ประหยัด "น้ำ" หน้าฝน
“รองเก็บน้ำฝน” กันอย่างไร
การรองน้ำฝนที่ถูกวิธี ต้องมีการเตรียมการณ์กันล่วงหน้า ฝนช่วงต้นฤดูใหม่ๆ ยังไม่สะอาด ควรปล่อยให้ตกทิ้งไปก่อน แต่ต้องรอไปอีกกี่ครั้ง ก็ขึ้นอยู่กับว่าฝนทิ้งช่วงครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ตกใหม่แต่ละครั้งนานแค่ไหน อากาศและสภาพแวดล้อมละแวกนั้นสกปรกและมีมลภาวะมากหรือไม่ จากนั้นก็มาคิดกันต่อเรื่องวิธีการกรองและกักเก็บน้ำฝน
ปัจจุบันบ้านเรือนในต่างจังหวัด ยังมีอยู่บ้างที่จะตั้งโอ่ง หรือภาชนะรองน้ำกันไว้กลางแจ้ง บ้างก็รองน้ำฝนจากหลังคาให้ไหลผ่านลงมาสู่รางน้ำที่ต่อท่อลงไปในตุ่ม โอ่ง หรือแท้งก์น้ำ ซึ่งก็ต้องทำความสะอาดหลังคาและรางน้ำกันไว้ล่วงหน้า ไม่ให้มีมูลสัตว์หรือสิ่งสกปรกตกค้าง หรือว่าเป็นสนิม และต้องให้น้ำฝนชะล้างหลังคาและรางน้ำสักระยะหนึ่งก่อนจึงจะเริ่มรองเก็บน้ำฝนได้ บางพื้นที่เกษตรกรรมก็ขุดเป็นสระน้ำ บ่อน้ำ กักเก็บน้ำฝนไว้ใช้กันตลอดทั้งปี ทั้งนี้ข้อควรใส่ใจคือ ภาชนะหรือระบบกักเก็บน้ำต้องสะอาด มีฝาปิดมิดชิด และควรตั้งอยู่ห่างไกลจากแหล่งมลภาวะต่างๆ
รู้ “กิน” ฉลาด “ใช้” น้ำฝน พูดถึงการนำ “น้ำฝน” มาใช้ประโยชน์นั้น คนกรุงหรือคนตามหัวเมืองใหญ่อาจส่ายหน้าไม่กล้านำมาดื่ม เพราะเขตเมืองบางแห่งมีมลภาวะหรือฝุ่นควัน แต่กระนั้น คนเมืองยังสมารถหันมารองเก็บน้ำฝน มาเป็น “น้ำใช้” ในกิจกรรมหลายรูปแบบที่ไม่ต้องใช้น้ำสะอาดมาก เช่น ใช้ล้างรถ รดน้ำต้นไม้ ใช้ในระบบโถสุขภัณฑ์ หรือ ใช้เช็ดล้างพื้นและสิ่งของภายนอกอาคาร เช่น ประตู รั้ว หรือ ชุดเก้าอี้ในสนาม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายจากบิลค่าน้ำประปา ซึ่งยังถือเป็นการช่วยลดพลังงานในการใช้ผลิตน้ำประปาได้อีกทางหนึ่ง
ส่วนชาวชุมชนต่างๆ ที่อากาศบริสุทธิ์ดีอยู่แล้ว ก็แนะนำให้นำน้ำฝนที่รองกักเก็บเอาไว้อย่างถูกวิธี มาผ่านการ “ต้ม” หรือ “กรอง” อีกครั้ง เพื่อความปลอดภัยก่อนใช้ดื่มกิน ซึ่งถ้าหากพูดถึงการปรับปรุงน้ำฝนให้สะอาดปลอดเชื้อโรคโดยไม่ใช้สารเคมีแล้ว เรานิยมทำกัน 2 วิธี อย่างที่ว่าไว้ คือ การต้ม และการกรองน้ำ ซึ่งเบื้องต้นเราควรแยกหรือกรองตะกอนในน้ำฝนออกเสียก่อน โดยกักเก็บน้ำฝนทิ้งไว้นิ่งๆ สัก 3-4 วัน เพื่อให้ตกตะกอน บางคนอาจใช้ปูนขาวช่วยทำน้ำฝนขุ่นๆ ให้ตกตะกอน และแยกเป็นส่วนน้ำฝนใสๆ ได้ จากนั้นก็ควรนำมากรองอีกทีผ่านผ้าขาวบาง ก่อนนำไปต้มให้เดือดแล้วใช้ดื่มได้
แม้คนตัวเล็กๆ อย่างเราจะไม่สามารถยื่นมือเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา หรือช่วยวางระบบบริหารจัดการเรื่องน้ำในระดับประเทศได้ แต่หากทุกคนมาแบ่งหัวใจ “ปันรักษ์” ให้โลกกันด้วยวิธีที่ว่าในหน้าฝนนี้ เชื่อว่าทุกครัวเรือนเมืองไทยจะยังมีน้ำดื่ม น้ำใช้ กันอย่างพอเพียงไปอีกนาน
-
2290 ประหยัด "น้ำ" หน้าฝน /article-science/item/2290-qqเพิ่มในรายการโปรด