รักและฟิสิกส์ของ Albert กับ Mileva (1)
รักและฟิสิกส์ของ Albert กับ Mileva (1)
ใน สายตาคนทั่วไป นักวิทยาศาสตร์เป็นบุคคลที่ทำงานอย่างไร้อารมณ์สุนทรีย์ และมีจิตใจที่แข็งกระด้างคือ ไม่อินังขังขอบกับโลกภายนอกแม้แต่น้อย แต่ถ้าเราได้ศึกษาชีวประวัติของคนเหล่านี้จากจดหมายโต้ตอบ หรือจากสมุดบันทึกการทำงานแล้ว เราก็จะเห็นว่านักวิทยาศาสตร์ก็เช่น นักการเมือง ดาราภาพยนตร์ นักประพันธ์ ฯลฯ คือ มีอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง อิจฉา ริษยา ฯลฯ ที่หลากหลายเหมือนๆ กัน
ในหนังสือ Einstein, History, and other Passions ที่ Gerald Holton เรียบเรียง และจัดพิมพ์โดย American Institute of Physics ในปีพ.ศ.2538, Holton ได้ศึกษาชีวิตของหนุ่ม Albert Einstein และสาว Mileva Maric นับตั้งแต่เริ่มรักกันแล้วต่อมาพยายามสร้างครอบครัว จนกระทั่งสร้างงานวิจัยมหัศจรรย์
Mileva Maric เกิดเมื่อปีพ.ศ.2418 บิดาเป็นชาว Serbia มารดาเป็นชาว Montenegro ครอบครัวมีฐานะค่อนข้างดี และตั้งถิ่นฐานอยู่ในฮังการี ใน วัยเด็ก Mileva ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมชาย ทั้งนี้เพราะเธอต้องการเรียนฟิสิกส์อันเป็นวิชาที่โรงเรียนหญิงในสมัยนั้น ไม่อนุญาตให้เด็กผู้หญิงเรียน การมีความสามารถสูงทำให้ผลการเรียนฟิสิกส์ของเธออยู่ในระดับดีเยี่ยม แต่เธอก็ไม่สามารถเรียนต่อในมหาวิทยาลัยในฮังการีได้ ทั้งนี้เพราะฮังการียุคนั้นไม่อนุญาตให้สตรีเรียนสูงถึงระดับมหาวิทยาลัย จะอย่างไรก็ตาม เธอก็มีโอกาสเรียนฟิสิกส์ได้ เพราะมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศสได้เปิดรับสตรีเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ.2406 และอีก 2 ปีต่อมา มหาวิทยาลัย Zurich ในสวิตเซอร์แลนด์ก็ยินยอมให้โอกาสสตรีบ้าง ด้วยเหตุนี้สตรีต่างชาติคนใดที่รู้ภาษาฝรั่งเศสดี เช่น Maria Sklodowska (หรือ Marie Curie ที่เรารู้จักดี) ก็ต้องเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อศึกษาต่อ ส่วน Mileva ซึ่งสนทนาและเขียนภาษาเยอรมันได้อย่างคล่องแคล่ว ก็ต้องไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
Mileva เดินทางถึงสวิตเซอร์แลนด์ในปีพ.ศ.2437 และได้เข้าศึกษาในระดับ 2 ปีสุดท้ายของมัธยมปลาย ขณะสำเร็จการศึกษา เธอมีอายุ 21 ปี แล้วเธอก็ตัดสินใจเรียนฟิสิกส์ต่อที่ Swiss Federal Polytechnic School (หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า Poly หรือ ETH ซึ่งย่อมาจากคำว่า Eidgenossische Technische Hochschule) ที่เมือง Zurich
การสัมภาษณ์และสนทนากับเพื่อนที่เคยเรียนร่วมชั้นกับเธอ ทำให้เรารู้ว่าเธอเป็นคนสวยที่เงียบขรึม และการเดินของเธอมีอาการกะเผลกเล็กน้อย นอกจากนี้เธอก็ยังเป็นคนที่ทุ่มเท และจริงจังในการเรียนฟิสิกส์มาก
ถึงกระนั้นทุกคนก็รู้ดีว่า การเรียนของเธอที่ Poly จะไม่สามารถช่วยให้เธอได้ตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ดังนั้น การศึกษาที่ Poly ของเธอก็เพียงเพื่อจะออกไปเป็นครูสอนฟิสิกส์กับคณิตศาสตร์ระดับมัธยมเท่า นั้นเอง เพราะโอกาสที่สตรีสมัยนั้นจะไปถึงดวงดาวมีน้อย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องไม่แปลกใจที่ Mileva เป็นนิสิตสตรีเพียงคนเดียวในชั้นเรียนน และฟ้าก็ได้ลิขิตให้ในห้องเรียนห้องนั้น มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อ Albert Einstein ซึ่งมีอายุ 17 ปี จึงนับว่ามีอายุน้อยกว่าเธอถึง 3 .......ปี เรียนอยู่ด้วย โดยเด็กหนุ่มคนนี้เดินทางมาเรียนฟิสิกส์กับคณิตศาสตร์ที่ Poly เหมือนเธอ หลังจากที่ได้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมชื่อ Kantonsschule ในเมือง Garau
การศึกษาจดหมายที่ Mileva เขียนถึง Albert ฉบับวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2440 แสดงให้เห็นว่า เธอกับ Albert เรียนวิชาต่างๆ เหมือนกัน เช่น วิชาธุรกิจ การธนาคารและสถิติประกันภัย ทั้งนี้เพราะ Albert คาดหวังจะได้ใช้ความรู้ด้านนี้ประกอบธุรกิจของบิดาผู้มีอาชีพเป็นวิศวกร ไฟฟ้า และขณะเรียนชั้นปีที่ 2 Mileva ได้ลาเรียน 3 เดือน เพื่อไปศึกษาฟิสิกส์กับคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Heidelberg ในเยอรมนี การศึกษาจดหมายโต้ตอบระหว่างคนทั้งสอง แสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ของคนทั้งสองยังอยู่ระยะห่างไกล เพราะเนื้อหาค่อนข้างเป็นทางการ ในจดหมายฉบับหนึ่ง Mileva ได้เชื้อเชิญให้ Albert ไปเยี่ยมเธอ โดยสัญญาว่า Albert จะรู้สึกสนุกสนานถ้าได้ไปที่นั่น แล้วเธอก็จบจดหมายว่า เธอเพิ่งได้ศึกษาทฤษฎีจลน์ของก๊าซ
การวิเคราะห์จดหมายที่ Albert ตอบในอีก 6 อาทิตย์ต่อมา แสดงให้เห็นว่า เขากำลังคอยการกลับมา Zurich ของเธอ เขากล่าวว่า การลาเรียนที่นานเช่นนั้น ทำให้เธอเรียนล้าหลังเพื่อนร่วมห้องไปมาก แต่เขาก็จะให้เธอยืมสมุดจดเลกเชอร์ เพื่อเธอจะได้รู้มากเท่าเพื่อนๆ
เมื่อ Mileva กลับมาเรียนต่อที่ Poly ความผูกพันฉันเพื่อนก็เริ่มเปลี่ยนไปเป็นฉันคู่รักแทน เพราะคนทั้งสองใช้เวลาส่วนใหญ่เรียนหนังสือร่วมกัน ทำการทดลองฟิสิกส์ร่วมกัน และเมื่อถึงเวลาปิดภาคเรียน Albert ก็จะเดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่เมือง Milan ในประเทศอิตาลี เพราะบิดากำลังเริ่มธุรกิจใหม่ หลังจากที่บริษัทประสบความล้มเหลว ในจดหมายฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ.2442 ที่ Albert เขียนถึง Mileva เขาได้กล่าวถึงความรู้สึกผูกพันที่เขามีต่อเธอว่ามีมาก จนเขาได้นำรูปถ่ายของเธอไปให้มารดาดู และมารดาได้จ้องดูรูปนั้นอย่างพินิจพิเคราะห์แล้วกล่าวฝากความระลึกถึงเธอ ด้วย
แต่ Albert ก็ต้องตระหนกตกใจในเวลาต่อมา เมื่อเขาประจักษ์ว่า ความระลึกถึงที่ว่านั้น มิได้มาจากใจจริง เพราะบิดามารดารู้สึกต่อต้าน Mileva มาก ในจดหมายฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2442 ที่ Albert เขียนถึง Mileva เขาได้กล่าวว่า แม่และน้องสาวของเขาจ้องจับผิด Mileva ตลอดเวลา แต่เขาเข้าใจและรู้ใจ Mileva ดี จึงได้พยายามหลบหลีกไม่ฟังการพร่ำบ่นต่างๆ ของพวกเขา และเขาอยากให้เธอมาอยู่ใกล้ๆ เพื่อจะได้ดื่มกาแฟ และกินอาหารด้วยกัน
ในขณะที่ความรักของคนทั้งสองกำลังพัฒนานั้น เอง ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ในจดหมายทุกฉบับที่ Albert เขียน หากเป็นฉบับยาว ในตอนต้นของจดหมาย เขาก็จะพรรณนาความรู้สึกรักที่เขามีต่อเธอแล้ว ก็จะจบจดหมายด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับฟิสิกส์ที่เขากำลังศึกษาอยู่ เช่น จะพูดถึงตำราฟิสิกส์ที่กำลังอ่าน หรือสัมมนาที่ได้ไปฟังมา หรือความคิดใหม่ๆ ที่เขาคิดได้ เป็นต้น เช่น ในจดหมายฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ.2442 ไอน์สไตน์ได้กล่าวถึงการทดลองของ Hertz เรื่องการเดินทางของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าว่า หลังจากที่ได้ศึกษาการทดลองนั้น เขามีความรู้สึกว่ากฎการเคลื่อนที่ของ Newton ไม่น่าจะถูก และ ether ซึ่งเป็นตัวกลางสมมติให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเดินทางผ่าน ก็ไม่น่าจะมี เพราะ Einstein เชื่อว่า แสงสามารถเดินทางผ่านสุญญากาศได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ตัวกลางใดๆ และนี่ก็คือแนวคิดของ Einstein เกี่ยวกับ ether เมื่อ 6 ปีก่อน ปีมหัศจรรย์ 2448 ที่ไอน์สไตน์เสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ
ถึงแม้จดหมายของไอน์สไตน์จะกล่าวถึงความคิดต่างๆ ให้ Mileva ฟังมากมายเพียงใด แต่จดหมายตอบ Mileva ก็มิได้เอ่ยถึงฟิสิกส์เลย เพราะเธอจะเล่าแต่ชีวิตครอบครัว และชีวิตส่วนตัวของเธอให้ Albert ฟัง
การโต้ตอบจดหมายดำเนินไปในลักษณะที่ไม่สมดุลเช่นนี้ตลอดเวลา แต่ก็มีนานๆ ครั้งที่ Mileva เอ่ยถึงฟิสิกส์ที่เธอได้ยินมา หรือจากการอ่านหนังสือในห้องสมุด ถึงกระนั้นไอน์สไตน์ก็ยังเขียนเล่าความคิดฟิสิกส์ต่างๆ ที่เขามีให้เธอฟังเรื่อย ดังจะเห็นได้จากจดหมายฉบับวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2442 ซึ่งไอน์สไตน์ได้เขียนบอก Mileva ว่า ในขณะที่เขาไปเยี่ยมเยือนครอบครัว Winteler ที่เมือง Garau (Einstein รักและผูกพันกับครอบครัวนี้มาก เพราะบุตรคนหนึ่งของครอบครัวนี้ได้แต่งงานกับ Maja ผู้เป็นน้องสาวคนเดียวของ Einstein และบุตรสาวคนหนึ่งของครอบครัวนี้ก็ได้แต่งงานกับ Michele Besso ผู้เป็นเพื่อนที่สนิทที่สุดของ Einstein) เขาเริ่มรู้ว่า จักรวาลไม่มี ether โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากการทดลองของ Fizeau ในปีพ.ศ.2394 และการทดลองของ Faraday ที่เกี่ยวกับการเหนี่ยวนำไฟฟ้า ซึ่งเขาจะใช้ความรู้นี้ในการสร้างทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ ในเวลาต่อมา
เมื่อเวลาผ่านไปอีก 2 สัปดาห์ Einstein ก็ได้เขียนจดหมายถึง Mileva อีก พร้อมกับบอกว่า ตนได้เขียนจดหมายถึงศาสตราจารย์ Wien ที่เมือง Gachen ในเยอรมนีเกี่ยวกับความคิดเรื่อง ether และยังได้บอก Mileva อีกว่า เพราะการทดลองของ Michelson กับ Morley ไม่สามารถตรวจจับ ether ได้ ดังนั้น ether ก็ไม่น่าจะมีในจักรวาล
เมื่อถึงปีพ.ศ.2443 คนทั้งสองรู้สึกผูกพันกันมากขึ้น จนเริ่มเรียกชื่อเล่นกัน จดหมายฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2443 มีข่าวไอน์สไตน์สอบได้ประกาศนียบัตรครูสอนฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ ส่วน Mileva ซึ่งเข้าสอบพร้อมกันสอบตก ทั้งนี้เพราะเธอได้คะแนนฟิสิกส์ดี แต่คะแนนคณิตศาสตร์ไม่ดี การรู้ข่าวนี้ทำให้ Mileva รู้สึกเศร้า และเหนื่อยอ่อน จึงตัดสินใจเดินทางไปเยี่ยมพ่อแม่ของเธอที่บ้านเกิด ไอน์สไตน์จึงเขียนจดหมายจากสวิตเซอร์แลนด์ถึงเธอในอีก 2 วันต่อมา ว่าเขาได้บอกมารดาแล้วว่า เขารัก Mileva มาก ซึ่งก็ได้ทำให้แม่ใจเสีย และเสียใจร้องไห้จนพูดว่า ถ้าเขาแต่งงานกับ Mileva อนาคตของเขาจะต้องพังพินาศแน่ เขาจึงต้องยืนยันกับ แม่ว่า เขาและเธอยังไม่มีอะไรกัน ถึงกระนั้นแม่ก็ยังตั้งข้อสงสัยว่า เขาและเธอมีเพศสัมพันธ์กันแล้ว และแม่ก็บอกว่า เมื่อเขาอายุ 30 เธอก็จะเป็นหญิงชราที่ไม่มีใครสนใจ แต่ถึงใครจะพูดอย่างไรก็ตาม เขาก็คิดถึงเธอเหลือเกิน และฝากจูบมาด้วย 1,000 ครั้ง
จดหมายที่เขียนเล่าละเอียดเช่นนี้ คงไม่ทำให้ Mileva สบายใจนัก แต่อีก 2 วันต่อมา ไอน์สไตน์ก็ได้เขียนบอกว่า บัดนี้ความรู้สึกต่อต้าน Mileva ของพ่อแม่ตนได้เริ่มอ่อนกำลังลงมากแล้ว
-
2155 รักและฟิสิกส์ของ Albert กับ Mileva (1) /article-science/item/2155-physicsเพิ่มในรายการโปรด