ปภ. แนะดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัยช่วงน้ำท่วม
ภาวะฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของประเทศไทยระยะนี้ โดยเฉพาะภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ นอกจากจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ประสบอุทกภัยแล้ว การดำเนินชีวิตในช่วงน้ำท่วมยังมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับอันตรายจาก อุบัติภัยต่างๆ และโรคภัยไข้เจ็บที่มักแพร่ระบาดในช่วงน้ำท่วม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะนำวิธีการดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัยในช่วงที่เกิดอุทกภัย ดังนี้
ดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่สะอาดไม่มีเชื้อโรคปะปน โรคที่เกิดกับระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคบิด อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ ไทฟอยด์ เป็นต้น เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เพื่อป้องกันโรคดังกล่าว ควรดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำขวดที่มีฝาปิดมิดชิดหรือน้ำต้มสุก รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง สำหรับอาหารกล่องที่ได้รับแจก ก่อนรับประทาน ควรตรวจสอบว่า อาหารบูดเสียหรือไม่ หากไม่แน่ใจอย่ารับประทานอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหารได้ สำหรับการขับถ่าย ให้ถ่ายใส่ถุงพลาสติกแล้วใส่ปูนขาวพอสมควร ปิดปากถุงให้แน่น ใส่ลงถุงอีกหนึ่งชั้นแล้วนำไปทิ้งบริเวณที่จัดไว้
ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ สภาพอากาศในช่วงที่ฝนตกหนักและมีน้ำท่วมขัง จะมีความชื้นสูง จึงเอื้ออำนวยให้เชื้อโรคต่างๆแพร่กระจายอย่างรวดเร็วมากขึ้น เช่น ไข้หวัด ปอดบวม ตาแดง เป็นต้น เพื่อป้องกันโรคดังกล่าว ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สวมเสื้อผ้าที่แห้งสนิทและมีความหนาเพียงพอที่จะให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ไม่ใช้มือขยี้ตาหรือใช้ผ้าเช็ดหน้าร่วมกัน เพราะอาจติดเชื้อโรคตาแดงได้
การเดินทางในบริเวณที่น้ำท่วมขัง หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ หรือพายเรือเข้าใกล้เสาไฟฟ้า เพราะอาจถูกไฟฟ้าดูด รวมทั้งไม่อยู่ใกล้บริเวณทางน้ำไหลหรือร่องน้ำ เพราะอาจเกิดดินถล่มได้ รวมถึงสวมรองเท้าบู๊ท ทุกครั้งที่ต้องเดินลุยน้ำ เพื่อป้องกันการเหยียบเศษวัสดุที่อยู่ใต้น้ำ เช่น เศษแก้ว กระเบื้อง ตะปู เป็นต้น และป้องกันโรคน้ำกัดเท้า โรคเท้าเปื่อย และโรคฉี่หนู ซึ่งเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรคเป็นเวลานานๆ รวมถึงยังช่วยป้องกันอันตรายจากสัตว์มีพิษที่อาศัยอยู่ในน้ำ หากต้องเดินลุยน้ำในช่วงกลางคืน ควรใช้ไฟฉายส่องสว่างและไม้นำทาง เพื่อป้องกันการเดินตกท่อหรือตกหลุมที่น้ำท่วมจนมองไม่เห็น หลังการเดินลุยน้ำ ควรล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
ดูแลบ้านเรือนให้สะอาด โดยจัดเก็บสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านให้เป็นระเบียบอยู่เสมอ เพื่อมิให้บ้านเรือนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค หรือที่อยู่ของสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่องที่อาจหนีน้ำเข้ามาหลบอยู่ในบ้านเรือน โดยเฉพาะบริเวณใต้ตู้ รองเท้า เสื่อ ผ้าเช็ดเท้า เป็นต้น นอกจากนี้ช่วงที่น้ำท่วมขังมักเอื้อต่อการแพร่กระจายของยุงทุกชนิด โดยเฉพาะยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ควรกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิด เก็บทำลายภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น ขวด ไห กระป๋อง ยางรถยนต์เก่า เป็นต้น ใส่เกลือแกงลงในจานรองขาตู้กับข้าว หมั่นเปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้ ภาชนะ และขวดประเภทต่าง ๆ ที่ใช้เลี้ยงต้นพลูด่างทุก 7 วัน
ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆด้วยความระมัดระวัง ควรตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟฟ้าทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกบ้านให้อยู่ใน สภาพพร้อมใช้งาน ขณะที่ตัวเปียกชื้น ห้ามสัมผัสหรือใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างเด็ดขาด ถอดปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งานในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนอง กรณีน้ำท่วมสวิตช์ไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าอยู่ในระดับต่ำ ให้ตัดกระแสไฟฟ้า โดยปิดสวิตช์ควบคุมระบบไฟฟ้าภายในบ้าน เพื่อป้องกันไฟฟ้ารั่ว และย้ายสวิตช์ไฟให้พ้นจากระดับที่น้ำท่วมถึง
-
2270 ปภ. แนะดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัยช่วงน้ำท่วม /article-science/item/2270-2011-10-17-14-42-42เพิ่มในรายการโปรด