคว้าไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆ มนุษย์นี่ช่างสรรหาคำถามเพื่อการพัฒนาเสียเหลือเกิน ฉบับนี้ได้หอมปากหอมคอกับคุณสมบัติการเป็นวุ้นของโปรตีนในอาหารไปพอสังเขป โดยเฉพาะเรื่องราวของเต้าหู้ คราวหน้าผมจะเอาเรื่องเกลือ และหินเต้าหู้มาขยายความเล่าสู่กันฟังต่อไปนะครับ สำหรับฉบับนี้ต้องลาน้องๆ ไปก่อน สวัสดีครับ...
เอกสารอ้างอิง
Belitz, H.-D., Grosch, W., and Schieberle, P. Food Chemistry. 3rd edition. ; translation from the fifth German edition by M.M. Burghagen. Berlin: Springer-Verlag. 2004.
Cai, T.D. and Chang, K.C. Characteristics of production-scale tofu as affected by soymilk coagulation method: propeller blade size, mixing time, and coagulant concentration. Food Research International. Vol.31 (4). 289-295. 1998.
Wang, L.J. et al. Application of two-stage ohmic heating to tofu processing. Chemical Engineering and Processing. Vol.46. 486-490. 2007.
-
1289 เรียนวิทยาศาสตร์จากเต้าหู้แผ่น /article-science/item/1289-science-and-mathematicsเพิ่มในรายการโปรด