เลือกหลอดไฟแบบไหนดี ?
เลือกหลอดไฟแบบไหนดี ?
กระแสโลกร้อนมาแรง ใครๆ ก็อยากประหยัดพลังงานช่วยโลก หนึ่งในวิธีง่ายๆ และใกล้ตัวเห็นจะเป็นการเปลี่ยนมาใช้ "หลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงาน" แต่ระหว่างหลอดไส้ หลอดฟลูออเรสเซนต์ และหลอดคอมแพกต์ ที่ถกเถียงกันมานาน แบบไหนจะน่าใช้ที่สุด ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จะนำมาเปรียบเทียบให้เห็นกัน
เทียบรุ่นหลอดไฟ "ดีไม่ทั่ว - ชั่วไม่หมด"
เป็นที่กล่าวกันมากว่า "หลอดไส้" เป็นหลอดไฟจอมวายร้ายที่กินไฟมากแต่แปลงไฟฟ้าเป็นแสงสว่างได้น้อยที่สุด เพียง 10% แต่ไฟฟ้าอีกถึง 90% กลับถูกเปลี่ยนไปเป็นความร้อน พลอยเป็นภาระให้แก่เครื่องทำความเย็นต้องทำงานหนัก แถมยังเสื่อมเร็วกว่าหลอดชนิดอื่นๆ ด้วย
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ก็ชี้ว่า ข้อดีของหลอดไส้ก็มีอยู่เช่นกัน โดยใช่จะร้ายไปทั้งหมด เช่น ราคาถูกที่สุด ให้แสงสว่างทันทีเมื่อเปิดใช้งาน ไม่ต้องใช้บัลลาสต์ หรี่แสงได้ มีขนาดเล็กและเบา อีกทั้งยังให้ประกายแสงสวยงาม
หลอดไส้ และหลอดฟลูออเรสเซนต
กระนั้น ข้อเสียของฟลูออเรสเซนต์ คือ ต้องใช้ร่วมกับบัลลาสต์และสตาร์ตเตอร์ ยกเว้นกรณีใช้บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ต้องใช้สตาร์ตเตอร์ เมื่อหลอดเสื่อมหรือใกล้เสื่อม แสงที่ได้จะไม่สม่ำเสมอและกะพริบ ยิ่งไปกว่านั้นมีราคาแพงกว่าหลอดไส้ประมาณ 3-5 เท่า
ขณะที่หลอดฟลูออเรสเซนต์ที่ได้พัฒนามาอีกขั้น คือ "หลอดคอมแพกต์ฟลูออเรสเซนต์" หรือ "หลอดตะเกียบ" กำลังเป็นที่กล่าวถึงมากในภาวะโลกร้อน แถมช่วงนี้ผู้ผลิตยี่ห้อต่างๆ ยังอยู่ในช่วงลดราคาช่วงชิงตลาด บางยี่ห้อลดราคาตั้งแต่ 30% ถึงมากกว่า 55% จากราคาข้างกล่องเพื่อจูงใจผู้บริโภค โดยพบว่า หลอดชนิดนี้มีข้อดีและข้อเสียไม่ต่างกับหลอดฟลูออเรสเซนต์มากนัก เช่น มีอายุการใช้งานนานอย่างน้อย 8,000 ชั่วโมง มากกว่าหลอดไส้ 8-10 เท่า
แต่จุดเด่นที่สุดที่ทำให้หลอดคอมแพกต์ชนะใจผู้คนยุคมิลเลนเนียม คือ สามารถประหยัดไฟฟ้าได้มากกว่าหลอดไส้ประเภทอื่นๆ ถึง 75-80% เทียบกันแล้วหลอดคอมแพกต์ฟลูออเรสเซนต์ประหยัดพลังงานกว่าหลอดไส้ถึง 4 เท่า ปีหนึ่งๆ จึงช่วยประหยัดค่าไฟต่อดวงได้นับร้อยบาท
สำหรับหลอดไฟชนิดนี้มี 2 ชนิด คือ ชนิดขั้วเสียบใช้ต่อกับบัลลาสต์ภายนอก และชนิดขั้วเกลียวใช้บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็ยังมีจุดอ่อนแก้ไม่ตก คือ มีราคาแพงมาก แพงกว่าหลอดไส้ถึง 10 เท่าขึ้นไป
นายกิตติ สุขุตมตันติ ประชาสัมพันธ์สมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย และรองเลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้ว่า จุดอ่อนที่ยังแก้ไม่ตกอีกข้อของหลอดคอมแพกต์ คือ หลอดคอมแพกต์ชนิดขั้วเกลียวใช้บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์จะมีอายุสั้น เมื่อหมดอายุจะเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสารโลหะหนักเป็นพิษ ไม่สามารถรีไซเคิลได้
"หากทิ้งฝังกลบจะใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 500 ปี จึงมีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่แพงกว่าต้นทุนค่าใช้งานมาก และถือเป็นปัญหาที่ไม่ได้ช่วยลดโลกร้อนจริงหากพิจารณาตลอดทั้งวงจรชีวิต สินค้า"
ไทยใช้หลอดคอมแพกต์เพิ่มขึ้นทุกปี
ขณะ ที่สถานการณ์การใช้หลอดไฟชนิดต่างๆ ในประเทศไทย เป็นที่น่าเสียดายว่าเมื่อสอบถามถึงยอดการซื้อ - ขาย หรือจำนวนหลอดไฟที่ถูกใช้งานทั่วประเทศไปยังหน่วยงานด้านพลังงาน อาทิ พพ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย หรือแม้แต่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลับไม่มีการเก็บข้อมูลไว้อย่างชัดเจน
อีกทั้ง เมื่อสอบถามยอดการจำหน่ายไปยังบรรดาบริษัทผู้ผลิตหลอดไฟรายใหญ่ก็ได้รับการ ตอบกลับว่าไม่อาจเปิดเผยข้อมูลใดๆ ซึ่งทาง บริษัท ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยข้อมูลสั้นๆ ว่า ทางบริษัท ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพียงแห่งเดียวมียอดขายหลอดตะเกียบในปี 2550 เทียบกับปี 2548 เพิ่มขึ้นถึง 50% และมีข้อมูลบางส่วนที่พอทำให้เห็นสถานการณ์หลอดไฟส่องสว่างได้บ้าง โดยพบว่า การใช้งานหลอดคอมแพกต์ของคนไทยเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
นายกิตติ อธิบายว่า ในช่วงก่อนปี 2549 การใช้หลอดไฟยังแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1. หลอดฟลูออเรสเซนต์ 2. หลอดไส้ 3. หลอดคอมแพกต์ ในอัตราส่วนที่พอๆ กัน แต่หลังจากปี 2550 แล้ว อัตราการใช้หลอดไฟของคนไทยเริ่มเปลี่ยนแปลง คือ มูลค่าตลาดหลอดไส้ได้ลดลง 30-40 % กลับกันกับมูลค่าตลาดหลอดคอมแพกต์ที่เพิ่มขึ้น 30% และราคาขายเฉลี่ยของหลอดคอมแพกต์ก็ลดลงจาก 150 บาทเหลือ 55-80 บาท
"ปริมาณยอดขายหลอดไฟ คิดเป็นโครงการก่อสร้างใหม่ ประมาณ 30 % และการเปลี่ยนทดแทนหลอดเก่าเดิมที่ใช้อยู่ ประมาณ 70 % โดยมีมูลค่าตลาดหลอดไฟในปี 2551 ประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราการเติบโตของตลาดสูง ประมาณ 20 - 25% สูงกว่าจีดีพีเพราะมีตลาดส่งออก ตลาดการเปลี่ยนของเดิมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ตลาดหลอดไดโอดเปล่งแสง (แอลอีดี) และตลาดหลอดผอมเบอร์ห้า (ที 5) ที่เป็นตัวผลักดันตลาด"
และแม้ว่าภาครัฐจะพยายามรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้หลอดตะเกียบแทนหลอดไส้ โดยหมายจะเป็นการลดใช้พลังงานสอดรับกับความกริ่งเกรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ แต่คนวงในวงการก็ยอมรับว่า ประเทศไทยยังไม่มีโรงงานผลิตหลอดคอมแพกต์ฟลูออเรสเซนต์เต็มศักยภาพเลย ที่เคยมีอยู่หลายโรงก็ต้องปิดกิจการไปก่อนหน้า เพราะปริมาณการผลิตน้อยกว่าการผลิตในประเทศจีนมาก การนำเข้ามาประกอบจึงถูกกว่า
ปัจจุบัน ประเทศไทยจึงมีเพียงโรงงานที่มีศักยภาพผลิตหลอดไส้และหลอดฟลูออเรสเซนต์ ทั่วๆ ไปเท่านั้น การเปลี่ยนมาใช้หลอดคอมแพกต์ทั้งหมดในเวลาอันรวดเร็ว จึงอาจทำให้ประเทศเสียดุลการค้าเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล
"สารปรอท - คลื่นแสงก่อโรค" ในฟลูออเรสเซนต์
ไม่เพียงเท่านั้น นอกเหนือจากการเปรียบเทียบด้านประสิทธิภาพและการประหยัดพลังงานแล้ว ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มองหลอดไฟเหล่านี้ในมุมสิ่งแวดล้อมด้วย โดยมองว่า สารปรอทจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ทุกรุ่นที่แตกหัก หรือขยะหลอดฟลูออเรสเซนต์จะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตมาก
เรื่องดังกล่าวจะเห็นได้ชัดในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (อีพีเอ) ต้องออกประกาศเพื่อแนะวิธีจัดการกับซากหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่แตกหักให้แก่ ประชาชน แต่ก็ยังเป็นที่กล่าวถึงน้อยมากในเรื่องเดียวกันนี้ของบ้านเรา
"ของไทย กรมควบคุมมลพิษ ได้ร่วมกับโรงงานผู้ผลิตทำการรณรงค์รีไซเคิลหลอดไฟ รับหลอดไฟที่ใช้แล้วมารีไซเคิล แต่เป็นระยะเริ่มโครงการควรขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงควรจะมีการออกระเบียบจัดซื้อจัดจ้างให้ภาครัฐเป็นผู้นำที่ดีในการห้าม ทิ้งหลอดเก่า และต้องเก็บหลอดเก่าส่งคืนกลับเพื่อรีไซเคิล" รองเลขาธิการ กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอ
ในอีกด้านหนึ่ง ที่ประเทศอังกฤษ สำนักข่าวบีบีซีนิวส์รายงานว่า นโยบายการเปลี่ยนหลอดไส้มาเป็นหลอดฟลูออเรสเซนต์ภายในปี 2554 เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนกำลังถูกต่อต้านจากองค์กรด้านสุขภาพ เพราะสำหรับผู้มีผิวหนังไวต่อแสงแล้ว แสงที่มีความยาวคลื่นใกล้เคียงกับแสงแดดจากหลอดฟลูออเรสเซนต์มีส่วนทำให้ เกิดผื่นหรืออาการลมพิษกำเริบรุนแรงได้
ผู้ป่วยกลุ่มนี้ เช่น ผู้ป่วยโรคลูปัส ซึ่งผิวหนังมีแผลและเป็นหนอง, โรคเอ็กซ์พี ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม ที่ทำให้เกิดความบกพร่องของการซ่อมแซมผิวหนังที่ถูกทำลายด้วยรังสีอัลตรา ไวโอเลต และโรคพอร์ฟีเรีย ซึ่งมีอาการแพ้แสงแดด ผิวหนังไหม้ เป็นแผล และเกิดตุ่มแดง
ฝ่ายเรียกร้องชี้แจงว่า แสงจากหลอดไส้เท่านั้น ที่ไม่ทำให้คนกลุ่มนี้เกิดอาการแพ้ ดังนั้น การสั่งห้ามจำหน่ายและใช้หลอดไส้จึงเป็นการปล่อยให้คนกลุ่มนี้ ประมาณ 1 แสนคน ในอังกฤษต้องตกอยู่ในความมืดยามค่ำคืน
แต่ก็ทันควันเช่นกัน เสียงคัดค้านจากอีกกลุ่มหนึ่งชี้ว่า ประเด็นนี้มีข้อมูลบางส่วนไม่ถูกต้อง และยังเป็นแค่รายงานวิจัยเดียวที่ต้องหาข้อมูลเพิ่ม เนื่องจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ให้แสงบางสี แต่หลอดไส้ให้แสงครบทุกสี ดังนั้น การบอกว่าหลอดไส้ปลอดภัยกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์จึงผิด และมีผู้ยื่นความคิดเห็นนี้ไปยังการวิจัยแล้ว
"แอลอีดี" ความหวังใหม่ - หลอดไฟแห่งอนาคต
นัก วิจัยจำนวนมากจึงฝันถึงหลอดไฟส่องสว่างในอนาคตบ้างแล้ว โดยวารสารไซน์ทิฟิคอเมริกัน (Scientific American) ฉบับเดือนมีนาคม 2551 ได้เสนอบทความเปรียบเทียบหลอดฟลูออเรสเซนต์และหลอดไดโอดเปล่งแสง ว่า หลอดชนิดหลังจะเป็นหลอดไฟส่องสว่างยุคใหม่ ไม่ต้อง ใช้สารปรอท ไม่ต้องใช้ร่วมกับบัลลาสต์และสตาร์ตเตอร์ ไม่เกิดความร้อนจากการใช้งาน คงทนอายุการใช้งานนานมาก ที่สำคัญยังกินไฟน้อย
กระนั้น นายกิตติ กล่าวว่า ก็คงต้องรอคอยการวิจัยพัฒนาอีกระยะหนึ่ง กว่าหลอดไฟนี้จะปรากฏตัวบนชั้นสินค้า ที่สำคัญนักวิจัยจะต้องแก้พัฒนาให้ระดับแสงสว่างคงตัวมากกว่านี้ เพราะปัจจุบันหลอดแอลอีดีจะให้แสงสว่างดีเฉพาะช่วงแรกๆ เท่านั้น และจะค่อยๆ สว่างลดลงเมื่อใช้เป็นเวลานาน การพัฒนาให้หลอดแอลอีดีเป็นความหวังของมนุษย์ได้จริงๆ จึงไม่อาจหลีกพ้นข้อจำกัดนี้ไปได้เลย
ชั่งใจ "ประหยัดสตางค์กับหลอดไส้ หรือจะประหยัดไฟกับหลอดคอมแพกต์"
สุดท้ายนี้ ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงสรุปคร่าวๆ ให้แก่ผู้ที่กำลังมองหาหลอดไฟที่เหมาะสมกับความต้องการได้ว่า หาก ต้องการเลือกใช้หลอดไฟที่มีราคาถูกที่สุดแล้ว คงหนีไม่พ้นหลอดไส้อย่างแน่นอน รองลงมาจึงเป็นหลอดฟลูออเรสเซนต์ และทิ้งห่างในเรื่องนี้กับหลอดคอมแพกต์ฟลูออเรสเซนต์
ในทางกลับกัน เมื่อเทียบประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าแล้ว หลอดคอมแพกต์กลับทิ้งห่างหลอดไส้และหลอดฟลูออเรสเซนต์มาก อย่างเทียบไม่ติด เพราะประหยัดไฟได้ถึง 3 เท่า และมีอายุการใช้งานได้นานใกล้เคียงกับหลอดฟลูออเรสเซนต์ทั่วไป ซึ่งหลอดไส้ไม่อาจเทียบได้ ส่วนเรื่องความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม หลอดไฟตระกูลฟลูออเรสเซนต์ยังคงแก้ไม่ตก ทั้งแบบธรรมดาและแบบคอมแพกต์และเป็นรองหลอดไส้อยู่หลายขุม
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าหลอดไฟส่องสว่างทั้งหลายเหล่านี้ ต่างมีข้อดี - ข้อจำกัดแตกต่างกัน คงถึงคราวของผู้บริโภคเอง รวมถึงผู้มีส่วนสำคัญในการออกแบบอาคารบ้านพักตามโครงการบ้านจัดสรร ซึ่งจะต้องชั่งใจเลือกหลอดไฟในบ้านว่า หลอดไฟชนิดใดจะเหมาะสมกับกระเป๋าสตางค์ ประโยชน์ใช้สอย และสิ่งแวดล้อมโลกมากที่สุด
-
2174 เลือกหลอดไฟแบบไหนดี ? /article-science/item/2174-lampเพิ่มในรายการโปรด