รัก เป็นฉันใด
"รัก" เป็นฉันใด
"ความรัก" เป็นปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์หรือไม่ ไฉนเราจึงรู้สึกร้อนผ่าว หัวใจเต้นระรัว เมื่อผู้ที่พึงใจเฉียดใกล้เข้ามา ปฏิกิริยาเหล่านี้อธิบายได้จากแรงตอบสนองของร่างกายรักกับใคร่แยกกันยังไงก็ ไม่ออก
เมื่อหลายปีก่อน แอนเดรียส บาร์เทิลส์ (Andreas Bartels) เพิ่งได้รับปริญญาเอกทางด้านประสาทชีววิทยามาหมาดๆ จึงมีเวลาว่างพอที่จะขบคิดอย่างจริงจังว่า "ความรักคืออะไร?"
สิ่งที่ทำให้คน 2 คนอยากอยู่คู่กันสารเคมีในร่างกายมีส่วนสำคัญ (เครดิตภาพ soulmatesavvy.com)
สมมติฐานของบาร์เทิลส์บอกว่า รักคือปรากฏการณ์ทางสรีรวิทยา เขาและอาจารย์ที่ปรึกษาจากอิมพีเรียลคอลเลจออฟลอนดอน (Imperial College of London) ได้ใช้เครื่องตรวจวัดคลื่นสมอง (fMRI) สแกนผู้ที่มีความรักมากว่า 2 ปีจำนวน 17 คน เพื่อเปรียบเทียบสมองขณะที่พวกเขาจ้องมองคนรักและเพื่อน และในที่สุด พวกเขาก็ได้ภาพสมองขณะที่กำลังมีปฎิกิริยาต่อความรัก
ขณะเดียวกัน เฮเลน ฟิชเชอร์ (Helen Fisher) นักมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยรัตเจอร์ส ก็ได้บันทึกภาพในการทดลองที่คล้ายๆ กัน ซึ่งทำให้เห็นว่า ความรักเป็นแรงขับพื้นฐาน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับความหิวและความต้องการทางเพศ มากกว่าเกี่ยวกับอารมณ์เช่นความสุข
"ทั่วทุกมุมโลก ผู้คนต่างตกหลุมรัก มนุษย์มีทั้งความอัศจรรย์ในรัก ตำนานแห่งรัก คลั่งรัก และตายเพราะรัก" ฟิชเชอร์กล่าว ซึ่งปัญหาที่ท้าทายคือการแยกแยะระหว่างความรักและความใคร่
เพื่อให้แยกแยะชัดเจนระหว่างความรู้สึกรักและใคร่ งานวิจัยชิ้นต่อมาของบาร์เทิลส์จึงได้เปรียบเทียบภาพสมองของแม่ที่มองลูก ซึ่งแสดงถึงความรักที่แท้จริง นอกจากจะเกิดปฏิกิริยาที่สมองส่วนไฮโปทาลามัสซึ่งเป็นส่วนการทำงานหลักแล้ว ดูเหมือนว่าความรู้สึกรักยังเชื่อมโยงกับการเร้าอารมณ์ทางเพศ
ดังนั้นจากการทดลองของบาร์เทิลส์จึงไม่สามารถใช้เครื่อง fMRI แยกแยะความรักแท้จริงระหว่างแม่ลูก และความรักที่เต็มไปด้วยความใคร่คู่รักได้ เพราะความรักยังคงเกี่ยวโยงกับเรื่องดังกล่าวอยู่
รักอยู่ที่ใจหรือใช้สมอง
หลักการทำงานของเครื่อง fMRI คือการวัดกระแสเลือดที่อยู่ในสมอง เมื่อกล้ามเนื้อ เซลล์สมองทำงานจะต้องการเลือดมาก และในทางกลับกันถ้าส่วนใดไม่ทำงานก็ต้องการเลือดน้อยลง ดังนั้นการทดลองหลายชิ้นจึงบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า "สมอง" เป็นแหล่งสั่งการหลักเมื่อเกิดความรัก
พื้นที่สีส้มคือกิจกรรมของสมอง โดยภาพชุดบนเป็นสมองขณะแม่มองดูลูก
และชุดล่างคือระหว่างคนรัก (เครดิตภาพ Andreas Bartels)
อย่างไรก็ดี การตรวจด้วยเครื่อง fMRI ก็เป็นเพียงแค่การดูว่าสมองส่วนใดทำงาน แต่ไม่ได้บ่งชี้ถึงการเชื่อมโยงของเส้นประสาท แม้ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จะสามารถบ่งชี้ยีนที่เกี่ยวข้องกับความรักได้ แล้ว แต่ปริศนาเรื่องการเชื่อมโยงและสั่งการให้เกิดอารมณ์การแสดงออกต่างๆ ยังคงต้องค้นหากันต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีนักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยเอมอรี ในแอตแลนตา ได้ทดลองกับหนูที่จับคู่แบบผัวเดียวเมียเดียวเกือบตลอดชีวิตจนพบว่า สมองส่วนที่ต้องการเสพความรักนั้น เป็นส่วนเดียวกับที่ต้องการเมื่อติดสารเสพติด ดังนั้นเมื่อต้องแยกจากคู่ที่คบหากันมายาวนาน จึงยากนักที่จะทำใจยังคงอาลัยโหยหา
ปฏิกิริยาเคมีเมื่อมี "รัก"
แม้ว่าจะหาจุดกำเนิดแห่งรักและทางแยกของความใคร่ไม่ออก แต่ฟิชเชอร์ก็ได้อธิบายบันได 3 ขั้นของร่างกายที่ตอบสนองจนนำไปสู่การมีรัก
สมองทำให้เกิดความรัก แต่หัวใจกลับเป็นสัญลักษณ์แห่งรัก
ขั้นที่ 1 ความใคร่ ฮอร์โมนเพศ ที่ชื่อว่าเทสโทสเตอโรนและเอสโตรเจน ทั้งในชายและหญิงที่ยังทำงานอยู่ แสดงว่าเราคงต้องการความใคร่ เป็นหนทางไปสู่การมีรัก
ขั้นที่ 2 ดึงดูดใจ เมื่อเรา "ปิ๊ง" ใครสักคน นั่นก็เพราะเขาหรือเธอผู้นั้นช่างติดตาตรึงใจ ซึ่งแรงดึงดูดที่ให้เราเข้าหาคนผู้นั้นไม่ใช่แรงโน้มถ่วงของโลก แต่เป็นสารสื่อสัญญาณระหว่างเส้นประสาท 3 ส่วนหลักคือ อะดรีนาลีน โดพามีน และเซโรโทนิน
ทันทีที่สมองรับรู้ว่าเราตกหลุมรัก อะดรีนาลีนเป็นตัวการแรกที่ทำปฏิกิริยาตอบสนอง แรงดันเลือดที่ สูงขึ้น หัวใจเต้นแรง และริมฝีปากซีดด้วยความประหม่า ขณะเดียวกันสารโดพามีนในสมองก็เพิ่มขึ้นทำให้เราเป็นสุข ยามนั้นเราจะมีพลังงานมากขึ้น กินและนอนน้อยลง พร้อมกันนี้สารเซโรโทนินซึ่งควบคุมอารมณ์ก็จะมีเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เรารับรู้ถึงความเปี่ยมสุข
ขั้นที่ 3 ใกล้ชิดสนิทแนบ แน่นอนว่าเมื่อพึงใจกันแล้ว ก็ย่อมต้องการอยู่ใกล้กัน ซึ่งมีฮอร์โมน 2 ตัว ทำหน้าที่เป็น "กาวใจ" อย่างดี ได้แก่ "ออกซิโตซิน" (oxytocin) ที่ได้รับฉายาว่าฮอร์โมนแห่งความผูกพัน ซึ่งทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ โดยจะมีมากในช่วงถึงจุดสุดยอดในการมีเพศสัมพันธ์ และในน้ำนมของมารดา (นั่นจึงทำให้คู่รักที่มีกิจกรรมกันบ่อยและแม่กับลูกมีความผูกพันกันมาก)
สารกาวใจอีกตัวคือ "วาโสเพรสซิน" ฮอร์โมนที่หลั่งหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งสารนี้ทำให้เรามีเซ็กซ์มากกว่าแค่การสืบพันธุ์ และช่วยทำให้เราครองคู่อยู่กันได้ยาวนาน
นอกจากนี้ นักจิตวิทยายังได้แจกแจงกรรมวิธีการพูดบอกรักของคนทั่วไปให้ประทับใจนั้น น้ำหนักอยู่ที่ภาษากายถึง 55% ส่วนการใช้น้ำเสียงและความเร็วในการพูดคำรัก 38% และสาระจากถ้อยคำที่เราพูดเป็นเพียง 7% ดังนั้นวิธีการสื่อถึง "ความรัก" ทั้งเริ่มต้นรักและประคองความรัก ควรสื่อสาร "ภาษาที่เราไม่ได้พูด" อย่างใส่ใจและระมัดระวัง
www.inmagine.com
-
2146 รัก เป็นฉันใด /article-science/item/2146-love608เพิ่มในรายการโปรด