โรค เอสแอลอี เมื่อร่างกายทำร้ายตัวเอง
โรค "เอสแอลอี" เมื่อร่างกายทำร้ายตัวเอง
โรคเอสแอลอี หลายคนเรียกว่า โรคพุ่มพวง เนื่องจากคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีลูกทุ่งป่วยด้วยโรคนี้ และเสียชีวิตต่อมาในที่สุดโรคเอสแอลอี ( Systemic Lupus Erythematosus) คือโรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยมีปัจจัยแวดล้อมบางอย่างเป็นตัวกระตุ้นให้ความผิดปกติปรากฏชัดขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติของผู้ป่วยจะทำร้ายเนื้อเยื่อตัวเอง โดยการสร้างสารเคมีไปทำให้เกิดการอักเสบที่หลอดเลือดและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ของอวัยวะต่างๆ ทำให้อวัยวะนั้นเกิดการอักเสบและเสียหน้าที่ อวัยวะที่มีการอักเสบบ่อยในโรคนี้คือ ข้อ ผิวหนัง ไต หัวใจ ปอด ระบบโลหิต ระบบประสาท เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าโรคเอสแอลอีมีอาการแสดงได้เกือบทุกอวัยวะ
ผู้ ป่วยโรคเอสแอลอีแต่ละรายอาจจะมีอาการแสดงของโรคที่ระบบใดระบบหนึ่งเพียงระบบ เดียว หรือมีพร้อมๆ กันหลายระบบ หรือเริ่มมีอาการที่อวัยวะหนึ่งก่อน แล้วจึงเกิดอาการที่อวัยวะอื่นตามมาก็ได้ และอาจมีความรุนแรง ทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้
ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมอยู่ก่อน แล้วมีปัจจัยภายนอกบางอย่างเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ ปัจจัยภายนอกดังกล่าว ได้แก่ แสงแดด ความร้อน ยาบางชนิด เชื้อโรค ความเครียด การตั้งครรภ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบางอย่างภายในตัวผู้ป่วยเอง เช่น ฮอร์โมนเพศ จึงพบว่าเพศหญิงเป็นโรคนี้มากกว่าเพศชายถึง 10 เท่า โรคนี้พบได้ประปรายทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
สาเหตุของโรค
ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองอย่างผิดปกติ ต่อเชื้อโรคหรือสารเคมีบางอย่าง ทำให้มีการสร้างแอนติบอดีหรือภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อต่างๆ ของตัวเอง บางคนจึงเรียกว่า โรคภูมิแพ้ตัวเอง
อาการของโรค
การตรวจวินิจฉัย
ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองเป็นโรคเอสแอลอีควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ว่าเป็นโรคนี้จริงหรือไม่ หากเป็นจริงจะได้รับการประเมินว่าโรคเกิดกับอวัยวะใดบ้าง ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจร่างกายโดยละเอียด พร้อมทั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ และเอ็กซเรย์ทรวงอก เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค
ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคเอสแอลอี
1. อย่าวิตกกังวล โรคนี้สามารถควบคุมได้ด้วยยา ถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด อาการของโรคจะสงบลงได้
2. รักษาสุขภาพทั่วไป ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายแต่พอควร หลีกเลี่ยงสิ่งเสพติดทุกชนิด และทำจิตใจให้สงบ จะช่วยให้ควบคุมโรคได้ง่าย
3. ต้องปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์บ่อยๆ หากต้องการเปลี่ยนแพทย์เพราะมีความจำเป็นจริงๆ ควรขอข้อมูลการเจ็บป่วยและการดูแลรักษาติดตัวไปให้แพทย์ผู้ดูแลท่านใหม่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการดูแลรักษาต่อไป
4. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ดูแลรักษา เช่น รับประทานยาให้ตรงตามเวลาและขนาดที่กำหนด และพบแพทย์ตามเวลานัดหมาย
ข้อห้ามสำหรับผู้ป่วยเอสแอลอี
1. ไม่ควรออกแดดจัดทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ถ้าจำเป็นต้องออกกลางแจ้งควรใช้ร่มและครีมกันแดด
2. หลีกเลี่ยงอากาศเย็นจัด ร้อนจัด และการออกแรงหรือออกกำลังกายหนักๆ
3. พยายามหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ เช่น อย่ารับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด อย่าเข้าใกล้คนป่วย อย่าอยู่ในที่แออัด เป็นต้น และทุกครั้งที่รู้สึกไม่สบาย ควรรีบปรึกษาแพทย์
4. ไม่ควรทดลองรักษาโรคด้วยยาต่างๆ เช่น ยาไทย ยาจีน ยาหม้อ เพราะอาจเกิดอาการแพ้ยาแทรกซ้อน ทำให้โรคกำเริบได้
อย่าง ไรก็ตามยังมีปัจจัยบางอย่างที่ทั้งผู้ป่วยและแพทย์ไม่สามารถควบคุมและหลีก เลี่ยงได้ ในกรณีนี้ ผู้ป่วยอาจยังมีอาการของโรคอยู่บ้าง แต่หากผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวได้ อาการของโรคก็จะไม่รุนแรงและสงบลงได้ในที่สุด และช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับโรคอย่างเป็นสุขได้
-
2144 โรค เอสแอลอี เมื่อร่างกายทำร้ายตัวเอง /article-science/item/2144-woman-syndromeเพิ่มในรายการโปรด