การอ่านแบบมีส่วนร่วม
...การอ่านแบบมีส่วนร่วม...
ดร.สมศรี ตั้งมงคลเลิศ
ในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ ได้รับการพัฒนากระบวนการทางวิทยาศาสตร์และความคิดระดับสูง นั้น จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการจัดการเรียนการสอนในลักษณะของการเรียนการสอนอย่างมีส่วนร่วม (active teaching and learning ) การจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้ ครูต้องส่งเสริมและกระตุ้นให้นักเรียนรู้จักรับผิดชอบในการเรียนรู้ของตนเอง เปิดโอกาสให้เรียนรู้จากกิจกรรมที่หลากหลาย และมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ เช่น ให้ได้ออกแบบ วางแผนการสำรวจตรวจสอบและแก้ปัญหาด้วยตนเอง วางแผนในการประเมินผลงาน ทำงานเป็นกลุ่ม ร่วมอภิปราย ตลอดจนการพิจารณาไตร่ตรองผลงานของตนเอง หรือของคนอื่นแล้วสะท้อนความคิดออกมา
การจัดกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ในลักษณะนี้ จะช่วยให้นักเรียนมีความรู้สึกว่าตนมีส่วนร่วม เพราะนักเรียนเป็นผู้ทำกิจกรรม ความคิดเห็นหรือผลงานของนักเรียนได้รับการยอมรับ ซึ่งจะทำให้นักเรียนเข้าใจสาระวิทยาศาสตร์ได้ลึกซึ้ง สามารถพัฒนาทักษะในการจัดการองค์ความรู้จากประสบการณ์ที่ครูจัดให้ มีความเชื่อมั่นว่าสามารถแสวงหาสิ่งที่อยากรู้ได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังช่วยให้ครูมีเวลามากขึ้นในการดูแล อำนวยความสะดวก ให้กับนักเรียนเป็นรายบุคคล หรือนักเรียนที่ทำงานกันเป็นกลุ่ม ทำให้นักเรียนมีโอกาสในการเรียนรู้ได้เท่ากันทุกคน
อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ มักคิดว่า การจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ (active learning)โดยใช้วิธีการแบบสืบเสาะหาความรู้ (inquiry) นั้น ต้องให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ สำรวจตรวจสอบ เท่านั้น แต่ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่า การอ่านแบบมีส่วนร่วม (active reading)จากเนื้อหาสาระ บทความต่าง ๆ ในหนังสือ วารสารวิทยาศาสตร์ บนอินเทอร์เน็ตเป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญในการทำให้เกิดการเรียนรู้ในลักษณะของการสืบเสาะหาความรู้ ได้ (Osborne, 2002)
การอ่านแบบมีส่วนร่วม เป็นการอ่านอย่างมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำความเข้าใจความหมาย คำนิยาม ข้อชี้บ่งต่าง ๆ แปลความหมาย ตลอดจนระบุใจความสำคัญ เปรียบเทียบหาข้อแตกต่าง วิเคราะห์เหตุและผล จัดลำดับก่อนหลัง หาข้อสรุป และย่อความเรื่องที่อ่านได้ โดยทั่วไปการอ่านเพื่อจุดมุ่งหมายดังกล่าวจะมีลักษณะพื้นฐานของการอ่านร่วมกันคือ Survey- Question-Read-Recite-Review (SQ 3 R) เป็นรูปแบบที่นอกจากจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้แล้ว ยังทำให้เกิดเจตคติที่ดีต่อ การอ่านอีกด้วย
1. การอ่านแบบคร่าว ๆ (Survey/scan) เป็นการอ่านเพื่อสำรวจหัวข้อหรือเรื่องนั้น ๆ อย่างคร่าว ๆ ว่า เกี่ยวกับอะไร มีรูปภาพ กราฟ หรือไม่ รูปภาพหรือกราฟนั้น ๆ ช่วยเสริมความเข้าใจในเนื้อหาอย่างไร แล้วจึงอ่านเรื่องทั้งหมดคร่าว ๆ อีกครั้งเพื่อให้ทราบภาพรวม
2. การตั้งคำถาม (Question) เมื่ออ่านได้ภาพรวมคร่าว ๆ แล้ว ลองตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่อ่าน เช่น ประเด็นสำคัญของเรื่องที่อ่านคืออะไร มีข้อมูลอะไรบ้างที่สนับสนุนความคิดหลักที่สำคัญ เป็นต้น
3. การอ่านอย่างละเอียด (Read) ให้อ่านเนื้อหาสาระทั้งหมด แล้วตั้งคำถาม หรือใช้คำถามที่ได้ลองตั้งไว้แล้วในข้อ 2 ขณะอ่านให้คิด แปลความหมาย วิเคราะห์สิ่งที่อ่าน ควรขีดเส้นใต้ วงกลม ข้อความที่ยากหรือข้อความสำคัญหลัก ๆ ที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เมื่อพบเนื้อหาหรือข้อความที่สามารถตอบคำถามที่ตั้งไว้ ก็ลองตอบคำถามนั้น ๆ
4. การตรวจสอบความเข้าใจเนื้อหาที่อ่าน (Recite) โดยปิดเนื้อหาที่อ่านแล้วทบทวนคำถามและคำตอบ หากยังตอบคำถามไม่ได้ให้กลับไปดูเนื้อหาตอนนั้น ๆ อีกครั้ง และพยายามสื่อสิ่งที่อ่านนั้นเป็นภาพหรือแผนภาพเพื่อทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
5. การสรุป (Review) เป็นการสรุปสิ่งที่อ่านทั้งหมดด้วยคำพูดของตนเอง (ซึ่งแต่ละคนอาจมีวิธีการแตกต่างกัน) เพื่อดูว่าเข้าใจเนื้อหาสาระที่อ่านไปหรือไม่
ในการฝึกให้เกิดการอ่านแบบมีส่วนร่วมนั้น ตามวิธีที่กล่าวมาแล้วนั้น ครูอาจจัดกิจกรรมเพื่อให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของการอ่านดังกล่าวโดยใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลากหลายวิธีที่จะกล่าวต่อไปนี้ เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาการอ่านแบบมีส่วนร่วม เช่น
1. การเรียงลำดับ (Sequencing) เป็นวิธีที่ให้ผลดีวิธีหนึ่ง เนื้อหาสาระที่ให้อ่านจะจัดแบ่งแยกไว้แล้ว แต่จัดสลับไปมากันไม่เรียงลำดับ แล้วให้จัดเรียงลำดับให้ถูกต้อง
2. การเน้น (Emphasis) วิธีนี้เป็นการให้หาคำ หรือประโยคที่สำคัญในเนื้อหาที่ให้อ่าน ซึ่งจะช่วยทบทวนเนื้อหาที่อ่าน ในการเน้นนี้ควรสนับสนุนให้นักเรียนขีดเส้นใต้ วง หรือใช้ปากกาเน้นคำหรือข้อความสำคัญ ที่อาจเป็นข้อเท็จจริง ความคิดเห็น เป็นต้น
3. การเขียนแผนภาพ (Drawing diagram) การเขียนแผนภาพเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้นักเรียนเห็นภาพรวมของเนื้อหาสาระที่อ่าน การลำดับก่อนหลังของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่าย
4. การตั้งคำถาม (Devising questions) วิธีนี้เป็นการให้นักเรียนอ่านเนื้อหาแล้วตั้งคำถามในประเด็นที่สำคัญ พร้อมทั้งให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนคำถาม คำตอบกันเป็นการเรียนรู้จากกันและกัน ได้แลกเปลี่ยนคำถาม คำตอบกัน ครูควรให้มีการอภิปรายคำถามและคำตอบกันในกลุ่มเล็ก และอภิปรายทั้งชั้นด้วย จะช่วยทำให้เกิดการอ่านแบบมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น การที่นักเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เกิดความอยากรู้อยากเห็นทำให้เกิดแรงจูงใจในการอ่านมากขึ้น
วิธีดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่าการที่นักเรียนอ่านแล้วตั้งคำถาม หาคำตอบ หาความสัมพันธ์ของประเด็นจากเรื่องที่อ่าน ได้จัดลำดับ เขียนภาพหรือแผนภาพ นั้น ทำให้ได้พัฒนากระบวนการคิด และในการที่นักเรียนได้ร่วมอภิปรายกับเพื่อนทั้งในกลุ่มเล็ก และเพื่อนกลุ่มใหญ่ในชั้นเรียน ทำให้ได้มีโอกาสอย่างมากในการวิเคราะห์ การแสดงความคิดเห็นของผู้อื่นว่าสอดคล้องกับข้อมูลหรือไม่อย่างไร และสามารถระดมความรู้และความคิดของตน แล้วสะท้อนความคิดของตนออกมานั้น ช่วยให้นักเรียนพัฒนาความคิดได้ลึกซึ้งและกว้างไกลขึ้น หากสาระที่ให้เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ นักเรียนจะต้องแปลความหมายข้อมูล หรือจัดกระทำข้อมูลใหม่ เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ของข้อมูล หรือลงข้อสรุปข้อมูล ซึ่งนักเรียนจะได้พัฒนากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปด้วยจากการอ่าน ผ่านกระบวนการคิด การอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นักเรียนจะได้สร้างองค์รู้ด้วยตนเอง ซึ่งจัดว่าเป็นการสืบเสาะหาความรู้
ตัวอย่างกิจกรรมเพื่อฝึกให้เกิดการอ่านแบบมีส่วนร่วม
ตัวอย่างกิจกรรมต่อไปนี้จะช่วยให้ได้แนวทางในการดำเนินกิจกรรมเพื่อฝึกนักเรียนให้มีการอ่านแบบมีส่วนร่วม
ตัวอย่างที่ 1
ให้นักเรียนทำกิจกรรมต่อไปนี้
- อ่านเรื่อง ผลการใช้ปุ๋ยในการเกษตรกรรม
ในการทำเกษตรกรรม เกษตรกรจะใส่ปุ๋ยลงในแปลงพืชที่ปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตมาก ในเวลาอันสั้น เมื่อฝนตก น้ำจะชะล้างปุ๋ยลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง ซึ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำ เช่น พืชน้ำเจริญเติบโตขึ้นและแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว มีประชากรของพืชมีขนาดใหญ่และหนาแน่นมากจนทำให้สัตว์บางชนิด เช่น ปลา กุ้ง ไม่มีที่อยู่อาศัย เมื่อพืชน้ำเหล่านี้ตายลง แบคทีเรียในน้ำจะใช้ออกซิเจนย่อยสลายพืชให้เน่าเปื่อย ทำให้ออกซิเจนในน้ำนั้นลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สัตว์ที่อาศัยอยู่ตายเนื่องจากขาดแก๊สดังกล่าว แต่ถ้าน้ำในแหล่งน้ำนี้ที่ไหลไปตามกระแสน้ำห่างออกไปจากบริเวณเกษตรที่มีการใส่ปุ๋ย ก็จะได้รับแก๊สออกซิเจนเพิ่มขึ้นจนทำให้มีปริมาณของแก๊สนี้เข้าสู่ระดับปกติ
สัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำ บางชนิดมีความไวต่อปริมาณออกซิเจนในน้ำมาก บางชนิดมีชีวิตอยู่ได้เฉพาะเมื่อมีปริมาณแก๊สนี้มาก ถ้าปริมาณแก๊สลดลง สัตว์นี้ก็จะตาย แต่ก็มีสัตว์บางชนิดที่สามารถอยู่ได้แม้จะมีปริมาณออกซิเจนน้อยมาก
ตัวอ่อนแมลงหนอนปลอกน้ำ สามารถมีชีวิตในน้ำที่มีมลภาวะระดับปานกลาง และมีออกซิเจนพอประมาณ
ตัวอ่อนแมลงเกาะหิน พบเฉพาะในน้ำที่สะอาดเท่านั้น
ตัวอ่อนแมลงวันดอกไม้ สามารถอยู่ได้ในน้ำที่มีมลพิษมาก มีออกซิเจนในปริมาณน้อยมาก
หนอนตะกอน สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในน้ำที่ไม่มีออกซิเจน
2. ให้นักเรียน
2.1 ขีดเส้นใต้สีแดงใต้ข้อความที่แสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของการใส่ปุ๋ยของเกษตรกร
2.2 ขีดเส้นใต้สีเขียวใต้ข้อความที่แสดงถึงการที่ปุ๋ยไหลลงสู่แม่น้ำได้อย่างไร
2.3 ขีดเส้นใต้สีน้ำเงิน ใต้ข้อความที่แสดงให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในน้ำเมื่อปุ๋ยถูกชะลงแม่น้ำ
2.4 วงข้อความที่แสดงให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งมีชีวิตในน้ำ เมื่อปริมาณของพืชน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
2.5 ใช้หมึกสีเขียววงข้อความ สิ่งที่เกิดขึ้นกับพืชเมื่อพืชตายแล้ว
2.6 ใช้หมึกสีน้ำเงินวงข้อความ ที่กล่าวถึงปริมาณของแก๊สออกซิเจนในน้ำ
2.7 ขีดเส้นใต้ 2 เส้นใต้ข้อความที่กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อน้ำในแม่น้ำไหลไปเรื่อย ๆ ห่างไกลบริเวณที่มีการใส่ปุ๋ย
3. ให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้
3.1 หากแผนผังบริเวณแม่น้ำเป็นดังรูป และน้ำไหลจาก X ไป Y นักเรียนคิดว่า จะพบ ตัวอ่อนแมลงหนอนปลอกน้ำ, ตัวอ่อนแมลงเกาะหิน, ตัวอ่อนแมลงวันดอกไม้ และ หนอนตะกอน ในน้ำบริเวณใด ( 1, 2, 3, หรือ 4 ) ทำไมจึงคิดเช่นนั้น
3.2 สัตว์ชนิดใดที่คิดว่าจะพบได้ในน้ำบริเวณเหนือแปลงเกษตรที่มีการใส่ปุ๋ย
3.3 สิ่งมีชีวิตดังกล่าวข้างต้นนี้ สิ่งมีชีวิตใดจัดว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นตัวบ่งชี้มลภาวะ(pollution indiator species) ของน้ำได้ เพราะเหตุใดนักเรียนจึงคิดเช่นนั้น
3.4 อะไรมีผลให้ปริมาณแก๊สออกซิเจนในแม่น้ำเข้าสู่ระดับปกติ
3.5 นักเรียนคิดว่าจะนำสิ่งที่เรียนรู้นี้ไปใช้ในการสำรวจมลภาวะของแม่น้ำในชุมชนของ
นักเรียนได้อย่างไร ให้นักเรียนช่วยกันออกแบบการสำรวจ นำเสนอแล้วปฏิบัติ
กิจกรรมนี้ ฝึกนักเรียนให้อ่านอย่างมีจุดมุ่งหมายโดยเน้นให้เห็นจุดหรือข้อความที่สำคัญโดยให้ใช้ปากกาหมึกสีต่าง ๆ เน้นข้อความที่สำคัญ เช่น จุดประสงค์การใส่ปุ๋ย ผลที่เกิดขึ้นแก่น้ำในแม่น้ำ
และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ เป็นต้น แล้วให้ตอบคำถาม ซึ่งก่อนตอบคำถามนั้น นักเรียนต้องคิดวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญซึ่งได้เน้นไว้พร้อมทั้งพิจารณาความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ นอกจากนี้จากการอ่านนักเรียนยังได้เรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับวิธีการสำรวจมลภาวะ การศึกษาหรือสังเกตสิ่งมีชีวิตที่ใช้เป็นดัชนีชี้บ่งสภาวะของน้ำในบริเวณต่าง ๆ ได้ ซึ่งนักเรียนสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการศึกษาแหล่งน้ำในชุมชนได้
ตัวอย่างที่ 2
ให้นักเรียนทำกิจกรรมต่อไป
1. อ่านเรื่อง “วัฏจักรหิน”
หินอัคนี เป็นหินที่เกิดจากการแข็งตัวของหินเหลวภายในโลก ซึ่งเรียกว่า แมกมา เมื่อแมกมาดันแทรกตัวขึ้นมาจนถึงระดับหนึ่งก็จะแข็งตัวใต้เปลือกโลก เกิดการเย็นตัวและแข็งตัวอย่างช้า ๆ กลายเป็นหินที่มีผลึกแร่ขนาดใหญ่ เช่น หินแกรนิต เราจะเห็นหินนี้ได้เมื่อหินข้างบนถูกกัดกร่อน ในบางครั้งเมื่อภูเขาไฟระเบิด แมกมาใต้เปลือกโลกจะพ่นหรือระเบิดพุ่งขึ้นมาในรูปของเหลวร้อนเรียกว่า ลาวา ลาวาจะไหลออกจากภูเขา ซึ่งเมื่อแข็งตัวอย่างรวดเร็วเกิดเป็นหินที่มีลักษณะรูพรุนมีผลึกขนาดเล็ก ได้แก่ หินพัมมิซ หินอัคนีเหล่านี้เมื่อขึ้นมาอยู่บนผิวโลกจะถูกลม น้ำ น้ำแข็ง ทำให้ผุกร่อน หินจะกร่อนเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย
หินตะกอน เป็นหินที่เกิดจากการแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยของหิน เศษหินต่าง ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นทราย เลน และโคลนในน้ำ ซึ่งการทับถมทำให้เกิดตะกอนเป็นชั้น ๆ เรียงตามขนาดของตะกอน ส่วนที่มีขนาดเล็กจะแทรกอยู่ตามช่องระหว่างตะกอนหยาบซึ่งมีขนาดใหญ่ ตะกอนจะจับตัวกันแน่นมากขึ้นและหนาขึ้นเรื่อย ๆ ในบางบริเวณจะมีตะกอนที่มีซากสิ่งมีชีวิตที่ตายและทับถมอยู่ เศษหินและซากสิ่งมีชีวิตนี้จะทับถมกันเป็น ชั้น ๆ จะมีการกดทับจากน้ำหนักของชั้นตะกอนที่อยู่ข้างบน แร่ธาตุต่าง ๆ ที่ละลายหรือแขวนลอยอยู่ในน้ำจะเป็นตัวเชื่อมประสานทำให้ตะกอนจับตัวกันแน่นขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดนาน ๆ เข้าตะกอนเหล่านี้กลายเป็นหินตะกอน เรียกกระบวนการนี้ว่า กระบวนการจับตัวเป็นหินตะกอน ตัวอย่างหินตะกอนได้แก่ หินปูน หินทราย หินดินดาน เป็นต้น
หินแปร เป็นหินที่แปรสภาพมาจากหินอัคนีและหินตะกอน เมื่อหินอัคนีและหินตะกอนที่อยู่ใต้เปลือกโลกได้รับความกดดันและความร้อนเนื่องจากอุณหภูมิที่สูง ทำให้หินเหล่านี้แปรสภาพไปกลายเป็นหินแปร นอกจากนี้อาจเกิดเนื่องจากสาเหตุอื่น เช่น การเคลื่อนไหวของเปลือกโลก การกดทับของหินที่อยู่ข้างบนก็สามารถส่งผลให้เกิดความร้อนและความกดดันสูงได้ นอกจากนี้การมีของเหลวแทรกซึมเข้าทำปฏิกิริยาเคมีกับหินในบริเวณนั้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้หินถูกแรงกระทำในทิศทางต่าง ๆ ทำให้เนื้อหินเกิดการเปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างของหินแปร ได้แก่ หินอ่อน แปรมาจากหินปูน หินไนส์ แปรมาจากหินแกรนิต หินชนวนแปรมาจากหินดินดาน
2. ให้แต่ละกลุ่มตั้งคำถามจากเรื่อง “วัฏจักรของหิน” ที่ได้อ่านนี้ มากลุ่มละ 10 คำถามพร้อม
ทั้งตอบคำถามโดยไม่ต้องกลับไปอ่านเรื่องดังกล่าวใหม่
3. แต่ละกลุ่มจับคู่กัน ตอบคำถามที่กลุ่มตั้งไว้และเมื่อแต่ละกลุ่มได้คำถามและคำตอบกลับคืนก็ให้คะแนนคำตอบนั้น หลังจากนั้นร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับคำถามและคำตอบ พร้อมทั้งให้เหตุผลว่าเหตุใดจึงควรตอบว่าอย่างนั้น คำตอบนั้น ๆ ควรได้คะแนนเท่าไร
4. ให้นักเรียนสรุปวัฏจักรหิน โดยเขียนเป็นแผนภาพโดยใช้คำและข้อความต่อไปนี้
หินอัคนี หินตะกอน หินแปร แมกมา การตกผลึก
การผุพังและการกร่อน ความร้อนและความกดดัน การหลอมเหลว
กระบวนการจับตัวเป็นหินตะกอน
5. ให้นักเรียนวิเคราะห์ความเหมือนกันและความแตกต่างกันของหินแต่ละประเภท
จากกิจกรรมนี้ จะเห็นว่าการฝึกนักเรียนในการอ่านแบบมีส่วนร่วมจากสาระที่ให้นี้ นอกจากจะทำให้นักเรียนได้เข้าใจเกี่ยวกับสาระที่อ่านแล้ว นักเรียนยังได้พัฒนาความคิดด้วยเพราะเมื่อนักเรียนจะตั้งคำถามจากเรื่องที่อ่านได้ต้องทำความเข้าใจ คิดวิเคราะห์เกี่ยวกับชนิดของหิน การเกิดของหินแต่ละชนิด ตลอดจนความสัมพันธ์ของหินทั้งสามประเภท แล้วจึงตั้งคำถาม ในขั้นตอนการตรวจสอบคำตอบของคำถาม นักเรียนอาจเกิดคำถามใหม่ ๆ นักเรียนก็จะปรับปรุงแก้ไขความคิดของตนใหม่เช่นกัน การแลกเปลี่ยนคำถามกับกลุ่มอื่น เมื่อกลุ่มอื่นตอบคำถามก็จะมีการวิเคราะห์คำตอบ อภิปรายร่วมกับกับเพื่อนกลุ่มนั้น ๆ และให้คะแนน การร่วมกันอภิปรายนี้ทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจในสาระนั้น มากยิ่งขึ้น และยังอาจทำให้นักเรียนมีคำถามเกิดขึ้นมาใหม่อีก อาจต้องการหาข้อมูลอื่นมาสนับสนุน หรือต้องการรู้เพิ่มเติมทำให้ขยายความรู้ ความเข้าใจ และทักษะต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การให้นักเรียนช่วยกันสรุปสาระที่อ่านออกมาในรูปของแผนภาพ ยังช่วยพัฒนาความคิดและทักษะของนักเรียนในการสรุปเรื่องที่อ่านแล้วสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้
การใช้การอ่านแบบมีส่วนร่วมนั้น ครูควรฝึกเบื้องต้นโดยใช้เนื้อหาสาระที่ไม่ยาวนักก่อน ดังกิจกรรมที่ยกเป็นตัวอย่าง หากฝึกนักเรียนในเรื่องการอ่านแบบมีส่วนร่วมทุกครั้งที่จัดกิจกรรมที่ให้มีการอ่านได้ จะทำให้นักเรียนเกิดทักษะในการอ่านเนื้อหาสาระจากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ และเกิดการเรียนรู้ในลักษณะของการสืบเสาะหาความรู้อีกด้วย
“ ………….. reading and writing activities can play a vital role in achieving a mind-on emphasis in the learning of science. Reading and writing activities can serve as conceptual tools for helping students to analyze, interpret and communicate scientific ideas ……..” (Holliday, Yore, and Alvemann 1992)
แหล่งอ้างอิง
Douglas, R., Klentschy, M.P., and Worth, K. (2006). Linking science and literacy in the K-8 classroom. VA, USA: NSTA Press.
Glyn, S.M. and Muth, K.D. (1994). Reading and writing to learn science: Achieving scientific literacy. Journal of Research in Science Teaching, 31(9), 1057-1073.
Holliday, W.G., Yore, L.D., and Alvermann, D.E.. (1992). The reading-science learning-writing connection: Breakthroughs, barriers, and promises. Journal of Research in Science Teaching, 31, 877-893.
Information about Active Reading. [Online] Available : http://istudy.psu.edu/FirstYearModules/Reading/ActiveReadingInfo.html. (Retrieved February 27, 2007.
National Research Council. (2005). How students learn science in the classroom. 615 pp. The National Academies Press, Washington DC., USA.
Parkinson, J., Windale, M., and Shelton, J. (1999). Raising the quality of science education: Teacher workshop. Bangkok, Thailand.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2547). หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน:โลก ดาราศาสตร์และอวกาศ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2. กรุงเทพมหานคร: คุรุสภาลาดพร้าว.
-
1346 การอ่านแบบมีส่วนร่วม /article-science/item/1346-active-readingเพิ่มในรายการโปรด