การเก็บรักษายาที่ถูกต้อง
การเก็บรักษายาที่ถูกต้อง
การ มียาบางชนิดเก็บไว้ในบ้านหรือที่ทำงานนั้น ก็นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพราะบางครั้งที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถรักษาได้ทันท่วงที ซึ่งการเก็บรักษายาอย่างถูกวิธีนั้นมีความสำคัญมาก เพราะหากเก็บรักษาไม่ดีแล้ว ยาอาจเสื่อมก่อนถึงวันหมดอายุได้ และเมื่อนำมาใช้ก็อาจส่งผลเสียมากกว่า วันนี้จึงขอแนะนำวิธีการเก็บยาให้มีคุณภาพอยู่ได้นาน และมีความปลอดภัยมาฝากค่ะ...
ข้อควรปฏิบัติในการเก็บรักษายา
- อ่านสลากยาให้ครบถ้วน รวมทั้งคำแนะนำการเก็บรักษายา
- กรณียาทั่วไป ที่ไม่ระบุการเก็บรักษาเป็นพิเศษ ให้เก็บยาที่อุณหภูมิห้องบริเวณที่ไม่ร้อน และไม่มีแสงแดดส่อง ห้ามทิ้งยาไว้ในรถยนต์ เพราะเมื่อจอดกลางแดด แม้เพียงไม่นานอุณหภูมิในรถจะร้อนมาก ทำให้ยาเสื่อมได้ง่าย และควรเก็บในที่ที่เด็กหยิบยาเองไม่ได้
- กรณียาที่ระบุว่าให้เก็บยาไว้ในตู้เย็น ห้ามแช่แข็ง หมายถึงให้เก็บในตู้เย็นช่องปกติ ไม่ควรเก็บที่ชั้นใกล้ช่องแช่แข็ง เพราะมีความเย็นจัดจนทำให้เป็นน้ำแข็งได้ หรือเก็บที่ประตูตู้เย็น เพราะอุณหภูมิอาจไม่เย็นพอ จากการที่มีการเปิด ปิด ประตูตู้เย็น บ่อยๆ
- ยาที่บรรจุในขวดสีชา หมายถึงยาที่ต้องป้องกันไม่ให้ถูกแสง ไม่ควรเปลี่ยนภาชนะบรรจุยาไปเป็นแบบใสหรือขาว เพราะจะทำให้ยาเสื่อมได้จากแสง
- ยาที่ต้องระมัดระวังเรื่องความชื้นควรใส่สารกันชื้น (มักเห็นเป็นซองเล็กๆ ภายในมีเม็ดกันชื้นอยู่สอดอยู่ในขวดยา) ไว้ตลอดเวลา และปิดภาชนะบรรจุให้แน่น
- ควรเก็บยาไว้ในภาชนะบรรจุเดิมซึ่งมีสลากระบุชื่อยาและวันที่ได้รับยานั้น จะทำให้สามารถพิจารณาระยะเวลาที่ควรเก็บยาที่เหลือนั้นได
ควรเก็บยาที่เหลือไว้นานเท่าใด ?
- ยา ปฏิชีวนะที่ต้องผสมน้ำ และเก็บในตู้เย็น มีอายุของยา 7-14 วัน หลังจากผสมน้ำและเก็บในตู้เย็น หลังจากนั้น ประสิทธิภาพของยาจะลดลงอย่างมาก ทำให้การรักษาไม่ได้ผล
- ยาน้ำทั่วไป หลังจากเปิดขวดแล้วควรเก็บไว้ไม่เกิน 6 เดือน หรือตามกำหนดวันหมดอายุอันใดอันหนึ่งที่มาถึงก่อน และพิจารณาลักษณะภายนอกของยาประกอบด้วย เช่น ดูขุ่น ผิดปกติ หรือมีการตกตระกอน หรือสีเปลี่ยนไป ถ้าไม่แน่ใจควรทิ้งไปจะดีกว่า
- ยาเม็ดที่ไม่ได้บรรจุใน Foil ควรเก็บไว้ไม่เกิน 6-12 เดือน โดยพิจารณาลักษณะภายนอกของยาประกอบด้วย เช่น เม็ดร่วน แตกหัก หรือ สีเปลี่ยนไป ควรทิ้งยาที่พบนั้น
- ยาเม็ดที่บรรจุ Foil สามารถเก็บไว้ได้ถึงวันหมดอายุของยา
- ยาใช้ภายนอก เช่น ครีมต่างๆ ควรเก็บไว้ไม่เกิน 6 เดือน หรือตามกำหนดวันหมดอายุอันใดอันหนึ่งที่มาถึงก่อน และพิจารณาลักษณะภายนอกของยาประกอบด้วย
- ยาหยอดตา, ยาป้ายตา ที่เปิดใช้แล้ว ควรเก็บไว้ไม่เกิน 30 วัน หลังจากเปิดใช
โปรดระลึกไว้เสมอว่า ยาที่เสื่อมสภาพนั้น อาจมีอันตรายต่อสุขภาพของท่าน หรือคนที่คุณรักได้มากและบางครั้ง การเก็บรักษายาที่ไม่ถูกต้องทำให้ยาเสื่อมก่อนถึงวันหมดอายุได้ จึงควรเอาใจใส่เรื่องการเก็บรักษายาที่ได้รับมา และทานยาตามที่แพทย์สั่งเสมอ เมื่อมีปัญหาอย่างไรควรปรึกษาแพทย์
"ยานั้นมีคุณอนันต์ แต่ก็อาจมีโทษมหันต์ ถ้าใช้ยาไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะยาที่เสื่อมสภาพ หรือยาหมดอายุ"
ส่วนท่านที่ชอบซื้อยาทานเอง โดยรักษาตามคำบอกของเพื่อน หรือญาติ ที่อาจจะมีอาการคล้ายกันนั้น ก็อยากจะขอให้ระมัดระวัง เนื่องจากยาที่ใช้อาจจะไม่ตรงกับโรคที่เป็น หรือใช้ขนาดยาที่ไม่ถูกต้อง หรืออาจจะมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่แต่ละคน อาจจะมีความแตกต่างกัน เนื่องจากการดำเนินโรคที่ต่างกัน รวมทั้งประวัติการแพ้ยา ซึ่งแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน จึงอยากขอให้ปรึกษาแพทย์จะดีกว่าการพยายามรักษาเอง
http://www.bangkokhealth.com
-
2129 การเก็บรักษายาที่ถูกต้อง /article-science/item/2129-drug603เพิ่มในรายการโปรด