สืบหาดอกไม้กินได้ด้วยรูปถ่าย
พืชสามารถสร้างอาหารได้เองจากการสังเคราะห์ด้วยแสง และเป็นสิ่งมีชีวิตอันดับแรกในการถ่ายทอดพลังงานแบบโซ่อาหาร พืชจึงเป็นผู้ผลิตที่สำคัญของโลกใบนี้ ในตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลางกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๐) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ มีการเรียนเรื่องพืชในทุกช่วงชั้นโดยเรียงลำดับความยากง่ายของเนื้อหาและกิจกรรมตามระดับชั้นและมีความต่อเนื่อง เชื่อมโยงกันเพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้นี้ไปใช้ในการดำรงชีวิตหรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
บทความนี้นำเสนอตัวอย่างความรู้และกิจกรรมเกี่ยวกับดอกไม้ ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอาหาร และการค้นหาชื่อของดอกไม้จากรูปถ่าย เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ไม่ซับซ้อน จึงใช้เพียงสมาร์ตโฟนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ผู้สอนสามารถนำไปปรับใช้ได้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาให้เหมาะกับความสามารถของผู้เรียน
พืชดอกเมื่อเจริญเติบโตและมีดอก ดอกจะมีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศได้เป็นผลและเมล็ด เมื่อเมล็ดงอกเอ็มบริโอจะเจริญเติบโตเป็นพืชต้นใหม่แล้วออกดอกเพื่อสืบพันธุ์ต่อไป หมุนเวียนเป็นวัฏจักรชีวิต
ภาพ 1 การใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนค้นหาชื่อดอกไม้
ส่วนประกอบของดอกแต่ละส่วนทำหน้าที่แตกต่างกันไป กลีบดอกมักมีรูปร่างและสีสันสวยงามหรือมีกลิ่นหอมเพื่อดึงดูดแมลงให้มาช่วยถ่ายเรณูหรือผสมเกสร มนุษย์ใช้ประโยชน์จากดอกในด้านต่างๆ เช่น ประดับสถานที่ให้สวยงาม มอบเป็นของขวัญ และใช้เป็นอาหาร อย่างไรก็ตามดอกไม้ที่สวยงามเหล่านั้นไม่สามารถนำมารับประทานได้ทุกชนิด
ภาพ 2 การใช้ประโยชน์จากดอกไม้
หลายคนน่าจะเคยรับประทานอาหารที่ทำจากดอกไม้ เช่น แกงส้มดอกแคหรือแกงจืดดอกขจร รวมทั้งเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ที่ทำมาจากดอกไม้ เช่น น้ำอัญชัน ชากุหลาบ ชามะลิ ดอกไม้ที่นิยมใช้ ทำอาหารหรือเครื่องดื่มมาตั้งแต่โบราณและคุ้นเคยกันดีนั้นจะปลอดภัย ในการบริโภค ไม่ได้เป็นดอกไม้ที่มีพิษหรือมีอันตรายต่อร่างกาย
ภาพ 3 แกงส้มดอกแค
ภาพ 4 ดอกกุหลาบที่ใช้ทำชากุหลาบ
ปัจจุบันนิยมนำดอกไม้หลายชนิดมาใส่ในอาหาร เช่น ข้าวยำ ใส่ดอกไม้ซึ่งสามารถรับประทานได้พร้อมกับผักต่างๆ นอกจากนี้ ยังใช้ดอกไม้ในการประดับจาน ตกแต่งบนขนมเค้ก หรือใส่ในเครื่องดื่มเพื่อความสวยงาม หรือนำดอกไม้มาทำขนม เช่น คุกกี้ ดอกไม้ที่ใช้มักจะมีขนาดเล็ก สีสันสวยงาม ไม่มีกลิ่นฉุนหรือรสขม เนื่องจากการใช้ดอกไม้เพื่อการตกแต่งให้สวยงามนั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จึงทำให้มีขาย ในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือช่องทางซื้อขายออนไลน์ให้เลือกซื้อตามความต้องการ โดยจะเขียนที่หน้ากล่องว่าดอกไม้กินได้ หรือ Edible Flower มีหลากหลายสี รูปร่าง และขนาดที่แตกต่างกัน หรือหากไม่ซื้อจากที่มีคนปลูกขาย อาจจะเก็บดอกไม้จากพืชที่ปลูกอยู่แล้วในบ้าน เช่น อัญชัน เข็ม ดาวกระจาย
ภาพ 5 ข้าวยำที่ใส่ดอกดาวกระจาย อัญชัน เข็ม และโสน
ภาพ 6 แยมโรลประดับด้วย ดอกแวววิเชียร
ภาพ 7 คุกกี้ดอกไม้
สิ่งสำคัญที่สุดในการเลือกดอกไม้มาใช้ประกอบอาหารหรือ ตกแต่งอาหารและเครื่องดื่มคือ ดอกไม้นั้นจะต้องไม่มีพิษ ทั้งพิษที่อยู่ในดอกไม้เองหรือพิษจากการใช้สารฆ่าแมลงหรือสารเคมีในการปลูก การปลูกต้นไม้โดยไม่ใช้สารเคมีอาจเป็นทางเลือกที่ดีในการเก็บดอกมาใช้ แต่ไม่ใช่ว่าดอกไม้ทุกชนิดจะสามารถนำไปรับประทานได้ บางชนิดเหมาะสำหรับปลูกเพื่อประดับแต่ห้ามนำมารับประทานเด็ดขาดหรือ แม้แต่ใช้ตกแต่งจานอาหารก็ไม่ได้เช่นกันเพราะยางจากดอกไม้ซึ่งมีพิษ อาจจะปนเปื้อนในอาหารหรือผู้ที่ไม่รู้อาจจะรับประทานดอกไม้ชนิดนั้น เข้าไปแล้วได้รับอันตราย
ถ้าดอกไม้ที่ปลูกในบ้านออกดอกสวยงามและเราต้องการจะนำไปตกแต่งอาหาร แต่จำไม่ได้ว่าเป็นดอกอะไรจึงจำเป็นต้องไปสืบค้นข้อมูลว่าดอกไม้นี้สามารถรับประทานได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม สามารถสืบค้นชื่อได้โดยถ่ายรูปดอกไม้ที่เราสนใจ แล้วนำไปค้นหาชื่อโดยใช้ Google Lens ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนที่รองรับการใช้งานผ่านระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ สามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นการค้นหาข้อมูลจากรูปภาพด้วย AI โดยการใช้รูปภาพจากคลังภาพที่มีในสมาร์ตโฟนของเรา หรือถ้าไม่ได้ถ่ายรูปไว้ก็สามารถยกสมาร์ตโฟนส่องกล้องถ่ายไปที่ดอกไม้จะสามารถค้นหาชื่อดอกไม้ได้ทันที
ที่บ้านของผู้เขียนมีดอกไม้สีชมพูที่มีคนนำมาให้ ลักษณะดอก สีชมพูขนาดเล็กน่ารัก เหมาะสำหรับนำไปตกแต่งจานขนม แต่ผู้เขียนจำไม่ได้ว่าเป็นต้นอะไร จึงต้องการจะสืบค้นว่าดอกไม้นี้ชื่ออะไรและสามารถ นำมารับประทานได้หรือไม่ หรือเป็นดอกไม้มีพิษ วิธีการค้นหาชื่อดอกไม้ชนิดนี้คือ ถ่ายรูปแล้วนำไปค้นหาใน Google Lens การแสดงผลจะเป็น ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย และถ้าแสดงข้อมูลไม่ครบตามความต้องการสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ การค้นหาด้วย Google Lens ทำได้ ดังภาพ 8 – 10
ภาพ 8 เปิดแอปพลิเคชัน Google Lens แล้วกดเลือกดอกไม้ที่ต้องการค้นหาจากรูป ที่บันทึกไว้ในสมาร์ตโฟน
ภาพ 9 ขึ้นผลการค้นหาเป็น Oleander เลื่อนดูข้อมูลต่างๆ ถ้ายังไม่ได้ข้อมูลตามต้องการ ให้กด Search
ภาพ 10 ใส่คำค้นหาเพิ่มเติม เช่น พิษ หน้าจอ จะแสดงผลว่า ดอกไม้ที่ค้นหานั้นคือดอกยี่โถ และ แนะนำเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับพิษ
เมื่อสืบค้นจนได้เว็บไซต์ต่างๆ ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับดอกยี่โถและ ความเป็นพิษแล้ว ให้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม โดยเลือกจากเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือ หรืออ่านจากหลายเว็บไซต์เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เช่น ในเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลให้ข้อมูลไว้ว่าต้นยี่โถ ประกอบด้วยสารในกลุ่ม Cardiac Glycosides หลายตัวซึ่งสามารถทำให้เกิดพิษต่อหัวใจและระบบอื่นๆ ในตำรายาไทยเขียนไว้ว่า ดอกบำรุงหัวใจ ทำให้ชีพจรเต้นเร็ว แก้ปวดศีรษะ ใช้มากเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และในเว็บไซต์ยังมีคำแนะนำให้ปลูกยี่โถเป็นไม้ดอกไม้ประดับมากกว่าจะใช้เป็นยา
จากข้อมูลที่สืบค้นมานี้พบว่า ดอกยี่โถมีพิษ จึงห้ามนำดอกยี่โถ มารับประทาน ประดับจาน หรือตกแต่งขนมและเครื่องดื่มโดยเด็ดขาด ดังนั้น ถ้าเราไม่หาข้อมูลก่อนแล้วนำดอกยี่โถมาใช้ตกแต่งจานเพราะเป็น ดอกไม้ทั่วไปที่พบได้ในบ้านและมีสีสันสวยงาม ยางจากดอกยี่โถอาจปนเปื้อนในอาหาร เมื่อรับประทานเข้าไปจะเป็นอันตรายได้ จากที่ได้กล่าวไปแล้วว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเลือกดอกไม้คือจะต้องไม่มีพิษ ดังนั้น ในการเลือกดอกไม้ที่ปลูกเองในบริเวณบ้านมาบริโภคจะต้องเลือกดอกไม้ที่รู้จักชื่อและ แน่ใจว่าสามารถรับประทานได้ ซึ่งสามารถหาข้อมูลได้จากอินเทอร์เน็ต โดยเลือกจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ ถ้าไม่รู้จักจะต้องสืบค้นจนแน่ใจจึงจะนำดอกไม้มาใช้
นอกจาก Google Lens แล้ว ยังมีแอปพลิเคชันอื่นอีกที่สามารถนำมาใช้สืบค้นชื่อของดอกไม้ได้ นั่นก็คือ Seek by iNaturalist เป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนที่รองรับการใช้งานผ่านระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และ iOS สามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยที่แอปพลิเคชันจะช่วยแนะนำว่าสิ่งมีชีวิตที่พบเป็นชนิดใด โดยอ้างอิงจากรูปสิ่งมีชีวิตที่หน้าตาใกล้เคียงกันจากฐานข้อมูลสิ่งมีชีวิตในระบบมากกว่า 30,000 ชนิด และเชื่อมโยงข้อมูลสิ่งมีชีวิตจาก Wikipedia นอกจากจะใช้ค้นหาชื่อสิ่งมีชีวิตแล้วเมื่ออัพโหลดภาพสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ แล้ว ระบบจะเก็บไว้ในฐานข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานและได้รับป้ายบอกระดับการสะสม การค้นหาทำได้ดังภาพ 11 – 16
ภาพ 11 เปิดแอปพลิเคชัน Seek by iNaturalist
ภาพ 12 กดที่กล้องถ่ายรูป
ภาพ 13 กดเลือกดอกไม้ที่ต้องการค้นหา จากรูปที่บันทึกไว้ในสมาร์ตโฟน
ภาพ 14 ได้ผลการค้นหาเป็น Oleander จากนั้นกดที่ View Species
ภาพ 15 แสดงข้อมูลของ Oleander ใน Wikipedia
ภาพ 16 แสดงข้อมูลการจัดหมวดหมู่ สิ่งมีชีวิต
ภาพจาก : https://twitter.com/seekbyinat
นอกจากการสืบค้นชนิดของสิ่งมีชีวิตแล้ว ระบบจะนำข้อมูลสิ่งมีชีวิตของเราเพิ่มเข้าไปในฐานข้อมูลด้วย ดังนั้นการสำรวจจะช่วยเพิ่มข้อมูลและช่วยพัฒนาระบบค้นหาของ Seek by iNaturalist แต่การใช้แอปพลิเคชันนี้ข้อมูลดอกไม้ที่ได้จะเป็นข้อมูลจาก Wikipedia และข้อมูลในเชิงการจัดจำแนกอาจไม่มีข้อมูลที่เราต้องการหรือไม่ครบถ้วน ดังนั้น จะต้องนำชื่อดอกไม้ไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมด้านการมีพิษต่อไปอีก อย่างไรก็ตาม Seek by iNaturalist ยังมีฟังก์ชันอื่นๆ อีก ถ้าสนใจสามารถศึกษาและทดลองใช้เพิ่มเติมได้ การใช้แอปพลิเคชันทั้งสองนี้จะมีจุดเด่น จุดด้อยที่แตกต่างกัน ผู้สอนสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผู้เรียน
การนำแอปพลิเคชันมาใช้สืบหาดอกไม้กินได้ในบทความนี้เป็นตัวอย่างของการเชื่อมโยงกับชีวิตจริง ผู้สอนสามารถเลือกใช้สถานการณ์อื่นๆ ให้เหมาะสมกับการสืบหาสิ่งมีชีวิตตามที่ต้องการได้ หรือสามารถนำ แอปพลิเคชัน Seek by iNaturalist ไปจัดกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มได้ เช่น การสำรวจสิ่งมีชีวิตในโรงเรียนหรือในท้องถิ่นโดยให้ผู้เรียนแข่งขันกันสะสมป้าย เป็นการท้าทายที่จะให้สำรวจและเก็บข้อมูลสิ่งมีชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองที่เป็นเครือข่าย อาสาสมัครในสังคมหรือชุมชนในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อร่วมกันศึกษาวิจัย
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 51 ฉบับที่ 241 พฤษภาคม – มิถุนายน 2566
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/242/16/
บรรณานุกรม
กระทรวงศึกษาธิการ. (2560). ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
ณิชา เวชพานิช. (2563). iNaturalist ชวนสำรวจนิเวศใกล้บ้าน ให้ธรรมชาติบำบัดความเครียดช่วงมาตรการล็อคดาวน์. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://greennews.agency/?p=20945.
Pchalisa. (2565). Google Lens คือ อะไร ใช้ยังไง แอปค้นหาด้วยภาพ แอปมือถือ แอนดรอยด์ android ฟรี. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://intrend.trueid.net/article/google-lens-คือ-อะไร-ใช้ยังไง-แอปค้นหาด้วยภาพ-แอปมือถือ-แอนดรอยด์-android-ฟรี- trueidintrend_271912
-
18349 สืบหาดอกไม้กินได้ด้วยรูปถ่าย /article-science/item/18349-11-03-2025เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้องการศึกษา STEM ด้านพฤกษศาสตร์ ดอกไม้กับแมลงผสมเกสร พืชมีพิษและพืชกินได้ พืชในระบบอาหาร การสืบค้นทางชีววิทยา AI กับพฤกษศาสตร์ การใช้แอปพลิเคชันในวิทยาศาสตร์ วงจรชีวิตของพืชดอก ความปลอดภัยในการบริโภคพืช ดอกไม้และระบบนิเวศ พฤกษศาสตร์ดิจิทัล Seek by iNaturalist Google Lens ค้นหาดอกไม้ เทคโนโลยีการจำแนกพืช ค้นหาดอกไม้ด้วย AI ดอกไม้กินได้