เส้นทางสู่ครูไอทีมืออาชีพ สสวท. แนะเทคนิคสอนเด็กทำโครงงานคอมพิวเตอร์
เส้นทางสู่ครูไอทีมืออาชีพ สสวท. แนะเทคนิคสอนเด็กทำโครงงานคอมพิวเตอร์
(สินีนาฎ ทาบึงกาฬ/รายงาน)
“สอนเด็กทำโครงงานน่ะเหรอ.. แค่โยนงานให้ เด็กก็ไปทำมาเอง รอตรวจอย่างเดียว...สบาย”
คิดอย่างนั้นคงไม่ใช่ครูมืออาชีพ แต่จำใจต้องทำอาชีพครูมากกว่ามั้งเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)จัดประชุมปฏิบัติการพิจารณาร่างคู่มือครูสาระการเรียนรู้เพิ่มเติมวิชาโครงงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ระดับมัธยมศึกษา ระหว่างวันที่ 23-27 เมษายน 2550 ณ โรงแรมรอแยล เบญจา เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ครูในการจัดการเรียนการสอนวิชาโครงงานเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับผู้สอนรายวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ จากประสบการณ์ทำงานจริงของครูมืออาชีพ
อาจารย์นิพนธ์ ศุภศรี ผู้ชำนาญสาขาคอมพิวเตอร์ สสวท. ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า คู่มือครูดังกล่าว พัฒนาขึ้นมาให้ครูสอนโครงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามกระบวนการการสอนโครงงานคอมพิวเตอร์ ครูบางท่านยังทำแค่มอบงานให้เด็กไปทำโดยไม่สนใจกระบวนการคิดของเด็ก คิดว่าเป็นวิชาที่สอนสบาย แต่การสอนโครงงานนั้นเป็นวิธีพัฒนาความฉลาดของเด็ก เพราะมีกระบวนการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ วางแผนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ และได้ทำด้วยตนเอง ข้อสำคัญคือนักเรียนทำตามความสนใจ ตามความรู้ ความถนัดของเขา เด็ก ๆ จึงมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ รู้สึกอยากทำ ไม่ใช่ถูกครู ยัดเยียดให้ทำ การที่จะเป็นครูสอนโครงงานจึงต้องมีเทคนิคการจูงใจและควบคุมให้นักเรียนบริหารด้วยตัวเอง
สาขาคอมพิวเตอร์ สสวท. ให้ความสำคัญกับการสอนโครงงานนักเรียนมาโดยตลอด มีการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ชุดกล่องสมองกล มาตั้งแต่ ปี พ.ศ 2546 และส่งเสริมให้โรงเรียนนำกล่องสมองกลไปจัดการเรียนการสอนเพื่อฝึกการคิดการแก้ปัญหาและนำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ และยังจัดประกวดแข่งขันด้านซอฟท์แวร์และโครงงานระดับประเทศด้วย
ในส่วนของคู่มือครูวิชาคอมพิวเตอร์ สาระการเรียนรู้เพิ่มเติม วิชาโครงงานคอมพิวเตอร์นี้ จะทำขึ้นมาให้ทันใช้ก่อนเปิดเทอมเดือนพฤษภาคม ปีหน้า (พ.ศ. 2551) สำหรับแสดงเนื้อหาความรู้ แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ให้ผู้สอนหรือสถานศึกษา นำไปใช้เป็นแนวทาง ตัวอย่าง หรือเป็นทางเลือกในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
“จุดเด่นของคู่มือครูชุดนี้ก็คือเราได้รวบรวมความรู้จากหลักการและประสบการณ์จากครูผู้สอน วิชาโครงงานคอมพิวเตอร์แล้วประสบความสำเร็จ เพื่อให้ครูผู้สอนอ่านแล้วนำไปใช้ได้เลย และเข้าใจกระบวนการสอนโครงงานได้อย่างถูกต้อง ภายในเล่มจะมีสื่อการสอน ตัวอย่างโครงงานต่าง ๆ มีเทคนิค การส่งเสริมผู้เรียนและให้คำปรึกษาโครงงาน และข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ” อาจารย์นิพนธ์ ศุภศรี กล่าว
นักเรียนโรงเรียนพรหมานุสรณ์ เรียนโครงงานคอมพิวเตอร์หน้าเสาธง
อาจารย์ปรีชา จันทร์เปล่ง โรงเรียนพรหมานุสรณ์ จังหวัดเพชรบุรี คุณครูคนเก่ง ซึ่งเป็น วิทยากรแกนนำวิชาคอมพิวเตอร์ของ สสวท. มาแล้ว 12 ปี หนึ่งในทีมงานจัดทำคู่มือครูดังกล่าว กล่าวว่า
การสอนโครงงานมีประโยชน์ต่อครูตรงที่ทำให้ครูเกิดความคิดกว้างขึ้น เพราะเมื่อนักเรียนคิดงานหลากหลาย ครูก็จะได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอเพื่อที่จะตามนักเรียนให้ทันและให้คำปรึกษาได้
“สิ่งที่ภูมิใจก็คือเมื่อเราสอนแล้วนักเรียนคิดเป็น ทำงานออกมาได้สำเร็จ จากที่เราได้ติดตามนักเรียนที่เราสอนไป ปรากฏว่าบางส่วนเกิดความประทับใจจนเป็นแรงบันดาลใจให้เรียนต่อมหาวิทยาลัยด้านคอมพิวเตอร์ และก็ทำโครงงานต่อยอดขึ้นไปเรื่อย ๆ เมื่อเรียนสูงขึ้น”
อ. ปรีชา ได้เล่าถึงประสบการณ์การสอนโครงงานว่า ก่อนหน้านี้ได้นำมาจัดกิจกรรมในรูปแบบของชุมนุมคอมพิวเตอร์มาเรื่อย ๆ ช่วงหลังสอนในวิชาเลือกเพิ่มเติม เพราะโรงเรียนไม่มีชั่วโมงให้ แต่ตนเองเห็นความสำคัญ จึงรับอาสาสอนเองโดยไม่ต้องจัดชั่วโมงสอน พยายามหาคาบว่างของนักเรียนชั้น ม. 6 จำนวน 4 ห้อง 160 คน แล้วไปสอนหน้าเสาธง ให้นักเรียนจับกลุ่ม ๆ ละ 3 คน ก็วางแผนว่าตรงไหนที่นักเรียนน่าจะเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ก็ทำใบความรู้แล้วไปชี้แจงหน้าเสาธง บางทีก็ใช้เวลาหลังจากเลิกแถวเคารพธงชาติ
“การที่เด็กจะคิดหัวข้อโครงงาน ไม่จำเป็นต้องคิดในห้องเรียน คิดที่ไหนก็ได้ เมื่อกลุ่มใดส่งชื่อเรื่องมาแล้วก็จะสัมภาษณ์พูดคุยกัน เพื่อให้เกิดความั่นใจว่าเขาเขียนเค้าโครง หรือโครงการได้ เมื่อนักเรียนส่งโครงการมาจนแน่ใจว่าทำได้ ก็ให้พวกเขาทำแล้วติดตามความก้าวหน้าเป็นระยะ ทำเหมือนเขามาพบหมอ ครูมีใบนัดให้เข้ามาตรวจเป็นระยะ และมีแฟ้มประวัติงานประจำกลุ่มเอาไว้บันทึกความก้าวหน้า ส่วนการติดตามงานก็ทำที่หน้าเสาธง ผลที่ออกมาได้ตามเป้า 70% เพราะมีบางส่วนที่ไม่สนใจ ต้องติดตามเป็นพิเศษ”
โครงงานคอมพิวเตอร์ที่นักเรียนทำ จะเห่อตามกันไปเป็นรุ่น ๆ บางคนทำ MV ภาพยนตร์ คาราโอเกะ ส่วนโครงงานด้านการเขียนโปรแกรมมีน้อยมาก ต้องเป็นเด็กที่สนใจด้านการเขียนโปรแกรมจริง ๆ โครงงานอีกอย่างที่นักเรียนทำ คือ การใช้ SCI-BOX หรือกล่องสมองกลมาทำสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ของตัวเอง
สำหรับโครงงานล่าสุดที่ อ.ปรีชา ประทับใจนั้น ชื่อ “หวยใต้ดินออนไลน์” ของนักเรียน ม. 6 รุ่นที่แล้ว ซึ่งคว้ารางวัลที่ 3 จาก NECTEC มาได้ เป็นซอฟท์แวร์จัดการระบบซึ่งสามารถวางแผนจัดการได้ดี เช่น ใช้ระบบบัตรโทรศัพท์เติมเงิน ถ้าได้รางวัลเงินก็จะไปเข้าบัญชีเองอัตโนมัติ
“ผมอยากให้ครูหันมาสอนโครงงานเด็กมากขึ้น เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ แต่ครูต้องใจเย็น ๆ อย่าบังคับความคิดเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กคิดออกให้ได้ เพราะหลักการสำคัญ คือโครงงานต้องมาจากความสนใจของนักเรียนอย่างแท้จริง ครูจึงต้องกระตุ้นเรื่องนี้ให้ได้ก่อน”
พี่ช่วยน้อง ในแคมป์โครงงานทุกวันศุกร์ เทคนิคของครูราชสีมาวิทยาลัย
โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นโรงเรียนต่างจังหวัดที่ต้องจับตามอง เพราะขึ้นชื่อเรื่องโครงงานคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะไปสู่สนามประลองที่ไหนในประเทศไทย ก็ได้รางวัลทุกครั้ง ผู้ที่ช่วยจุดประกาย และใจรักในการทำโครงงานคอมพิวเตอร์ของนักเรียนในสถานศึกษาแห่งนี้ คือ อาจารย์นิพนธ์ สมัครค้า หนึ่งในทีมวิทยากรแกนนำวิชาคอมพิวเตอร์ของ สสวท.
อ. นิพนธ์ เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้เริ่มต้นจากการเป็นชุมนุมคอมพิวเตอร์ก่อนตั้งแต่ 4-5 ปีที่แล้ว ส่วนตอนนี้ ลักษณะการสอนโครงงานของ อ. นิพนธ์ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบแรก สอนนักเรียนในชั้น โดยมุ่งให้เด็กได้เกิดกระบวนการคิด แต่ไม่ได้มุ่งเน้นให้ทำเข้าประกวดอะไร เพือ่ค้นหาและพัฒนาความสามารถของเด็ก ส่วนแบบที่สอง คือ คัดเลือกนักเรียนที่มีความสนใจตั้งเป็นชุมนุมคอมพิวเตอร์ โดยจัดค่ายทุกวันศุกร์แล้วให้นักเรียนกินนอนที่โรงเรียนหนึ่งคืน แล้วกลับบ้านเช้าวันเสาร์ เพราะที่ ร.ร. จะให้วันศุกร์ช่วงบ่ายว่าง เป็นกิจกรรมชุมนุมต่าง ๆ ตามความสนใจเด็ก เด็กจึงมีความพร้อมมาก เรียกว่า ส่งไปแข่งที่ไหนก็ไม่กลับมามือเปล่า
“พอมีการเข้าค่ายทุกอาทิตย์ ครูก็จะมีภาระเพิ่มขึ้น เทคนิคก็คือ ให้รุ่นพี่ที่เรียนต่อมหาวิทยาลัยไปแล้วมาช่วยสอน ใช้โปรแกรมที่สามารถพูดคุยและสอนทางไกลได้ โดยพี่ ๆ ไม่ต้องเดินทางมาเอง ก็มีการออนไลน์กันตอนกลางคืนระหว่างพี่จากมหาวิทยาลัยกับน้อ ง วันนี้พี่จากจุฬา ฯ นะ ส่วนอาทิตย์หน้าเป็นพี่จาก
ม. เกษตรศาสตร์ น้อง ๆ ก็ได้เทคนิคการทำโครงงานและสิ่งประดิษฐ์จากพี่ ๆ ที่แข่งขันแล้วได้รางวัลมาแล้วอย่างไม่หวงวิชา ซึ่งรุ่นพี่เขารู้ลึกกว่าครูซะอีก เพราเขาทำเองมากับมือแล้ว พอน้องได้รางวัลก็แบ่งให้พี่บ้างในฐานะที่มาช่วยสอน ทำให้เกิดความผูกพันกัน”
โครงงานของนักเรียนในปีนี้ที่ อ. นิพนธ์ชอบ ก็คือ “กล่องใส่ยาพูดได้” ซึ่งได้รางวัลที่ 2 จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ที่จัดโดย นสพ. เดลินิวส์ และ SCG ที่ประทับใจโครงงานนี้ก็เพราะนักเรียนทำโครงงานในช่วงที่ครูต้องไปผ่าตัด เลยลาพัก 1 เดือน ระหว่างที่ป่วยด้วยความเป็นห่วงก็โทรศัพท์พูดคุยให้คำปรึกษา โดยตลอด นักเรียนก็คิดเองทำเองได้จนสำเร็จ
อ. นิพนธ์บอกว่า ถ้าสอนนักเรียนทั่วไปที่ไม่ใช่เด็กเก่งจะต้องใจเย็น ๆ ไม่ต้องคาดหวังสูงว่านักเรียนต้องทำโครงงานในระดับที่เอาไปใช้แข่งขันได้ เพราะจุดหลักก้คือ ให้เด็กเกิดความคิดเป็นระบบ จะได้ไปทำงานที่ใหญ่ขึ้นได้ เพื่อให้มีโอกาสคัดเลือกชักชวนเด็กที่แววไปทำโครงานที่ใหญ่ขึ้นในอากสต่อไป พร้อมกับฝากคำแนะนำไปถึงเพื่อนครูว่า “การสอนโครงงาน ขั้นแรกต้องศึกษารูปแบบการจัดกิจกรรมการสอนโครงงานให้ถูกต้องตามขั้นตอน ต้องใจเย็น ๆ เพราะวิชานี้ในสายตาเด็กมองว่าค่อนข้างยาก กลัวว่าต้องลงทุนเยอะ เสียเวลาเยอะ ต้องพยายามทำความเข้าใจให้ดี และอย่าลืมเป้าหมายสำคัญคือวิธีสร้างความคิดพเอแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เอกสารที่ สสวท. กำลังทำขึ้นก็จะเป็นแนวทางในการสอนให้ครูได้อย่างสมบูรณ์และตรงกับสถานการณ์”
โครงงานเครื่องให้อาหารไก่ไข่อัตโนมัติ ฝีมือของนักเรียนโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ได้รางวัลที่ 2 จากการประกวดโครงงานคอมพิวเตอร์ ม. ปลาย ระดับประเทศ ประเภทประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน จาก สสวท. โดยนายสันติภาพ ชัยชนะ เจ้าของผลงานกล่าวว่า “ภูมิใจที่ได้ทำโครงงานนี้ เพราะได้ใช้ความคิดอิสระ ประทับใจในการทำงานเป็นทีม โครงงานนี้สามารถควบคุมโรคจากไก่สู่คนและป้องกันไม่ให้คนเป็นพาหะแพร่เชื้อได้จริง อีกทั้งควบคุมอายุของไก่ให้สัมพันธ์กับปริมาณอาหาร ไก่จะได้อาหารสม่ำเสมอ ผลผลิตก็จะมีคุณภาพ ถ้าเกษตรกรนำแนวคิดนี้ไปใช้จริงก็จะสะดวกต่อการขยายโรงเลี้ยงด้วย เพราะถ้าเพิ่มจำนวนไก่ที่เลี้ยงก็แค่เพิ่มรางเท่านั้น และ ต่อไปจะมีการพัฒนาโปรแกรมดังกล่าวให้ทันสมัยและสะดวกใช้กว่านี้แน่นอน”
ล่าสุด สสวท. ได้จัดการประกวดโครงงานคอมพิวเตอร์ แบ่งเป็นประเภทประยุกต์ใช้งาน ประเภทซอฟต์แวร์เพื่อการเรียนรู้ และซอฟต์แวร์เกม ในระดับ ม. ปลาย โรงเรียนเดียวกัน สามารถส่งได้หลายโครงงาน และหลายประเภทของโครงงาน โดยรายชื่อนักเรียนต้องไม่ซ้ำกัน ผู้สนใจส่งใบสมัคร พร้อมรายงานฉบับสมบูรณ์มาที่ สสวท. ภายในวันที่ 4 มิ.ย. 2550
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่เว็บไซต์สาขาคอมพิวเตอร์ สสวท. www.ipst.ac.th
***********************************************
-
1320 เส้นทางสู่ครูไอทีมืออาชีพ สสวท. แนะเทคนิคสอนเด็กทำโครงงานคอมพิวเตอร์ /article-science/item/1320-teacher-professional-itเพิ่มในรายการโปรด