หยุดโลกร้อน ด้วยความพอเพียง
...หยุดโลกร้อน ด้วยความพอเพียง...
ปรียานุข ขุนเณร
เมื่อวันที่ฟ้าสวย โลกใต้ท้องทะเลที่เต็มไปด้วยสีสันจัดจ้าน สายน้ำใสจนมองเห็นถึงท้องน้ำ ยอดเขายังมีต้นไม่ครึ้มเขียวปกคลุม เสี้ยวหนึ่งในภาพทรงจำในวัยเยาว์ของใครหลายคน แต่ในวันนี้ภาพสวยเหล่านั้นกลับกลายเป็นเพียงภาพในความทรงจำที่คนรุ่นปู่ย่าจะเล่าให้หลานๆ ฟัง เมื่อหมอกสวยกลายเป็นควันสีเทาที่ลอยปกคลุมอยู่ยอดตึก
นับตั้งแต่เครื่องจักรไอน้ำเริ่มเดินสายพาน ระบบกลไกของโลกได้เริ่มต้นเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยระบบเศรษฐกิจและการผลิตแนวทางอุตสาหกรรม ความต้องการที่ผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการในการบริโภคอย่างไม่มีขีดจำกัด แหล่งพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่าง น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ที่หลับนิ่งอยู่ใต้ดินถูกสูบขึ้นมาจาก เพื่อใช้อย่างล้างผลาญในระบบการผลิตสินค้าแบบอุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่ง รวมทั้งการสงคราม การผลิตเหล่านี้ดำเนินไปโดยที่ไม่มีใครตระหนักว่ากำลังเพาะเชื้อภัยร้ายขึ้นบนโลก
ของเสียจากกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมและการบริโภคก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co 2) ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ที่เก็บกักความร้อนทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น และผลจากการทรัพยากรระบบนิเวศจึงถูกทำลายลงอย่างไม่ปราณีปราศรัย ผลจากการที่ธรรมชาติถูกรุกราน คือภาวะโลกร้อน (Global Worming) อันเป็นที่มาของ สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน (Climate change) เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว โลกเคยตื่นตัวในเรื่องของ ภาวะเรือนกระจก(Green House effect) แต่เรื่องราวต่างๆ ก็กลับเงียบหายไปเมื่อคนส่วนใหญ่หันไปให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจ ในวันนี้โลกกลับต้องมาพังเสียงจากธรรมชาติอีกครั้ง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโลกนี้นั้น แม้เพียงการเปลี่ยนแปลงเพียงน้อยนิดบนโลก อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมของระบบนิเวศโดยรวมได้ หากระดับออกซิเจนในอากาศนั้นลดลง 1 ใน 3 เราก็จุดไฟไม่ติด แค่เพียงอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 5 องศา ภูเขาน้ำแข็งจะละลายและปริมาณน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น
ผลจากการถือว่าตนเองมีอำนาจในการบริโภคได้อย่างฟุ่มเฟือย ซึ่งมักมาจากคนหยิบมือเดียวของสังคม ภายใต้ระบบแนวความคิดแบบพาณิชย์นิยมและทุนนิยมที่คนพยายามหาเหตุผลรองรับการบริโภคทรัพยากรให้เป็นเรื่องที่ถูกต้องในสังคม นายทุนต้องการกำไรโดยกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคจากสิ่งยั่วยุทั้งภาพและเสียงจากสื่อต่างๆ ที่มาจากแผนการตลาดอย่างแยบยล ให้ผู้บริโภคไม่รู้จักคำว่าพอ จึงเกิดการใช้พลังงานน้ำมันและไฟฟ้าอย่างฟุ่มเฟือย การซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยไม่ได้คิดถึงคุณประโยชน์ การบริโภคอาหารเหลือทิ้งกลายเป็นขยะ
แต่ผลกระทบจากการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยนั้นผู้ที่รับภาระและเดือนร้อนที่สุดกลับเป็นผู้ที่ไม่ได้ก่อปัญหา เด็ก หรือ บุคคลในโลกที่ 3 นั้น ที่มีวิถีชีวิตอย่างเรียบง่ายและไม่สลับซับซ้อนมากนัก กลับต้องเผชิญกับอากาศที่ผิดปกติไปจากในอดีต พืชผลทางกการเกษตรไม่เป็นไปตามฤดูเนื่องตากปริมาณน้ำที่ไม่แน่นอน ความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดินลดลง ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ แมลงและศัตรูพืชแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น เกษตรกรหลายคนประสบปัญหาขาดทุนและเลิกการทำเกษตรกรรม ดิ้นรนมุ่งหน้าสู่เมืองหลวงเพื่อหารายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง วงจรนี้จึง เป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไข
ปัจจุบันพิบัติภัยทางธรรมชาติได้รุมเร้ามนุษย์อย่างหนัก ทั้งการเกิดพายุทอร์นาโดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ทวีปยุโรปใน หรือในทวีปเอเชียนั้นประเทศจีนมีอุทุกภัยเกิดขึ้นบ่อยครั้งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ มีประชาชนกว่า 4,000 คนเสียชีวิต และไร้ที่อยู่อาศัย ในประเทศอินเดียมีการบันทึกสถิติอุณหภูมิในเดือนพฤษภาคม 2545 ว่าสูงถึง 45.6 องศาเซลเซียส มีคนเสียชีวิตกว่า 1,000 คน ในประเทศญี่ปุ่นปี 2547 มีบันทึกว่ามีพายุไต้ฝุ่นพัดถล่มถึง 10 ลูก ซึ่งเป็นไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุดในรอบ 16 ปี ทำให้มีคนเสียชีวิตจำนวนมากและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ฟิลิปปินส์ปลายปี 2547 มีไต้ฝุ่นเข้าถล่ม 4 ลูก และ พายุโซนร้อนทำให้เกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง มีประชาชนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก หลายครอบครัวไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีน้ำสะอาดใช้และยังทำลายพื้นที่การเกษตรจำนวนมาก สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจมีใครเข้าไปควบคุมหรือหยุดยั้งมันไว้ได้ มีเพียงแต่การชะลอภัยร้ายที่น่ากลัวกว่าที่ที่เรากำลังเผชิญอยู่นี่
จากการจัดอันดับประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาที่สุดในโลกคือ ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติทั้งการผลิตและการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยมากที่สุด อันดับต่อมาคือประเทศจีน เนื่องจากประเทศกำลังเร่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับในประเทศไทยนั้น ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่น้อยหน้าไปกว่าประเทศอื่นๆ คือประมาณปีละ 172 ล้านตัน โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ สร้างมลพิษสูงถึง 19.35 % ของปริมาณการผลิตในประเทศไทย เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการดำเนินกิจกรรมของประเทศ เนื่องจากในเมืองหลวงมีประชากรมากถึง 12 ล้านคน ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยเป็นจำนวนสูงถึง 26,160,000 ตัน
สิ่งที่ประชาชนในแต่ละภูมิภาคกำลังเผชิญหน้ากับผลจากภัยโลกร้อนคือ ฤดูกาลและปริมาณน้ำฝนที่แปรปรวนไปจากในอดีต ฝนที่ตกผิดฤดูกาลปริมาณน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุนที่เพิ่มมากขึ้น จนเกิดเหตุอุทกภัยน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมหลายภูมิภาคของประเทศโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มในบริเวณภาคกลาง ปัญหาไฟป่าที่มาจากการลับลอบเข้าไปหาของป่าของชาวบ้านและการเผาที่เพื่อขยายพื้นที่ทำกินจนปัญหาไฟป่าทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปีโดยเฉพาะช่วงต้นปีที่ผ่านมาเกิดไฟป่ารุกรามทั่วภาคเหนือก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศอย่างรุนแรง หรือ การที่น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่โบสถ์วัดขุนสมุทราวาส จังหวัดสมุทรปราการซึ่งเคยอยู่ห่างจากฝั่งทะเล 1 กิโลเมตร ทำให้ในขณะนี้โบสถ์บางส่วนกำลังจมน้ำ สิ่งเหล่านี้ทำให้ต้องหวนกลับมาใส่ใจในสิ่งที่ได้ทำลงไปกับธรรมชาติ
ภัยใกล้ตัวที่ทั้งคนทั่วโลก ยุโรป เอเชีย รวมทั้งคนไทยที่ต้องเจอกับภัยธรรมชาติเหล่านี้นั้น นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการจากทั่วโลกต่างระดมสมองเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น จึงมีการศึกษาอย่าลึกซึ้ง มีผลจากการค้นคว้าวิจัยและประมวลผลทางสถิติ ที่นำเสนอข้อมูลเผยแพร่สู่สาธารณชนผ่านทางสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของสาเหตุการเกิดปัญหาโลกร้อน ผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงการนำเสนอแนวทางการแก้ไขบรรเทา เพื่อให้มวลมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของโลกใบนี้ตระหนักถึงภัยร้าย และใส่ใจกับโลกที่ตนเองตั้งอาศัยอยู่มากขึ้น
สาเหตุหลักของการเกิดภาวะโลกร้อนที่มาจากก๊าซคาร์บอนไดไซด์เป็นสำคัญนั้น เมื่อต้องการลดสร้างภาวะเรือกระจก การควบคุมปริมาณการผลิตก๊าซคาร์บอนไดไซด์ที่ผลิตขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างแรก ในระดับประเทศหรือองค์กรขนาดใหญ่นั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรการทางภาษีกับธุรกิจที่ทำลายสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม การจัดสรรปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยมาจากแต่ละธุรกิจ แม้ว่าจะเป็นแนวทางที่สวนกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศก็ตาม แต่การรณรงค์เพื่อช่วยเหลือโลกโดยการลดการปล่อยควันพิษไปทำลายชั้นบรรยากาศ มีมาตรการควบคุมผู้ผลิตโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ให้รับผิดชอบต่อของเสียจากโรงงานของตนเอง คำนึงถึงต้นทุนที่แท้จริงของการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย รวมทั้งการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ สร้างธุรกิจพลังงานสะอาด ในระดับบุคคลนั้นการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนสามารถสร้างจิตสำนึกและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคให้รู้จักใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่แปรรูปมาเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ หรือพลังงานต่างๆ อย่างรู้คุณค่า พอดีกับความต้องการ ไม่สร้างขยะหรือไม่เบียดเบียนธรรมชาติมากเกิน ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านี้นั้นหากยิ่งเร่งแก้ไขต้นทุนจะน้อยกว่าการปล่อยปัญหาให้บานปลายจนสายเกินแก้ โดย
หากพิจารณาแนวทางการดำเนินนโยบายของโลกที่นักวิจัยต่างๆ ได้พยายามนำเสนอแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ ล้วนสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีการนิยามอย่างง่ายที่สุดเป็น 3 ห่วง2 เงื่อนไข ปัจจัยสำคัญที่เป็นแก่นแท้ของ 3 ห่วง คือ 1.ความพอประมาณ ไม่สุดโต่งจนเกินไป2.การมีเหตุมีผลที่จะคิดวิเคราะห์ทุกอย่างก่อนลงมือปฏิบัติ 3.มีภูมิคุ้มกันที่ดี เพื่อไม่ให้กระแสโลกาภิวัตน์เข้ามามีผลกระทบต่อชีวิตของเรามากเกินไป ส่วน 2 เงื่อนไขคือ 1.ตอกย้ำความมีเหตุผล ใช้ความรู้อย่างรอบคอบและระมัดระวัง 2.คุณธรรม
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวเป็นแนวทางมากว่า 25 ปี หากมีการนำสิ่งเหล่านี้ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นจากสำนักในตัวบุคคลการลดพฤติกรรมการบริโภคอย่างพอประมาณโดยการประหยัดพลังงานการใช้พลังงานทุกชนิด โดยเฉพาะพลังงานจากฟอสซิล ลดการกินทิ้งกินขว้างที่จะทำให้เกิดก๊าซมีเทน ไม่ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย บริโภคผลิตภัณฑ์จากในประเทศเพื่อลดการใช้ทรัพยากรเพื่อการขนส่ง ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวเพื่อลดปริมาณการใช้พลังงาน เป็นต้น การมีเหตุผลรู้จักคิดวิเคราะห์โดยศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุของภาวะโลกร้อน ระบบนิเวศ และความสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นต้น การมีภูมิคุ้มกันที่ดี อาทิ การเลือกบริโภคสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากคุณค่าของสิ่งนั้นมากกว่าคำเชิญชวนหรือคำโฆษณาที่กระตุ้นให้ซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น เป็นต้น
การศึกษาความสัมพันธ์ของทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากโลกใบนี้เกิดขึ้นมาจากความสมดุล หากเมื่อใดที่มนุษย์บริโภคอย่างไม่รู้จักพอ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติมาใช้สนองความโลภอย่างไร้ขอบเขต เมื่อนั้นสมดุลของระบบนิเวศจะผิดปกติดังที่ความแปรปรวนกำลังเกิดขึ้นบนโลกอย่างในทุกวันนี้
ทางออกนั้นมีอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าจะมีใครที่ใส่ใจปฎิบัติหรือไม่
โลกในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แม้จะไม่มีใครสามารถหมุนโลกให้ย้อนกลับไป แม่น้ำจะไม่สวยใสดังเช่นวันเก่า แต่มนุษย์ยังคงต้องพึ่งพิงอาศัยอยู่บนโลกในบี้ต่อไป แค่เพียงถนอมอย่าสร้างภาระให้โลกต้องหมองมัวหมองมากกว่าที่เป็นอยู่ก็คงจะพอแล้ว
รูป
อ้างอิงเนื้อหา
http://www.sufficiencyeconomy.org/show.php?Id=251
http://www.nidambe11.net/index.html
http://www.nsm.or.th/E-exhibition/climate_change/index.html
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000052646
http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=686
-
1348 หยุดโลกร้อน ด้วยความพอเพียง /article-science/item/1348-stop-global-warmingเพิ่มในรายการโปรด