น้ำท่วมต้นธารแห่งโรคระบาด
รอบปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ น้ำท่วมนับเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างปัญหาให้กับคนไทยค่อนข้างรุนแรง เพราะนอกจากความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่มีมูลค่ามหาศาลแล้ว ผลกระทบที่ตามมากับน้ำท่วมที่ต้องช่วยกันดูแลเฝ้าระวังอย่างมากคือ โรคระบาด ที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างรายงานจากสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ แจ้งว่า น้ำท่วมเป็นช่วงเวลาที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคติดต่อ เพราะน้ำท่วมเป็นตัวการสำคัญ ในการนำพาสิ่งสกปรกที่เคยถูกเก็บอย่างมิดชิด ให้แพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้าง นอกจากนี้น้ำท่วมยังทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์และแมลง ทำให้พาหะนำโรคเหล่านี้หนีมาอยู่ปะปนกับผู้คน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคติดต่อต่าง ๆ
โรคที่พบบ่อยหลังน้ำลด ได้แก่ โรคผิวหนัง โรคจากระบบทางเดินอาหาร โรคตาแดง ไข้หวัด ไข้เลือดออก และโรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู เป็นต้น
ตาแดง โรคสุดฮิตหลังน้ำลด จากการศึกษาผู้ป่วยโรคต่าง ๆ หลังสภาวะน้ำท่วมจากการให้บริการของสถานบริการสุขภาพ ปี 2549 โดยกระทรวงสาธารณสุข พบว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 47 จังหวัด มีผู้ประสบภัยที่มารับการรักษาจากสถานพยาบาลด้วยอาการต่าง ๆ โดยโรคที่พบมากที่สุด คือ โรคตาแดง มีจำนวนมากถึง 9,138 ราย รองลงมาคือ อุจจาระร่วง 5,218 ราย และไข้หวัดใหญ่ 2,212 ราย ส่วนโรคที่พบได้บ่อยครั้ง คือ งูและสัตว์มีพิษกัด อาหารเป็นพิษ บิด ตับอักเสบ ไข้เลือดออก เลปโตสไปโรซิส และไข้ไทฟอยด์
ทางเดินหายใจ อีกโรคร้ายที่ต้องเฝ้าระวัง จากสถานการณ์น้ำท่วมและดินโคลนถล่มใน 10 จังหวัดภาคใต้ครั้งล่าสุด ปี 2554 ข้อมูลจากการออกตรวจหน่วยแพทย์เคลื่อนที่หลังเกิดสภาวะน้ำท่วม จำนวน 1,365 ครั้ง มีผู้มารับบริการจำนวน 29,414 ราย พบว่า มีผู้ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ ร้อยละ 48.7 รองลงมาคือ น้ำกัดเท้า ร้อยละ 31.9 ส่วนอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่สามารถพบได้ คือ ปวดเมื่อย ร้อยละ 12.0 ผิวหนังอักเสบ ร้อยละ 1.84 และผื่นคัน ร้อยละ 1.77
สำหรับปี 2549 ข้อมูลการให้บริการของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พบว่า โรคที่พบมากในกลุ่มผู้ประสบอุทกภัย คือ โรคผิวหนังและบาดแผลมีจำนวน 52,529 ราย โรคทางเดินหายใจมีจำนวน 52,083 ราย และโรคผื่นและมีไข้ จำนวน 30,192 ราย ส่วนโรคระบบทางเดินอาหาร โรคตาแดง และอาการป่วยเป็นไข้ รวมทั้งมีอาการทางระบบประสาท เป็นกลุ่มโรคที่พบได้บ่อยเช่นกัน
หลังเหตุการณ์ภัยพิบัติผ่านพ้นไป หลายหน่วยงานด้านสาธารณสุขต่างออกตรวจสุขภาพ และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ ที่สำคัญที่สุด หากเราดูแลสุขภาพและรู้จักวิธีการป้องกันก่อนเจ็บป่วย ก็ช่วยให้เราพร้อมจะฝ่าปัญหาในยามเกิดภัยพิบัติ
-
2291 น้ำท่วมต้นธารแห่งโรคระบาด /article-science/item/2291-2011-10-18-13-58-45เพิ่มในรายการโปรด