ร้อนอะไรอย่างนี้… กับดัชนีความร้อนและฮีทสโตรก
ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงมีอากาศร้อนชื้นปกคลุมทั่วประเทศเกือบตลอดทั้งปี อุณหภูมิอากาศจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่และฤดู ฤดูร้อนของประเทศไทยในเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา มีอากาศร้อนมากจนแทบจะกลายเป็นสภาวะร้อนสุดขั้วของประเทศไทย และคาดการณ์ว่าจะร้อนมากต่อเนื่องไปอีกในปีหน้า หลายหน่วยงานประกาศแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการทำกิจกรรมในวันที่มีอากาศร้อนมาก เนื่องจากมีโอกาสในการเกิดโรคลมร้อน (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก
กรมอุตุนิยมวิทยาได้เผยแพร่ข้อมูลพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อน (Heat Index: HI) สูงสุดรายวัน ในวันที่ 21 เมษายน 2566 ค่าดัชนีความร้อนบริเวณเขตบางนา กรุงเทพมหานคร สูงถึง 54.0 องศาเซลเซียส (ดังภาพ 1) ซึ่งอยู่ในระดับอันตรายมาก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย เสี่ยงต่อการเกิดฮีทสโตรก ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกและเตรียมรับมือกับอากาศร้อนที่จะเกิดขึ้น แต่อุณหภูมิอากาศที่ตรวจวัดได้จริงสูงเพียง 39.0 องศาเซลเซียส ในเวลา 15.00 - 16.00 น. จึงทำให้ประชาชนเกิดความสับสนระหว่างค่าดัชนีความร้อนกับอุณหภูมิที่ตรวจวัดได้จริงคืออะไร และแตกต่างกันอย่างไร
ภาพ 1 คาดหมายค่าดัชนีความร้อนสูงสุดรายวัน ในวันที่ 21 - 23 เมษายน 2566
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา (2566)
ดัชนีความร้อนหรืออุณหภูมิที่มนุษย์รู้สึกได้ (Feels Like) เป็นอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้นว่าอากาศร้อนมากน้อยเพียงใด (Steadman, 1979) เป็นค่าสำหรับพิจารณาความสบายทางกายของมนุษย์ ซึ่งมีความแตกต่างกับอุณหภูมิที่วัดได้จริง ปัจจัยที่ทำให้เราร้อนไม่ได้มีเพียงแค่อุณหภูมิอากาศ แต่ “ความชื้นสัมพัทธ์” ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกร้อนมากขึ้น โดยในช่วงเปลี่ยนฤดูร้อนสำหรับประเทศไทย ความชื้นสัมพัทธ์อาจสูงขึ้นถึง 80 - 90% แต่ฤดูหนาวอาจจะอยู่ที่ 30 - 40% ทำให้ในฤดูร้อนจึงรู้สึกร้อนอบอ้าวและร่างกายเหนียวเหนอะหนะ (ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ, 2565) อากาศที่มีความชื้นสูงจึงทำให้เรารู้สึกร้อนกว่าอุณหภูมิที่วัดได้ เนื่องจากเมื่ออุณหภูมิอากาศสูง ร่างกายร้อนขึ้น ร่างกายจะเริ่มขับเหงื่อออกเพื่อระบายความร้อนและปรับให้ร่างกายมีอุณหภูมิปกติประมาณ 37 องศาเซลเซียส ที่เหมาะแก่การทำงานของอวัยวะต่างๆ แต่หากเหงื่อออกแล้วไม่สามารถระเหยได้เนื่องจากความชื้นสัมพัทธ์อากาศสูง จะทำให้ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ เราจึงรู้สึกร้อนขึ้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการที่เราจะรู้สึกร้อนมากกว่าอุณหภูมิจริงที่วัดได้ เนื่องจากความร้อนของอากาศมีความสัมพันธ์กับความชื้นสัมพัทธ์ด้วย นอกจากนี้ ลมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยระบายความร้อนอีกด้วย
ค่าดัชนีความร้อนคำนวณมาจากค่าอุณหภูมิอากาศและค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่วัดได้จริง นำมาประยุกต์ใช้เพื่อระบุความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับผลกระทบจากความร้อนได้ ซึ่งค่าดัชนีความร้อนมีความสัมพันธ์โดยตรงกับอุณหภูมิของอากาศและความชื้นสัมพัทธ์ โดยเมื่ออุณหภูมิอากาศและความชื้นสัมพัทธ์เพิ่มขึ้น ดัชนีความร้อนก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย แต่หากอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ลดลง ดัชนีความร้อนก็ลดลงด้วย ดังตาราง 1
ตาราง 1 ดัชนีความร้อน (ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา, 2566)
ดัชนีความร้อนรายปีทั่วทุกภาคของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 0.17 - 0.93 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ (ภาพ 2) โดยเฉพาะบริเวณภาคกลาง มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่าภาคอื่นๆ ดัชนีความร้อนรายปีมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัดในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน (ภาพ 3) ขณะที่ดัชนีความร้อนในภาพรวมของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 0.34 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษหรือประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส ในรอบ 44 ปี (ปี พ.ศ. 2513 - 2556) (ภาพ 4) (อัศมน ลิ่มสกุล, วุฒิชัย แพงแก้ว และ นิดาลักษณ์ อรุณจันทร์, 2560)
ภาพ 2 ดัชนีความร้อนรายปีทุกภาคของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2513 – 2556
ภาพ 3 ดัชนีความร้อนเดือนมีนาคมถึงเมษายนของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2513 – 2556
ภาพ 4 แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของดัชนีความร้อนของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2513 – 2556
ดัชนีความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคลมร้อนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นโรคที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปจนทำให้อุณหภูมิ ในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส หากร่างกายไม่สามารถปรับตัวกับความร้อนที่เกิดขึ้นระหว่างภายในและภายนอกร่างกายได้ จะทำให้เกิดการเจ็บป่วย ซึ่งสัญญาณสำคัญคือ ไม่มีเหงื่อออก ร่างกายจะไม่สามารถระบายความร้อนได้ ทำให้ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน มีความผิดปกติของระบบประสาท เช่น ชัก เพ้อ เดินเซ พูดจาสับสน (ดังภาพ 5) ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่วๆ ไปที่จะพบว่ามีเหงื่อออกด้วย หากเกิดอาการดังกล่าว จะต้องหยุดพักทันที
ภาพ 5 อาการของผู้ป่วยโรคลมร้อน
ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคลมร้อน (ที่มา: พร้อมพรรณ พฤกษากร, 2564) ได้แก่ เด็กเล็กและผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 65 ปี) ผู้ที่ออกแรงมากในขณะทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับอากาศร้อน และผู้ที่ทานยาบางชนิด ได้แก่ ยาลดความดันโลหิตบางประเภท ยาขับปัสสาวะ ยารักษาโรคจิตเวช ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาระบาย ยาบ้า โคเคน และผู้ที่มีโรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน หรือเคยเป็นโรคลมแดดมาก่อน
วิธีปฐมพยาบาลโรคลมร้อนเบื้องต้น (ดังภาพ 6) นำผู้ป่วยเข้าที่ร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง ประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบาย ความร้อน เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลง โดยเร็วที่สุด ดื่มน้ำเปล่า และน้ำเกลือแร่ให้มากๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ และป้องกันไม่ให้ร่างกายสูญเสียเกลือแร่ หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบนำส่ง โรงพยาบาลทันที
ภาพ 6 วิธีปฐมพยาบาลโรคลมร้อนเบื้องต้น
ที่มา: ปรับปรุงจาก โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (2560)
ภาพ 7 วิธีการป้องกันและดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคลมร้อน
เราทุกคนต้องเผชิญกับสภาวะอากาศที่ร้อนมากเช่นนี้กันอีกในปี ต่อๆ ไป เราต้องรู้จักเรียนรู้ ดูแลตัวเอง และปรับตัวให้อยู่ได้อย่างปลอดภัย เช่น อย่าอยู่กลางแจ้งนานเกินไป ควรใช้ร่มช่วยบังแดด ดื่มน้ำให้มาก รวมทั้งเครื่องดื่มเย็นๆ หรืออาหารที่มีน้ำมาก อาบน้ำเย็น หรือถ้าอยู่ในที่พักอาศัยควรเปิดประตูและหน้าต่าง เปิดพัดลม เพื่อให้อากาศถ่ายเท ไม่เกิดความร้อนสะสม ติดตามการพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อน ร่วมกันดูแลคนรอบข้างให้อยู่ในสภาพอากาศร้อนที่ตระหนักรู้เกี่ยวกับฮีทสโตรก เพียงเท่านี้เราก็จะอยู่ได้อย่างมีความสุข
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 51 ฉบับที่ 242 พฤษภาคม – มิถุนายน 2566
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/242/46/
บรรณานุกรม
Steadman, R.G. (1979). The Assessment of Sultriness. Part I: A temperature-humidity index based on human physiology and clothing science. J. Appl. Meteor., 18: 861-873.
กรมอุตุนิยมวิทยา. (2566). คาดหมายค่าดัชนีความร้อนสูงสุดรายวัน ในวันที่ 21 - 23 เมษายน 2566. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก http://www.rnd.tmd.go.th/heatindexanalysis/
กรมอุตุนิยมวิทยา. (2566). พยากรณ์ค่าดัชนีความร้อน (Heat Index Analysis). กลุ่มวิจัยและพัฒนาสารสนเทศอุตุนิยมวิทยา. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2566, จาก http://www.rnd.tmd.go.th/heatindexanalysis/
ปรเมศร์ อมาตยกุล. (2549). เอกสารวิชาการ การประมาณค่าดรรชนีความร้อนโดยวิธีของ Steadman. เอกสารวิชาการเลขที่ 551.511-33-01-2006, ISBN: 974-9616-30-8, กลุ่มวิชาการอุตุนิยมวิทยาเกษตร สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก http://www.arcims.tmd.go.th/Research_files/Estimating%20Heat%20Index%20Value%20Using%20Steadmans%20Method.pdf
พร้อมพรรณ พฤกษากร, พญ. (2564). โรคลมแดด (Heat Stroke) โรคใหม่ที่คุณควรรู้ไว้. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.bangkokhospital-chiangmai.com/สาระสุขภาพและกิจกรรม/โรคลมแดด-heat-stroke/
โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์. (2560). รู้ทันป้องกันภาวะลมแดด (Heat Stroke). ฝ่ายเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.wu.ac.th/th/news/11224
ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ. (2565). รู้หรือไม่… ยิ่งอากาศชื้น ยิ่งทำให้ร้อน. สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2565, จาก https://dxc.thaipbs.or.th/news_update/รู้หรือไม่-ยิ่งอากาศ-ชื้/
แสงจันทร์ ลิ้มจิรกาล, อัศมน ลิ่มสกุล และทวีวงศ์ ศรีบุรี. (2553). การประเมินสภาวะความรุนแรงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย: การวิเคราะห์ความเสี่ยงและความล่อแหลมของพื้นที่วิกฤติ. รายงานฉบับสมบูรณ์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). กรุงเทพมหานคร.
อัศมน ลิ่มสกุล, วุฒิชัย แพงแก้ว และนิดาลักษณ์ อรุณจันทร์. (2560). รายงานผลงานวิจัยศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม ปี 2558-2560: การพัฒนาดัชนีความร้อนและการประยุกต์ใช้ศึกษาคลื่นความร้อนในประเทศไทย. ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.researchgate.net/profile/Atsamon-Limsakul/publication/337018839_Heat_index_development_and_its_application_for_heat_wave_study_in_Thailand_karphathnaddachnikhwamr_xnlaeakarprayuktchisuksakhlunkhwamrxnniprathesthiy/links/5dc0cbf6a6fdcc2128047c15/Heat-index-development-
-
18358 ร้อนอะไรอย่างนี้… กับดัชนีความร้อนและฮีทสโตรก /article-science/item/18358-08-04-2025เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้องดัชนีความร้อนรายปี ดัชนีความร้อนรายวัน อุณหภูมิประเทศไทย การปรับตัวต่ออากาศร้อน พยากรณ์อากาศร้อน ป้องกันโรคลมร้อน วิธีดูแลตัวเองหน้าร้อน สุขภาพหน้าร้อน ผลกระทบจากความร้อน วิธีป้องกันฮีทสโตรก ปฐมพยาบาลลมแดด อากาศร้อนจัด Heat Stroke Heat Index อุณหภูมิที่รู้สึกได้ ฮีทสโตรก ดัชนีความร้อน โรคลมแดด ค่าความร้อน ภัยธรรมชาติ ความชื้นสัมพัทธ์
