ตัวตนแท้จริงของ ยาลดความอ้วน
โดย :
myfirstbrain
เมื่อ :
วันพฤหัสบดี, 30 มิถุนายน 2554
Hits
25708
ตัวตนแท้จริงของ ยาลดความอ้วน
ในปัจจุบัน ยาลดความอ้วนที่ใช้มีอยู่หลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็มีคุณสมบัติและความเหมาะสมในการใช้แตกต่างกันไป
ในเรื่องนี้เภสัชกรวิโรจน์ สุ่มใหญ่ ผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลโดยแบ่งยาลดความอ้วนออกเป็นชนิดต่างๆ ดังต่อไปนี้
ยาที่ทำให้ไม่อยากอาหาร
ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ อนุพันธ์ของแอมเฟตามีน หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไป ก็คือ กลุ่มของยาบ้า ซึ่ง อย.อนุญาตให้นำเข้ายาที่ใช้ลดความอ้วน 4 ชนิด คือ
- Diethylpropion
- D-norpseudoephedrine
- Phenylpropanolamine
- Phentermine
อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภทที่ 2 ซึ่งห้ามจำหน่ายในร้านขายยาและสถานที่ทั่วไป ทั้งนี้ เนื่องจากมีข้อเสียคือ ทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่อผู้ใช้ได้ เช่น มีอาการนอนไม่หลับ มือสั่น ใจสั่น กระสับกระส่าย หงุดหงิด ปวดศีรษะ มึนงง ปากแห้ง หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีข้อจำกัดสำหรับผู้ใช้บางราย ที่มีการใช้ยารักษาโรคประจำตัวร่วม เช่น โรคปวดหัวไมเกรน หรือผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะติดยาอยู่แล้ว รวมทั้งผู้ที่มีอาการซึมเศร้าและผู้ที่มีอาการเครียดทางอารมณ์สูงอยู่แล้ว
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการใช้ยากลุ่มนี้ คือ ผลข้างเคียงของยา อาจจะเกิดกับผู้ใช้ มากหรือน้อย โดยไม่สามารถระบุได้ชัดเจน อีกทั้งพบว่า ผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้ได้ผล สามารถใช้ยาได้ประมาณ 12 สัปดาห์ และหากไม่จำเป็น แพทย์จะให้ลดปริมาณยาลง จนกระทั่งเลิกใช้ เพราะการใช้ยาเป็นระยะเวลานา อาจไม่ได้ผลในการลดน้ำหนักลงอีก แต่จะเกิดการติดยาแทนได้ และที่สำคัญ การใช้ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
ยาขับน้ำ หรือยาขับปัสสาวะ
ยาในกลุ่มนี้ จะออกฤทธิ์ขับน้ำออกจากร่างกาย ทำให้ปัสสาวะบ่อย และปริมาณมากขึ้น จึงทำให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว นิยมใช้ในกลุ่มนักมวย ที่ต้องการลดน้ำหนัก ให้เท่าพิกัดในระยะเวลาสั้น โดยปกติแล้วแพทย์จะใช้รักษาผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง หรือภาวะที่ร่างกายบวมน้ำ เนื่องจากไม่สามารถขับน้ำปัสสาวะออกเองได้ตามปกติ ผู้ที่ใช้ยานี้เป็นระยะเวลานาน จะสูญเสียเกลือแร่และน้ำ ออกไปทางปัสสาวะมาก อาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง กระหายน้ำ คอแห้ง ปากแห้ง เป็นต้น
สิ่งที่ควรคำนึงถึงอีกประการหนึ่งคือ ยากลุ่มนี้ไม่ได้มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของปริมาณไขมันในเนื้อเยื่อของ ร่างกายแต่อย่างใด จึงไม่สามารถใช้ เพื่อลดน้ำหนักในระยะยาวได้ เพราะหากผู้นั้นดื่มน้ำเข้าไป น้ำหนักที่ลดลงไป ก็จะกลับมาเหมือนเดิม จึงถือว่ายากลุ่มนี้ไม่ควรใช้ในการลดความอ้วน
ยาฮอร์โมน
ยากลุ่มนี้คือ ธัยรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งแม้ว่าจะมีผลให้ผู้ใช้เกิดอาการเบื่ออาหาร แต่จะทำให้การหลั่งของธัยรอยด์ฮอร์โมนตามธรรมชาติผิดปกติ และมีผลกระตุ้นหัวใจ ตับ ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานมากขึ้นและมีผลให้น้ำหนักตัวลดลงได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ การใช้ยาในปริมาณมาก จะทำให้เกิดอาการข้างเคียง คือ ใจสั่น เหงื่อออกมาก รวมทั้งอาจมีอาการ คล้ายกับคนที่เป็นโรคธัยรอยด์เป็นพิษ
ยากลุ่มนี้มีหลายชนิด ทั้งที่อยู่ในรูปของยาเม็ดและยาน้ำ บางชนิดจะออกฤทธิ์กระตุ้นลำไส้ บางชนิดจะทำให้อุจจาระอ่อนตัว หรือเพิ่มปริมาณอุจจาระทำให้ถ่ายมากหรือบ่อยขึ้น โดยหลังจากรับประทานยแล้วจะรู้สึกอยากถ่าย และอุจจาระค่อนข้างเหลว ซึ่งจะเหมาะกับผู้ที่มีอาการท้องผูก ถ่ายยาก
สิ่งที่ควรคำนึงในการใช้ คือ ไม่ควรใช้บ่อยๆ หรือใช้เป็นระยะเวลานาน เพราะมีผลทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่มาก ซึ่งการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย จะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายอย่างมาก นอกจากนี้ อาจเกิดอาการข้างเคียงซึ่งจะแตกต่าง ตามแต่ชนิดยาในภายหลังได้ รวมทั้งอาจทำให้ระบบขับถ่าย ในร่างกายเสียสมดุล และเกิดความผิดปกติได้
ยาลดกรด
ยาลดกรดที่นิยมใช้ทั่วไปจะประกอบด้วยเกลืออลูมิเนียม ซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่าง โดยจะออกฤทธิ์เร็ว เป็นระยะเวลาสั้น ไปทำลายการทำงานของน้ำย่อย ที่เป็นกรดในกระเพาะอาหาร และทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวน้อยลง จึงไม่รู้สึกหิว ยาในกลุ่มนี้แพทย์ใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร และลดอาการปวดท้องที่เกิดจากน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร
สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ การที่ยามีฤทธิ์ทำลายการทำงาน ของน้ำย่อยอาหาร และดูดซึมเข้าสู่ร่างกายน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นได้ นอกจากน ี้ยังอาจเกิดอาการข้างเคียงอื่นจากการใช้เป็นประจำ เช่น ท้องผูก ท้องเดิน และอาการอื่นๆ ตามแต่ชนิดของยา
ยาหรือสารเคมีที่ผลิตจากใยพืช
ยาหรือผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ มักจะอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น อาหารสำเร็จรูปที่ปรุงแต่ง ให้มีพลังงานต่ำ ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มักผลิตมาจากพืชที่มีเส้นใยอาหารมาก เช่น หัวบุก ทำให้เป็นแบบสำเร็จรูป สามารถรับประทานได้อย่างสะดวก บางชนิดเมื่อกินเข้าไปแล้ว จะพองตัวในกระเพาะอาหารทำให้รู้สึกอิ่ม ไม่หิวแต่ไม่ให้คุณค่าสารอาหารท ี่ต้องการอย่างเพียงพอ ดังนั้น จึงไม่ควรกินผลิตภัณฑ์ประเภทนี้แทนอาหารมื้อหลัก แต่สามารถใช้ในกรณีที่ผู้นั้นมีนิสัยการกินอาหารปริมาณมากๆ ในแต่ละมื้อ การกินก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง จะทำให้กินอาหารได้น้อยลงและอิ่มเร็วขึ้น
สารสกัดจากส้มแขก
ปกติ อย.ให้ขึ้นทะเบียนในลักษณะของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงไม่สามารถรับรองผลในด้านลดความอ้วนได้เลย โดยสารสกัดจากผลส้มแขกที่สำคัญในการนำมาลดน้ำหนัก คือ สารไฮ ดรอกซีซิตริกแอซิค (Hydroxycitric Acid) เรียกย่อๆ ว่า HCA
สาร HCA นี้สามารถยับยั้ง การทำงานของเอ็นไซม์ ที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์กรดไขมัน และโคเลสเตอรอลได้ และยังมีคุณสมบัติ ช่วยยับยั้งไม่ให้ร่างกายของคน เปลี่ยนสารอาหารจำพวกแป้งไปเป็นไขมัน
สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ การใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อลดน้ำหนักนั้น จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า สาร HCA มีผลต่อสารอาหารประเภทแป้งเท่านั้น ไม่ใช่กับอาหารทุกชนิดที่กินเข้าไป ซึ่งมีทั้งสารอาหาร ประเภทไขมัน-โปรตีนที่สามารถเก็บสะสมในร่างกายได้เช่นกัน จึงควรพิจารณาประเภทอาหาร ที่เป็นสาเหตุที่แท้จริงความอ้วนประกอบด้วย
แอบซอร์บิทอล (Absorbttal)
ผลิตภัณฑ์นี้ มีลักษณะเป็นเส้นใยอาหารชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า ไคโตซานที่ผลิตจากส่วนนอก หรือเปลือกของสัตว์ เช่น เปลือกกุ้ง เปลือกปู เป็นต้น โดยเมื่อนำมาย่อยสลายแล้วจะได้สารไคโตซาน ที่มีคุณสมบัติในการจับไขมันได้ดี อย.ให้ขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงไม่สามารถรับรองผลในการลดความอ้วนได้เช่นกัน ปัจจุบันมีการใช้แอบซอร์บิทอลในการควบคุมน้ำหนักลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ และโคเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งการใช้แอบซอร์บิทอล จะต้องระมัดระวัง ในเรื่องของการขาดสารอาหารจำพวกวิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามินเอ ดี อี และเค
สิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ การใช้แอบซอร์บิทอล จะมีผลในด้านลดการดูดซึมไขมันจากอาหาร ที่กินเท่านั้น ไม่สามารถเข้าไปดึงไขมันที่ร่างกายสะสมอยู่ในรูปของ เนื้อเยื่อไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ รวมถึงไม่สามารถลดการสะสมของสารอาหารอื่นเช่นกัน
คำสำคัญ
ยา,อ้วน
ประเภท
Text
ลิขสิทธิ์
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
ผู้แต่ง หรือ เจ้าของผลงาน
myfirstbrain
วิชา
วิทยาศาสตร์ทั่วไป
ระดับชั้น
ม.1, ม.2, ม.3, ม.4, ม.5, ม.6
กลุ่มเป้าหมาย
ครู, นักเรียน, บุคคลทั่วไป
-
2031 ตัวตนแท้จริงของ ยาลดความอ้วน /article-science/item/2031-weight-loss-pillsเพิ่มในรายการโปรด