เรียนรู้อะไรจากลมฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลง
...เรียนรู้อะไรจากลมฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลง...
โดย ดร.เทพกัญญา พรหมขัติแก้ว
นับตั้งแต่คำว่า “ภาวะโลกร้อน” กลายเป็นคำฮิตติดปากคนไทย สังคมได้เริ่มให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพลมฟ้าอากาศ และภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ฝนไม่ตกต้องตามฤดู ภัยแล้ง น้ำท่วม หรือพายุหมุน (Cyclone) ซึ่งนับวันดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และ “ภาวะโลกร้อน” ได้ตกเป็นจำเลยของสังคม ที่คนทั่วไปมักจะกล่าวอ้างว่าเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพลมฟ้าอากาศและการเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรง เช่น ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดภัยแล้ง ภาวะโลกร้อนทำให้พายุหมุนเกิดบ่อยขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือภาวะโลกร้อนทำให้น้ำท่วม โดยบางครั้งผู้กล่าวอ้างไม่ได้เข้าใจอย่างแท้จริงถึงความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลของปรากฏการณ์เพื่อที่จะอธิบายว่าภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดผลกระทบเช่นนั้นได้อย่างไร และขาดหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ที่รองรับข้ออ้างเหล่านั้น การกระตุ้นให้สังคมมีส่วนร่วมในการหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสภาพลมฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เป็นเรื่องเลื่อนลอยและไกลตัว รวมทั้งไม่สามารถนำไปสู่การวางแผนและการหาแนวทางป้องกันแก้ไขได้อย่างตรงจุด
การจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จึงควรเข้ามามีบทบาทในการกระตุ้นและส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้เรียน คำถามที่ว่าจะสอนอะไรเกี่ยวกับสภาพลมฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงและสอนอย่างไร คงเป็นคำถามสำคัญของครูวิทยาศาสตร์หลายๆ ท่าน ในมาตรฐานการเรียนรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 2546) ได้ระบุ สาระ มาตรฐานการเรียนรู้ ตลอดจนผลการเรียนรู้ที่คาดหวังสำหรับการจัดการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ลมฟ้าอากาศ (Weather) ภูมิอากาศ (Climate) และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ไว้ดังนี้
สาระที่ 6: กระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก
มาตรฐาน ว 6.1: เข้าใจกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนผิวโลกและภายในโลก ความสัมพันธ์ของกระบวนการต่างๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และสัณฐานของโลก มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น ป.4-ป.6
ข้อ 5: สำรวจตรวจสอบอุณหภูมิ ความชื้นและความดันของบรรยากาศ และอธิบายองค์ประกอบเหล่านี้ รวมทั้งสภาพภูมิประเทศที่ทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีผลต่อวัฏจักรน้ำ
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ป.5
ข้อ 26: วัดอุณหภูมิของอากาศในท้องถิ่น สืบค้นข้อมูลและอธิบายความชื้น ความดันบรรยากาศและผลของการเปลี่ยนแปลง
ข้อ 27: อธิบายปัจจัยที่ทำให้อากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีผลต่อวัฏจักรน้ำ
มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น ม.1-ม.3
ข้อ 1: สืบค้นข้อมูล อภิปรายเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางลมฟ้าอากาศ แปลความหมายจากการพยากรณ์อากาศ อธิบายผลของลมฟ้าอากาศต่อการดำรงชีวิต และสิ่งแวดล้อม
ข้อ 2: สืบค้นข้อมูล วิเคราะห์ อภิปราย และอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของโลก และกิจกรรมที่เกิดจากมนุษย์ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลก ซึ่งส่งผลต่อการดำรงชีวิตและสิ่งแวดล้อม
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ม.1
ข้อ 45: วัดและอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิ ความชื้นและความกดอากาศในท้องถิ่น
ข้อ 46: สังเกตสืบค้นข้อมูล อธิบายและเขียนสรุปการเกิดเมฆ ชนิดของเมฆ การเกิดฝน
ข้อ 47: สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำฝนในท้องถิ่น วัดปริมาณน้ำฝนและอธิบายผลของปริมาณน้ำฝนต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
ข้อ 48: สืบค้นข้อมูล เขียนรายงาน และอธิบายการเกิดลม และผลต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
ข้อ 49: อธิบายและเสนอแนะวิธีป้องกันภัยที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางลมฟ้าอากาศ
ข้อ 50: สืบค้นข้อมูล แปลความหมายของสัญลักษณ์และข้อความในพยากรณ์อากาศและอธิบายความสำคัญของการพยากรณ์อากาศ
ข้อ 51: วิเคราะห์ข้อมูลและอธิบายสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลก
ข้อ 52: สืบค้นข้อมูลอธิบายและยกตัวอย่างปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตและสิ่งแวดล้อม
จากมาตรฐานการเรียนรู้และผลการเรียนรู้ที่คาดหวังข้างต้น ผู้เรียนควรได้เรียนรู้ในหัวข้อสำคัญอย่างน้อย 8 หัวข้อ ดังต่อไปนี้
1) อุณหภูมิของอากาศ ความชื้นของอากาศและความดันของบรรยากาศ
2) ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และผลต่อวัฏจักรน้ำ
3) การเกิดเมฆ และชนิดของเมฆ
4) การเกิดฝน การวัดปริมาณน้ำฝน และผลของปริมาณน้ำฝนต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
5) การเกิดลม และผลต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
6) วิธีป้องกันภัยที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางลมฟ้าอากาศ
7) ความหมายและความสำคัญของการพยากรณ์อากาศ
8) สาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลก และผลต่อการดำรงชีวิตและสิ่งแวดล้อม
หากสังเกตให้ดีจะพบว่าหัวข้อ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลกและผลกระทบ ซึ่งเป็นหัวข้อที่เกี่ยวกับข้องกับภาวะโลกร้อน ถูกจัดให้สอนในลำดับท้ายสุด เนื่องจากผู้เรียนจำเป็นต้องอาศัยความรู้พื้นฐานจากแนวคิดเกี่ยวกับลมฟ้าอากาศและภูมิอากาศ ซึ่งการปูพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นในเรื่องนี้จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถตอบโจทย์ปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและสังคมที่ตนอยู่ได้ด้วยความเข้าใจ
แม้ว่าการจัดการเรียนรู้ในหัวข้อเหล่านี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับครูวิทยาศาสตร์ แต่ก็มีความท้าทายในแง่การติดตามข้อมูลข่าวสารและความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ที่มีความก้าวหน้าเพิ่มพูนขึ้นตลอดเวลาและในแง่การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องและส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในแนวคิดหลักที่สำคัญ
ปัจจุบันมีแหล่งเรียนรู้ สื่อและอุปกรณ์การเรียนรู้จำนวนมากที่ผู้สอนสามารถนำมาใช้ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่อง ลมฟ้าอากาศ (Weather) ภูมิอากาศ (Climate) และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของหนังสือ โปสเตอร์ สิ่งพิมพ์ วิดีทัศน์ สารคดี โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลบนเว็บไซต์เพื่อการศึกษาต่างๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ
ตัวอย่างเว็บไซต์เพื่อการศึกษาที่เกี่ยวข้อง (ถ้าเป็นไปได้อย่างลงรูปหน้าเว็บเพจ)
- โครงการวิทยาศาสตร์สภาวะแวดล้อมและสิ่งแวดล้อมศึกษา นานาชาติ (The Global Learning and Observations to Benefit the Environment Program/ The GLOBE Program) URL: http://globethailand.ipst.ac.th/default.asp โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเว็บไซด์ที่เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและระดมความคิดในเรื่องสิ่งแวดล้อมระหว่างนักเรียนของโรงเรียนที่เป็นสมาชิกโดยผ่านทาง internet
- ชุดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (Learning module on Earth Science and Astronomy) URL: http://www.lesa.in.th/ ของ ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (The LESA Project) ร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในเว็บไซต์ประกอบไปด้วยเนื้อหาความรู้และแนวทางการจัดกิจกรรมการทดลองที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้สอนสามารถนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนได้
- ความรู้อุตุนิยมวิทยา URL: http://www.tmd.go.th/info/info.php ของกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทย (Thai Meteorological Department) ได้รวบรวมเนื้อหาทางวิชาการที่เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งผู้เรียนสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเองได้
- โครงการโรงเรียนพิทักษ์ภูมิอากาศ (Schools for Better Climate) URL: http://www.thai-sbc.org/study.html โดยฝ่ายกิจกรรมภาคสนาม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในเว็บไซต์ได้เสนอแนวทางการจัดการเรียนรู้เพื่อการพิทักษ์ภูมิอากาศ สำหรับการจัดการเรียนรู้ในระดับมัธยมศึกษาช่วงชั้นที่ 3 (ม.1-ม.3)
นอกจากตัวอย่างเว็บไซต์เพื่อการเรียนรู้ของไทยแล้ว ยังมีเว็บไซต์ของต่างประเทศอีกจำนวนมากที่ครูวิทยาศาสตร์สามารถค้นหาแนวทางการจัดกิจกรรมและข้อมูลความรู้ที่ทันสมัย โดยอาจใช้ Search Engine เช่น Google ในการค้นหาด้วยการพิมพ์คำว่า “Climate Change Lesson Plans”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความรู้ในเรื่องลมฟ้าอากาศ (Weather) ภูมิอากาศ (Climate) และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) จะมีเพิ่มพูนมากขึ้นและแหล่งเรียนรู้ สื่อและอุปกรณ์การเรียนรู้จะมีพัฒนาการที่ทันสมัยและน่าสนใจยิ่งขึ้น ในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ยังควรคำนึงถึงพื้นฐานความรู้เดิมของผู้เรียน และจัดลำดับกิจกรรมการเรียนรู้ให้มีความต่อเนื่องโดยเริ่มจากความรู้พื้นฐานที่สำคัญขึ้นไปเป็นลำดับ ตลอดจนควรมีการสอนการเชื่อมโยงองค์ความรู้ให้มองโลกแบบเป็นองค์รวมทั้งระบบ เพื่อผู้เรียนจะสามารถเชื่อมโยงและสร้างองค์ความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ!
เอกสารอ้างอิง
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. 2546. การจัดสาระการเรียนรู้กลุ่มวิทยาศาสตร์ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน. กรุงเทพ.
-
1292 เรียนรู้อะไรจากลมฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลง /article-science/item/1292-weather-changedเพิ่มในรายการโปรด