รักและฟิสิกส์ของ Albert กับ Mileva (2)
รักและฟิสิกส์ของ Albert กับ Mileva (2)
การ วิเคราะห์ชีวิตรักของไอน์สไตน์ในช่วงนี้ แสดงให้เห็นนิสัยดื้อของไอน์สไตน์ว่า ครอบครัวเขายิ่งต่อต้าน Mileva มากเพียงใด เขาก็ยิ่งหนีห่างจากครอบครัวมากเพียงนั้น และรู้สึกผูกพันกับ Mileva ยิ่งขึ้นๆ ดังจะเห็นได้จากจดหมายฉบับวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2443 ซึ่งไอน์สไตน์เขียนว่า เขาคิดถึง Mileva มาก และไม่เข้าใจว่า เขาจะมีชีวิตอยู่ห่างจากเธอได้อย่างไร เพราะเวลาไม่มีเธอ เขารู้สึกขาดความมั่นใจ และความรักที่จะวิจัยฟิสิกส์ และในจดหมายฉบับวันที่ 30 สิงหาคม 2443 ที่ไอน์สไตน์เขียน เขากล่าวว่า เวลาเขาเครียด เขาต้องหาทางออกโดยการวิจัยฟิสิกส์ และจะซื่อสัตย์ต่อ Mileva เพียงคนเดียว ส่วนในจดหมายฉบับวันที่ 13 กันยายนนั้น ไอน์สไตน์เขียนบอก Mileva ว่า Boltzmann เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีที่ฉลาดหลักแหลมมาก เพราะเป็นคนที่เข้าใจฟิสิกส์ได้ลึกซึ้ง การศึกษางานของ Boltzmann ทำให้ไอน์สไตน์รู้สึกมั่นใจว่า โมเลกุลมีจริง และมีขนาด อีกทั้งสามารถเคลื่อนที่ได้ภายใต้กฎต่างๆ ของฟิสิกส์ และนี่ก็คือความคิดพื้นฐานที่ไอน์สไตน์ใช้ในการศึกษาเคลื่อนที่แบบบราวน์ (Brownian motion) ในปีพ.ศ.2448
ในจดหมายฉบับวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2443 ไอน์สไตน์เขียนบอก Mileva ว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เขาก็รู้สึกว่าชีวิตเขามีความสุข เพราะเขาได้มีโอกาสอยู่กับ Mileva และถ้าร่ำรวยมีเงิน เขาก็จะซื้อจักรยานให้ Mileva ได้ขี่เล่นไปนอกเมืองด้วยกันทุก 2-3 สัปดาห์
เมื่อถึงปลายเดือนตุลาคมปีพ.ศ.2443 ไอน์สไตน์ได้กลับไปหา Mileva ที่ Zurich เพราะในช่วงเวลานั้น คนทั้งสองไม่มีจดหมายติดต่อถึงกันเลย และได้อยู่ด้วยกันจนกระทั่งถึงฤดูใบไม้ผลิของปีพ.ศ. 2444 ไอน์สไตน์จึงได้เดินทางกลับไปเยี่ยมพ่อและแม่ของตน โดยทิ้งให้ Mileva อยู่คนเดียวเพื่ออ่านหนังสือเตรียมตัวสอบแก้ตัวเป็นครั้งที่สอง ขณะนั้นจิตใจของ Mileva อยู่ในสภาพย่ำแย่ เพราะเธอเกรงว่า เธออาจสอบตกอีก และความล้มเหลวจะทำให้เธอไม่ได้รับปริญญาบัตร ดังนั้น ไอน์สไตน์จึงเขียนจดหมายปลอบโยน และให้กำลังใจดังในจดหมายฉบับวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2444 โดยไอน์สไตน์ได้เปรียบ Mileva ว่า เธอเป็นเสมือนโบสถ์ให้เขาได้พำนักใจ และได้ขอให้ Mileva รู้ตลอดเวลาว่า เขาจะไม่ยอมใครคนใดในครอบครัวเขา พูดจาก้าวร้าวให้ร้าย Mileva อีก และเขาก็รู้ดีว่า Mileva รักเขามากที่สุด ความรู้นี้ทำให้เขารู้สึกดีใจมากที่เขาและเธอจะได้พบกันอีกเพื่อช่วยกัน สร้างทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษของเราให้สำเร็จ
และนี่คือจดหมายฉบับเดียวเท่านั้น ที่ไอน์สไตน์อ้างถึงทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ "ของเรา"
เมื่อไอน์สไตน์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เขาก็เริ่มหางานทำโดยได้ส่งจดหมายสมัครงานไปยังศาสตราจารย์ฟิสิกส์ในประเทศ ต่างๆ เช่น ที่สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และอิตาลี แต่ไม่มีใครตอบรับ เมื่อถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2444 ไอน์สไตน์ได้รับข่าวดีว่าได้งานทำเป็นครูพิเศษนาน 2 เดือนที่ Technical High School ที่เมือง Winterthur และได้รับจดหมายจากเพื่อนชื่อ Marcel Grossmann ว่า บิดาของ Marcel ได้ช่วยให้ไอน์สไตน์มีลู่ทางได้งานทำที่สำนักจดสิทธิบัตรที่กรุง Bern ไอน์สไตน์ได้เล่าข่าวดีทั้งสองนี้ในจดหมายถึง Mileva แต่เพียงสั้นๆ และได้อุทิศพื้นที่ส่วนใหญ่ของจดหมายเขียนเล่าเกี่ยวกับแรงระหว่างโมเลกุล ของก๊าซ
ในจดหมายที่เขียนถึง Mileva อีก 2-3 วันต่อมา ไอน์สไตน์ยังรู้สึกตื่นเต้นกับข่าวการจะได้งานทำอยู่ และได้เล่าเรื่องต่างๆ ให้ Mileva ฟังเพื่อให้ Mileva จะได้รู้สึกดีขึ้น เพราะ Mileva ได้งานชั่วคราวเป็นครูโรงเรียนมัธยมที่ Zagreb ในยูโกสลาเวีย และรู้สึกหึงหวงที่ไอน์สไตน์สนใจเพื่อนสาวของเธอ ในจดหมายฉบับวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2444 ไอน์สไตน์ได้เขียนจดหมายชวนให้ Mileva เดินทางไปหาที่ Como ในอิตาลี และให้เอากล้องส่องทางไกลไปด้วยเพื่อจะใช้ดูนกด้วยกัน แล้วจดหมายฉบับนั้นก็จบลงด้วยทฤษฎีโมเลกุลของ Boltzmann ที่ไอน์สไตน์กำลังศึกษาอยู่
การวิเคราะห์จดหมายที่คนทั้งสองเขียนโต้ตอบกันในช่วงนี้ แสดงให้เห็นว่า Albert กับ Mileva กำลังเห็นโลกภายนอกแตกต่างกัน ไอน์สไตน์ได้พยายามเขียนเล่าให้ Mileva รู้สึกดีขึ้นเพื่อให้เข้ามาใช้ชีวิตใกล้เขามากขึ้น แต่ Mileva กำลังรู้สึกคลางแคลงในความรัก และลังเลในความจริงใจของ Albert ถึงกระนั้น เธอก็ตอบรับคำเชิญของเขาไป Como โดยได้ไปพักผ่อนด้วยกันที่ Splugen Pass ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 3,100 เมตร และมีหิมะปกคลุมหนา 7 เมตร ทำให้ต้องเดินทางไปที่พักด้วยเลื่อนและเท้า Mileva ได้เขียนจดหมายเล่าเพื่อนของเธอว่า ในช่วงเวลานั้น เธอมีความสุขเพราะไอน์สไตน์ที่เธอรักมีความสุขมาก และเมื่อช่วงเวลาพักผ่อนสิ้นสุด ไอน์สไตน์ก็ได้เดินทางไปทำงานชั่วคราวที่ Winterthur ส่วน Mileva ก็เดินทางกลับ Zurich
เมื่อถึงปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2444 ไอน์สไตน์ เขียนจดหมายบอก Mileva ว่า เขาได้พบปัญหาวิจัยใหม่ นั่นคือปริศนาปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริกที่ Lenard ได้พบว่า เวลารังสีอัลตราไวโอเลตจากหลอดรังสีแคโทดตกกระทบโลหะ จะมีกระแสไฟฟ้าไหล ซึ่งไม่มีใครอธิบายได้ว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และทันทีที่ได้อ่านผลงานนี้ ไอน์สไตน์รู้สึกยินดีมาก จนอยากจะเล่าแนวคิดในการอธิบายเรื่องนี้ให้ Mileva ฟัง และไอน์สไตน์ก็ได้ถามในตอนท้ายของจดหมายว่า ลูกในท้องมีอาการเป็นอย่างไร เพราะ Mileva ได้บอกไอน์สไตน์ว่า เธอตั้งครรภ์แล้ว โดยคนทั้งสองไม่ตระหนักแม้แต่น้อยว่า ครรภ์นี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขาทั้งสองเปลี่ยนแปลง
ไอน์สไตน์ส่งงานวิจัยเรื่องการไหลของของเหลวขึ้นตามหลอดรูเล็ก (capillany) ซึ่งเป็นงานวิจัยชิ้นแรกของเขาออกสู่โลกวิทยาศาสตร์ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2444 และเริ่มชีวิตเป็นนักฟิสิกส์เต็มตัว ส่วน Mileva ผู้ต้องเป็นครูมัธยมสอนวิทยาศาสตร์ และกำลังจะคลอดลูก อีกทั้งกำลังจะสอบรับประกาศนียบัตรครูเป็นครั้งที่ 2 ก็รู้สึกกังวลมาก เพราะคนทั้งสองยังไม่ได้แต่งงานกัน และสังคมยุโรปเมื่อ 100 ปีก่อนนี้ การมีลูกโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ถือเป็นเรื่องที่น่าอับอายมาก ผลการสอบปรากฏว่า Mileva สอบตกอีก ด้วยคะแนนเลวเท่าเดิม
เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง ไอน์สไตน์ซึ่งเป็นคนมองโลกในแง่ดีตลอดเวลา และมีอายุ 22 ปี แต่ยังไม่มีงานทำที่ถาวร ก็ใช่ว่าจะมีอนาคตที่สดใส เพราะเขาต้องคอยอีก 1 ปี จึงจะได้งานตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญระดับ 3 ที่สำนักจดสิทธิบัตร การไม่ได้รับเงินสนับสนุนแม้แต่น้อยจากบิดามารดาผู้ไม่เห็นลูกสะใภ้ดี การกำลังจะเป็นพ่อของลูกนอกสมรสระดมทำให้จิตใจของไอน์สไตน์ในช่วงนั้น วุ่นวายมาก และไอน์สไตน์ก็ได้ตัดสินใจแก้ปัญหาสถานการณ์ที่คับขัน โดยเขียนจดหมายถึง Mileva ในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2444 ว่า เขาได้ตัดสินใจแล้วว่า ในอนาคตเขาต้องหางานทำ ไม่ว่างานนั้นจะทำเงินน้อยเพียงใด (ไอน์สไตน์คิดทำงานเป็นเสมียนในบริษัทประกันภัย หรือไม่ก็เป็นครูสอนพิเศษเป็นชั่วโมงๆ) เพราะงานหาเงินเลี้ยงครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนงานวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องรอง และทันทีที่ได้งานทำ เขาก็จะแต่งงานกับ Mileva และจะใช้ชีวิตร่วมกันตลอดไป โดยไม่บอกใครจนกว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะคลี่คลายลงตัว และเมื่อถึงวันนั้น ก็จะไม่มีใครในโลกปรักปรำหรือตำหนิเราทั้งสองคนอีกเลย
แต่โชคชะตาก็มิได้เป็นไปตามที่ไอน์สไตน์ฝัน เพราะเมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2444 Mileva ได้เดินทางกลับบ้านบิดามารดาของเธอเพื่อคลอดลูก ส่วนไอน์สไตน์ก็ได้งานสอนพิเศษที่ Schaffhausen และเมื่อเขาขอเงินเดือนเพิ่ม เขาก็ถูกไล่ออกจากงาน เมื่อถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2444 Mileva ได้เขียนจดหมายถึงไอน์สไตน์ ตนคาดว่าจะคลอดบุตรสาวชื่อ Lieserl และขอให้ไอน์สไตน์เก็บข่าวนี้เป็นความลับ และไอน์สไตน์ก็ได้ตอบจดหมายของ Mileva ในวันที่ 12 ธันวาคม ว่า ผมคาดคิดว่า ผมจะได้ลูกชาย และคิดว่าคงจะได้งานทำที่กรุง Bern ในเร็วๆ นี้ แต่ถ้าไม่ได้งาน เราสองคนก็ยังมีความสุข เพราะเรากำลังจะได้เป็นพ่อและแม่คนแล้ว และเราจะไม่สนใจใครทั้งโลก แต่ปัญหาก็มีต่อไปว่า ลูก Lieserl จะอยู่กับเราหรืออย่างไร ส่วนตัวไอน์สไตน์นั้น ไม่ต้องการยกลูกให้เป็นบุตรบุญธรรมของใคร พร้อมกันนั้นไอน์สไตน์ก็ได้ขอให้ Mileva ช่วยถามพ่อของเธอสำหรับเรื่องนี้ เพราะพ่อเป็นคนมีประสบการณ์ชีวิตสูง ในตอนท้ายของจดหมายไอน์สไตน์ได้กล่าวเตือน Mileva ว่าไม่ควรดื่มนมวัวมาก และควรให้ลูกดื่มนมแม่มากๆ แล้วไอน์สไตน์ก็จบจดหมายด้วยฟิสิกส์เรื่องอันตรกริยาระหว่างโมเลกุล
-
2156 รักและฟิสิกส์ของ Albert กับ Mileva (2) /article-science/item/2156-love-and-the-physics-of-albert-and-milevaเพิ่มในรายการโปรด