โลกของแมงมุม
โลกของแมงมุม
ตำนาน รักโบราณได้กล่าวถึงกำเนิดของแมงมุมว่า ในกาลครั้งหนึ่งที่นานมาแล้ว มีสตรีรูปโฉมงดงามนางหนึ่งชื่อ "Arachne" นางมีฝีมือทอผ้าได้สวยงามอย่างไร้ผู้ใดเทียมทานในแผ่นดิน ความสามารถที่สูงส่งของนางได้ทำให้นางรู้สึกเหิมเกริม จึงได้ท้าทายเทพธิดานาม "Athena" ให้มาทอผ้าสู้กับนาง และเมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลง ผ้าที่นางทอมีลวดลายและสีสันสู้ผ้าที่ Athena ทอไม่ได้ นางจึงแพ้ และรู้สึกกลัวในโทษทัณฑ์ที่จะได้รับ Athena จึงทรงประทานชีพคืนให้นางอีกครั้งหนึ่ง แต่ให้มีชีวิตสืบต่อไปในร่างของแมงมุมที่จะต้องชักใยตลอดชีวิต ชื่อชีววิทยาของแมงมุมจึงเป็น Arachnida ด้วยประการฉะนี้แล
แต่ในโลกของความจริงแล้ว นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า แมงมุมตัวแรกของโลกได้ถือกำเนิดเมื่อประมาณ 400 ล้านปีก่อนนี้ มันจุติบนโลกพร้อมๆ กับสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง และถึงแม้จะมีกำเนิดมานานก็ตามหน้าตารูปร่างของมันก็มิได้เปลี่ยนจากอดีตมาก เลย แมงมุมเป็นสัตว์พวกแมลง มันมีขา 8 ขา มีเขี้ยว แต่ไม่มีหนวด หรือปีก นักกีฏวิทยาประมาณว่าโลกนี้มีแมงมุมประมาณ 36,000 ชนิด และมีขนาดต่างๆ กัน ตั้งแต่เล็กมากคือ มีขนาดตัวสั้นกว่า 0.43 มิลลิเมตร จนถึงพันธุ์ Theraphosa leblondi ที่พบในประเทศ Surinam ซึ่งมีขนาดลำตัวยาวถึง 28 เซนติเมตร และหนักถึง 123 กรัม ซึ่งนับว่าใหญ่ถึงขนาดจับนกเล็กๆ เป็นอาหารได้สบายๆ
ความสามารถที่เด่นเป็นพิเศษของแมงมุมคือ ความสามารถในการชักใย นักชีววิทยาประมาณว่า ถ้า เราเอาใยแมงมุมในโลกทุกตัวชักใย 1 วันมาต่อกันเป็นใยเดียวเราจะได้ใยที่ยาวพอจะพันรอบโลกได้ 1 รอบ และหากเราคอยนาน 9 วัน ใยที่แมงมุมทั้งโลกทอ จะยาวถึงดวงจันทร์เลยทีเดียว
สำหรับคำถามที่ว่าเหตุใดแมงมุมจึงชักใยนั้น ก็มีทฤษฎีที่ใช้ตอบมากมายเช่น A. Decae แห่ง National Museum of Natural History ที่เมือง Leaden ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเชื่อว่าบรรพบุรุษของแมงมุมได้เคยสร้างรังอยู่ตามฝั่งริมน้ำ มันจึงใช้วิธีปั่นใยขึ้นมาบุรังของมันเพื่อทำให้รังแข็งแรง แต่ H. Mc Cook คิดว่าบรรพบุรุษของแมงมุมใช้วิธีขับฉีดสารโปรตีนออกจากร่างกายเพื่อให้คู่ ต่อสู้ของมันติดตามมันได้ถูกทาง และโปรตีนที่ว่านั้นคือใยแมงมุมนั้นเอง ตามปกติใยแมงมุมจะมีขนาดและรูปทรงต่างๆ กัน ในบางครั้งเราจะเห็นแมงมุมกินใยของมันเอง ทั้งนี้ก็เพื่อบริโภคน้ำที่ติดอยู่ตามใย และจริงๆ แล้วใยก็คืออาหารประเภทโปรตีนสำหรับร่างกายมัน
แมงมุม พันธุ์ Theraphosa leblondi และ Araneus diadematus
C. Craig แห่งมหาวิทยาลัย Yale พบว่าแมงมุมมักจะตกแต่งใยของมันด้วยสีต่างๆ เพื่อหลอกล่อเหยื่อให้บินมาติดกับ และสีที่ใช้ในการนี้มักจะเลียนสีของดอกไม้ที่แมลงเหล่านั้นชอบ เช่น ในวันที่แดดสดใส แมงมุมพันธุ์ Nepphila Clavipus จะขับใยสีเหลืองออกมามากกว่าปกติ เพราะในสายตาของแมลงทั่วไปนั้น สีเหลืองเป็นสีของดอกไม้ และใบไม้อ่อน
นักวิทยาศาสตร์พบว่าใยของแมงมุมหลายชนิดสามารถสะท้องแสงอุลตร้าไวโอเลตได้ ดี และตามปกติตาของคนจะมองไม่เห็นแสงชนิดนี้ แต่ตาแมลงจะมองเห็นแสงนี้ได้สบายๆ เพราะแมลงใช้แสงอุลตร้าไวโอเลตในการนำทาง ดังนั้น เมื่อแสงอุลตร้าไวโอเลตสะท้อนจากใยแมลงก็จะบินเข้าไปหาใยทันที แต่เมื่อบินเข้าไปทีไร ก็ไม่ได้บินกลับออกมาสักที แมลงจึงเกิดการเรียนรู้ และพยายามจะหลบๆ ใยแมงมุมอยู่เหมือนกัน แต่แมงมุมก็ไม่ได้ย่อท้อ มันจะใช้วิธีเปลี่ยนรูปทรงของวงใย และชักใยของมันอยู่ในที่ต่างๆ กัน โดยไม่ซ้ำสถานที่เดิม เพื่อไม่ให้แมลงจำตำแหน่งของใยได้ เช่น แมงมุม Parawixia vistriata ที่พบในทวีปอเมริกาใต้ แมงมุมชนิดนี้จะชักใยที่มีขนาดใหญ่-เล็กเป็นฤดู ฤดูใดที่มีแมลงขนาดเล็กมาก ใยแมงมุมจะมีรูถี่ แต่พอถึงฤดูที่มีปลวกขนาดใหญ่มากมาย ใยของมันก็จะมีรูห่าง ตามขนาดของปลวก
แมงมุมที่นับว่ามีชื่อเสียงในทางลบ คือแมงมุมพันธุ์ Latradictus hasselti เพราะแมงมุมตัวเมียจะเคี้ยวกินตัวผู้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กัน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้เพราะตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้มาก นักจิตวิทยาที่รู้เหตุผลว่าเหตุใดผู้ชายตัวเตี้ยจึงชอบหลงรักผู้หญิงที่สูง คงตอบไม่ได้ว่า เหตุใดแมงมุมตัวผู้ที่เล็กจึงชอบให้ตัวเมียที่มีขนาดใหญ่กว่ากิน สําหรับเรื่องนี้ M.C.B. Andrade แห่งมหาวิทยาลัย Cornell ในสหรัฐอเมริกาได้ให้คําอธิบายว่า เพราะแมงมุมตัวผู้พันธุ์นี้มีชีวิตที่ค่อนข้างสั้น ดังนั้น มันต้องรีบสืบพันธุ์ เพื่อจะได้เป็นพ่อแมงมุมที่มีลูกสืบสกุลและถึงแม้ว่าการที่จะได้ชื่อว่าเป็น พ่อนี้ จะทำให้มันต้องตายก็ตาม มันก็ยอม
ทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์หลายคนกำลังสนใจในความอัศจรรย์ของใยแมงมุมมาก เพราะได้มีการพบว่า ใยแมงมุมที่เบาและเหนียวนี้ หากนำมาทอเป็นผ้า จะมีสีสุกใสเหมือนสีไข่มุก ที่จะเร้าตาและตรึงใจเศรษฐินีทั้งหลาย และ ใครก็ตามที่สวมใส่เสื้อใยแมงมุมเขาจะปลอดภัยจากการถูกยิง เพราะเสื้อสามารถป้องกันกระสุนให้เขาได้ แพทย์อนาคตก็คาดหวังที่จะใช้ใยแมงมุมทำด้ายเย็บแผล เพราะนอกจากใยจะไม่เป็นพิษต่อบาดแผลแล้ว เวลามันได้รับความชื้นจากแผล มันจะหดตัว ทำให้มันมีประสิทธิภาพในการสมานแผลสูงกว่าด้ายเย็บแผลธรรมดาๆ และวิศวกรยังพบอีกว่า ใยแมงมุมนี้มีความเหนียวยิ่งกว่าเหล็กกล้าและยืดหยุ่นกว่าไนลอน มันจึงเป็นวัสดุอนาคตที่น่าสนใจนักเทคโนโลยีชีวภาพก็กำลังใฝ่ฝันที่จะพัฒนา ยีน (gene) สร้างใยของแมงมุมให้มันผลิตใยที่เหนียวขึ้น และได้มากขึ้นเพราะทุกวันนี้แมงมุมแต่ละตัวในแต่ละวันผลิตใยได้น้อย เช่น หากเราต้องการจะทอผ้าพันคอสักผืน เราต้องใช้ใยแมงมุมถึง 5,000 ตัวมาทอใยและชักใยตลอดชีวิตมัน
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คงจะทำให้คุณเห็นว่า เวลาเราเห็นแมงมุมครั้งต่อไปหากเราได้เฝ้าดูพฤติกรรมชักใย จับเหยื่อ และหาคู่ของมันเราก็คงจะได้เข้าถึงโลกเร้นลับโลกหนึ่งที่คนอีกหลายคนไม่เคย เห็นหรือรู้
-
2143 โลกของแมงมุม /article-science/item/2143-spider607เพิ่มในรายการโปรด