ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ VS ภาพยนตร์บันเทิงแนว Sci Fi
ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ VS ภาพยนตร์บันเทิงแนว Sci Fi
ในสายตาของนักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์
ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์
สินีนาฎ ทาบึงกาฬ
ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ นักวิทยาศาสตร์ จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) และเป็นนักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานการเขียนเรื่องทางวิทยาศาสตร์มากมาย หนึ่งในนั้นคือ หนังสือ "วิทยาศาสตร์ในสตาร์วอร์ส" เป็นหนังสือที่วิเคราะห์และอธิบาย ปรากฏการณ์ต่างๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้
ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสารคดีวิทยาศาสตร์ มีความแตกต่างจากภาพยนตร์บันเทิงที่นำเนื้อหามาจากเนื้อหาจากนิยายวิทยาศาสตร์ หรือ ไซไฟ (science fiction หรือ sci-fi) อย่างไรนั้น มาเล่าทัศนะสู่กันฟัง
ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้กับภาพยนตร์บันเทิงแนว Sci Fi อาจารย์คิดว่าอย่างไหนดีกว่ากัน
คงตอบได้ยากนะครับว่าแบบใดจะดีกว่า อันที่จริงแล้วผมมองว่าทั้งภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ที่อาจจะออกในแนวสารคดีสักหน่อย กับภาพยนตร์ไซ-ไฟ ต่างก็สามารถให้ความรู้ ความบันเทิง และสร้างแรงบันดาลใจไม่แตกต่างกัน ส่วนที่ต่างกันจริงๆ น่าจะเป็นว่าผู้สร้างมีความสามารถหรือ “มือถึง” เพียงใด ในแง่มุมหนึ่ง คงคล้ายๆ กับคุณครูที่สอนหนังสือ ทุกคนอาจจะพบเห็นด้วยตัวเองได้ว่า ไม่ว่าหัวเรื่องที่เรียนจะยากเย็นเพียงใด หากผู้สอนมี “เทคนิคการสอน” ที่ดี และทำให้การสอนนั้น “เข้าถึงได้” และ “สนุก” สำหรับผู้เรียน ก็จะทำให้ดูเหมือนกับว่าเรื่องนั้นมันง่ายลงไปอีกเยอะเลยนะครับ
สื่อที่จุดประกายใจรักวิทยาศาสตร์ให้แก่อาจารย์ ในช่วงที่เรียน หรือตัดสินใจที่จะเรียนชีววิทยาคืออะไร เพราะอะไร
แต่ละสื่อก็ดูจะมีส่วนอย่างละนิดละหน่อยนะครับ ผมเป็นคนที่สนใจอะไรเยอะแยะไปหมดตั้งแต่เด็กนะครับ ผมอ่านหนังสือจนสายตาสั้นตั้งแต่เด็กเลยครับ ป. 2 ก็เริ่มสายตาสั้นเป็นเรื่องเป็นราวแล้วครับ ส่วนหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร ก็ผ่านตามานับไม่ถ้วน (อันที่จริง ควรบอกว่าไม่ได้นับมากกว่าเพราะถ้านับกันจริงๆ คงจะถ้วนอยู่ แม้ว่าจะมาก – ฮา) ผมว่าผมดูภาพยนตร์แล้วน่าจะหลายพันเรื่อง คงจะมีแต่วิทยุนะครับที่ไม่ค่อยจะได้ข้องเกี่ยวด้วยสักเท่าไหร่
แต่หากจะให้ตัดสินกันให้เด็ดขาดลงไป คงจะเป็นพวกนิตยสารและหนังสือเล่มนี่แหละครับ ที่ส่งผลต่อชีวิตผมมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ชุด “ออบิท” และอีกชุดหนึ่งของสำนักพิมพ์ดวงกมลที่มีคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการให้ในชุดนั้น นิตยสารทักษะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มิติที่ 4 โนวา รู้รอบตัว โลกวิทยาศาสตร์ (ยุคเก่าที่ อ. วิชัย เชิดชีวศาสตร์ เป็น บก.) ฯลฯ จนถึงยุคหลังมาหน่อยที่ผมเองได้มีโอกาสเข้ามาร่วมเป็นนักแปล นักเขียนด้วยเช่น รู้รอบตัว และอัพเดท
สื่อต่างๆ เหล่านี้สามารถให้ “ความลึก” ทางวิทยาศาสตร์ ในระดับที่สื่ออื่นๆ ในยุคเดียวกันไม่สามารถให้ได้ เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะโดนอินเทอร์เน็ตแซงหน้าไปได้เมื่อไหร่?
อันที่จริง น่าจะนับรวมอาจารย์วิทยาศาสตร์หลายๆ ท่านที่เป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจในเรื่องของความรักการเรียนรู้ ความเสียสละทุ่มเทให้กับการสอน รวมไปถึงประวัติของบรรดานักวิทยาศาสตร์ในอดีตบางคนที่นึกถึงในตอนนี้แล้วยังขนลุกอยู่เลยครับ เช่น ไมเคิล ฟาราเดย์ ที่ในวัยเด็กมีฐานะยากจนข้นแค้นมาก จนต้องไปทำงานเป็นลูกมืออยู่ในร้านซ่อมหนังสือ จนวันหนึ่ง ก็มีคนส่งสารานุกรมบริแทนนิกามาให้ซ่อมปก ทำให้ ฟาราเดย์ได้มีโอกาสตะลุยอ่านสารานุกรมดังกล่าวใต้แสงเทียนอยู่พักใหญ่ ก่อนจะต้องจัดส่งหนังสือคืนให้กับทางเจ้าของหนังสือ ความมุมานะของฟาราเดย์บวกกับอัจฉริยภาพของเขา ทำให้เขาไปสมัครเป็นเด็กล้างหลอดในห้องทดลอง เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ช่วย และกลายมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ในที่สุด ไม่แค่เป็นนักวิทยาศาสตร์แต่เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่โลกเคยมี ไม่เชื่อลองไปหาอ่านประวัติของเขาดูนะครับ ฟาราเดย์ค้นพบหลายเรื่องซึ่งแตกต่างหลากหลายมาก แต่ทุกเรื่องล้วน “ล้ำยุค” มากสำหรับความคิดของคนในยุคเขา ... แม้แต่กับอัจฉริยะอีกหลายๆ คนในยุคของเขาที่คิดว่าเขาผิด!
อาจจะกล่าวได้ว่าผมโชคดีกว่าเด็กอีกมากและผู้ใหญ่อีกไม่น้อยที่สามารถค้นหาว่า ตัวเองชอบในเรื่องใดๆ และสามารถทำสิ่งใดได้ดีตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งส่งผลเป็นอย่างมากต่อ “งาน” และ “ความเป็นตัวตน” ของผมในทุกวันนี้
เคยประทับใจภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ หรือหนังบันเทิง Sci Fi เรื่องไหนเป็นพิเศษไหมคะ
คุณมีพื้นที่ไม่พอให้ผมบอกชื่อหนังไซไฟที่ผมรักทั้งหมดหรอก (ฮ่า ฮ่า)
เอาแค่ตัวอย่างก็แล้วกันนะครับ เรื่อง Contact ที่ทำมาจากหนังสือที่คาร์ล เซแกนเขียนนี่ แน่นอนว่าต้องอยู่ในรายชื่อ สตาร์วอร์สก็เป็นแรงบันดาลใจระดับที่ทำให้ผมลุกขึ้นมาลงมือเขียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของสิ่งที่ปรากฏอยู่ในเนื้อหาของเรื่อง สตาร์เทร็คปีแรกๆ ที่เป็นซีรีส์ทางโทรทัศน์ก็มีเนื้อหาแปลกใหม่น่าสนใจมาก แม้ว่าเทคนิคด้านภาพจะยังไม่ดีนัก (อารมณ์ประมาณเดียวกับ “มังกรหยก” ภาคแรกกับภาคล่าสุดยังไงยังงั้นเลยครับ) Twilight Zone ที่เป็นซีรีส์เก่าของช่อง 3 ในอดีตก็มีเนื้อหาเป็นไซ-ไฟบ้าง แฟนตาซีบ้าง สนุกและน่าสนใจมาก
หนังเรื่องแรกๆ ของสปีลเบิร์กนี่ก็ลืมไม่ลง อย่าง ET นี่เป็นความลงตัวของไซไฟกับเรื่องเล่าแบบนิทานในโลกยุคใหม่ที่งดงามมาก (เสียดายหน่อยที่นักวิทยาศาสตร์เป็นตัวร้ายในเรื่องซะงั้น) “เอเลี่ยน” 2 ภาคแรกนี่เยี่ยมมาก “คนเหล็ก” นี่ก็เป็นก้าวกระโดดด้านเทคนิค Computer Graphics ที่น่าสนใจ ถ้าใหม่หน่อยก็คงจะเป็น The Matrix ที่เนื้อหาออกเชิงปรัชญาด้วย
อาจารย์คิดว่าการจัดเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครึ้งที่ 3 แล้วนี้มีข้อดีอย่างไร และควรจะจัดไปเรื่อย ๆ ไหม
ในสถานการณ์แบบปัจจุบันนี้ ผมว่าขอให้เพียงมีกิจกรรมในรูปแบบใดก็ได้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นบ้าง ก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยแล้วล่ะครับ ขอเพียงคนไทย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เริ่มรู้สึก “ชื่นชม” และ “สนใจ” กับอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น ก็จะทำช่วยนำไปสู่ “พื้นฐานนิสัยทางสังคม” ที่สำคัญ ซึ่งจะทำให้แก้ปัญหาใหญ่ๆ ของประเทศทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้ง่ายขึ้นอีกเยอะเลยครับ
สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาใหม่ๆ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และปัญหายาก ซึ่งต้องใช้ “ความคิด” และ “หลักเหตุผล” ในการไตร่ตรองและตัดสินใจ ต้องการ “ข้อมูล” ซึ่งเป็นความจริงและของจริง พิสูจน์ได้ เรื่องอย่างการที่มีคนพูดอะไรลอยๆ พร้อมกับยกกระดาษขึ้นมาปึกหนึ่งแล้วบอกว่า ข้อมูลทั้งหมดอยู่ในนั้น แต่เปิดเผยให้คนทั่วไปทราบไม่ได้ น่าจะหมดไปจากสังคมไทยเสียที
เรื่องเหล่านี้ต้องอาศัยความอุตสาหะและความร่วมมือร่วมใจกันของคนในสังคมไม่น้อย... ผมกำลังพูดถึงในระดับประชาชนทั่วไปเลยนะครับ ไม่ใช่ระดับผู้กำหนดนโยบายด้วย แต่ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาจะเกิดขึ้นได้ไม่ได้เลย ถ้าคนไทยยังขาด “กระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์”
ดังนั้น เริ่มจากทำให้ “สนใจ” จากนั้นก็เริ่ม “พัฒนา” จนมีกระบวนการคิดเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น สังคมไทยปัจจุบันยังอ่อนวิทยาศาสตร์อยู่มาก เพราะเราเน้นที่การท่องจำ “เนื้อหา” ทางวิทยาศาสตร์ในห้องเรียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เปลี่ยนแปลงได้และไม่ตายตัว ในขณะที่เรากลับไม่เน้นสิ่งที่สำคัญเท่าๆ กันหรืออาจจะสำคัญกว่าคือ “กระบวนการคิดและพิสูจน์แบบวิทยาศาสตร์” กันในห้องเรียนเท่าไหร่ ครับ ... อาจจะเป็น “ความหวัง” และ “ความฝัน” ที่ไกลสักหน่อย แต่ผมก็ยังอดไม่ได้ที่จะต้องตั้งความหวังในเรื่องนี้อยู่ดี
สำหรับผู้จัดงานดีๆ เหล่านี้ ผมขอเป็นกำลังใจให้ครับ J
-----------------------
-
1317 ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ VS ภาพยนตร์บันเทิงแนว Sci Fi /article-science/item/1317-sci-fiเพิ่มในรายการโปรด