สาเหตุของการสะอึก
สาเหตุของการสะอึก
หลายๆ ท่านคงจะมีประสบการณ์ในการ "สะอึก" มาบ้างแล้ว เพราะการที่จะทำให้หยุดสะอึกอย่างจงใจไม่สามารถจะทำได้ การสะอึกเป็นอาการที่เกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อกระบังลมที่อยู่ตรงรอยต่อ ระหว่างช่องปอดและช่องท้องที่เกิดขึ้นเองโดยไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดการหายใจเอาอากาศเข้าไปก่อน และจะหยุดหายใจเข้านั้น ทันทีทันใดเพราะปากหลอดลมจะปิด ทำให้เสียงดังของการสะอึกเกิดขึ้นทุกครั้งไป
"สะอึก" อาจเกิดขึ้นเป็นช่วงสั้นๆ และหายไปได้เอง อาจใช้เวลาเป็นวินาทีหรือ 2-3 นาที ซึ่งอาจพบได้บ่อยๆ แต่ถ้าหากสะอึกอยู่นานๆ เป็นครั้งค่อนชั่วโมงหรือเป็นวันๆ อาจจะต้องหาสาเหตุว่า มาจากโรคของอวัยวะต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น โรคเกี่ยวกับอวัยวะในช่องท้อง ในช่องปอด ในระบบสมองและประสาทส่วนกลาง เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสะอึกที่เกิดขึ้นในขณะนอนหลับจะมีความหมายมากกว่าการสะอึกในเวลากลางวัน
สำหรับสาเหตุเชื่อกันว่า เกิดจากการรับประทานอาหารมากเกิน เร็วเกินไป บางคนอาจจะมีความตึงเครียดมากไป บางคนอาจเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มประเภทมีแอลกอฮอล์ในกระเพาะอาหาร หรือสูบบุหรี่มากเกินไป นอกจากนี้การบริโภคอาหารที่ทำให้มีก๊าซมากก็อาจเป็นสาเหตุของการสะอึกได้
ในการค้นหาสาเหตุของการสะอึกเป็นเวลานานๆ แพทย์อาจต้องตรวจระบบทางเดินอาหารว่า มีการอักเสบของหลอดอาหารที่เกิดจากการย้อนกลับของน้ำย่อยอาหารที่มา จากกระเพาะอาหารหรือไม่ ต้องตรวจความผิดปกติในลำคอ ในหู ในจมูก ระบบทางเดินหายใจ และระบบสมองและประสาท
ในแง่ของการรักษาอาการสะอึกนั้น ถ้าสะอึกเป็นเวลาสั้นๆ ไม่นานแต่เป็นหลายครั้ง ท่านอาจต้องสังเกตกิจวัตรประจำวัน การรับประทานอาหารดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือการสูบบุหรี่ว่ามีความ สัมพันธ์กับการสะอึกหรือไม่ ถ้าสัมพันธ์กันท่านก็ควรที่จะปรับปรุงสิ่งเหล่านั้น หากสะอึกอยู่เป็นเวลานานๆ ท่านควรไปพบแพทย์จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
สำหรับเทคนิคการหยุดอาการสะอึกมีหลายแบบ เช่น
การกระตุ้นผิวด้านหลังของลำคอ แถวๆ บริเวณที่เปิดปิดหลอดลม โดยการดึงลิ้นแรงๆ
- การใช้ด้ามช้อนเขี่ยที่ปิดเปิดหลอดลม
- กลั้วน้ำในลำคอ
- จิบน้ำเย็นจัด
- กลืนน้ำตาลทราย
- กลืนก้อนข้าว ก้อนขนมปัง ก้อนน้ำแข็งเล็กๆ
- ดื่มน้ำจากขอบแก้วที่อยู่ด้านนอกหรือด้านไกลจากริมฝีปาก
- จิบน้ำส้มสายชูที่เปรี้ยวจัด
- ดมสารที่มีกลิ่นฉุน เช่น แอมโมเนีย หรืออีเช่อร์
- การฝังเข็ม
- การสวดมนต์ทำสมาธิ
- การใส่สายเข้าไปในกระเพาะอาหารเพื่อดูดเอาลมและน้ำย่อยออก
ตลอดจนการใช้ยาต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีบันทึกไว้ในตำราทางการแพทย์ ซึ่งไม่มีความแน่ชัดในการหวังผลจากการรักษาด้วยวิธีต่างๆ
ถ้าท่านกำลังสะอึกอยู่ ขอเอาใจช่วยให้หายสะอึกโดยไวนะคะ หากทำวิธีดังกล่าวข้างต้นแล้วไม่ได้ผล กรุณาไปพบแพทย์นะคะ...
-
2166 สาเหตุของการสะอึก /article-science/item/2166-hiccupเพิ่มในรายการโปรด