ฉลาดใช้เงินช่วงเศรษฐกิจผันผวน
ในภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนและฝืดเคืองเช่นนี้ เราลองมาวางแผนเพิ่มความรัดกุมในการบริหารจัดการเรื่องการเงินในชีวิต ประจำวันของเราให้มีคุณค่าและน่าอุ่นใจขึ้นกันดีกว่า ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร และเชื่อว่าถ้าเราหมั่นทำจนเป็นนิสัย นานไปก็เกิดเป็นวินัยที่ดีขึ้นมาเอง แถมยังจะมีความสุขกับเงินเก็บเงินออมที่งอกเงยเพิ่มขึ้น จากความฉลาดรอบคอบของเราเองอีกด้วย
1. เก็บเล็กผสมน้อย ลองเก็บเศษเหรียญหรือเงินทอนในแต่ละวันใส่กระเป๋าเศษสตางค์แยกไว้ พอหมดวันก็เอามาใส่กระปุก เดือนหนึ่งอาจรวมเศษสตางค์ได้หลายร้อยบาท
2. ผ่อนต่อกับตัวเอง จากที่เคยผ่อนบ้านหรือรถเป็นประจำทุกเดือน หากหมดภาระผ่อนสิ่งของเหล่านั้นแล้วให้ลองผ่อนต่อกับตัวเองในลักษณะคล้ายกัน ซึ่งเงินผ่อนดังกล่าวนี้ก็จะกลายเป็นเงินเก็บของเราเองในอนาคต
3. จำเป็น หรืออยากได้ ก่อนซื้ออะไรให้คิดสักนิดว่าจำเป็นจริงๆ หรือรู้สึกอยากได้ถ้าแค่อยากได้ให้รอไปก่อน บางทีได้คิดไตร่ตรองดีๆ นานๆ ไปอาจหมดอารมณ์อยากได้ไปเอง
4. บันทึกเงินเข้า – ออก จดทุกอย่าง พร้อมแยกประเภทการใช้เงินด้วย เช่น ค่าเช่าบ้าน อาหาร เสื้อผ้า เพื่อนำมาวิเคราะห์วางแผนประหยัดเงินในเดือนต่อไป หากเป็นหนีบัตรเครดิต พยายามจ่ายให้ครบทุกเดือนและอย่าเกินกำหนด เพราะทั้งค่าปรับที่จ่ายช้าและอัตราดอกเบี้ยนั้นแพงมาก
5. ฝากรายได้เข้าบัญชีโดยตรง ซึ่งจะช่วยควบคุมการใช้จ่ายเงินได้ในขั้นหนึ่งจากนั้นจึงค่อยทยอยกด ATM มาใช้ตามความจำเป็นอย่างเหมาะสม
6. กำหนดเพดานบัญชีเงินฝาก ให้ลองวางระบบบัญชีออมทรัพย์เพิ่มเติม เช่น กำหนดยอดเงินต่ำสุดต้องมีไม่น้อยกว่า 20,000 บาท และสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท หากเงินในบัญชีเหลือใกล้ 20,000 บาท ก็จะต้องใช้อย่างประหยัดยิ่งขึ้น แต่ถ้ายอดเงินสูงเกินกว่า 50,000 บาท ก็ถอนออกมาฝากในบัญชีเงินฝากประจำที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า หรือาจนำไปลงทุนแบบอื่นที่มีผลตอบแทนสูงกว่า
ไหนๆ ก็ลุกขึ้นมาสร้างเสริมวินัยด้านการเงินกันใหม่แล้ว “กระเป๋า กระปุก” เลยขอนำภูมิคุ้มกันดีๆ มาฝากเพิ่มเติมอีกนิด โดยเฉพาะในยามเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้ หากท่านที่พอมีเงินเก็บออมเหลือและสนใจอยากลงทุนเพื่อนให้เงินเพิ่มพูนขึ้น ควรเลือกกองทุนระยะสั้นแบบไม่กี่เดือนหรือไม่เกิน 1 ปี และถ้าต้องการความมั่นใจว่าไม่สูยเงินต้น ก็ให้เลือกเล่นกองทุนที่รัฐบาลรับประกัน เช่น พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งควรศึกษาด้วยว่ากองทุนเหล่านี้นำเงินของเราไปทำอะไร และเราควรเบิกเงินจากกองทุนนี้ได้ง่ายด้วย แต่ถ้าต้องการดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกว่านี้และกล้ายอมรับความเสี่ยงจาการผันผวน ของกองทุนได้ ก็อาจเลือกลงทุนในกองทุนน้ำมัน กองทุนทองคำ แต่ก็ควรกระจายความเสี่ยงในกองทุนที่หลาอกหลายด้วย นอกจากนี้ เรายังควรเก็บสำรองเงินสดติดตัวติดบ้านไว้ด้วย อย่างน้อยก็ราวๆ ยอดเงินเดือนสัก 6 – 10 เดือน เผื่อโยกย้ายหรือจับจ่ายใส้สอยเรื่องจำเป็นเร่งด่วนได้อย่างคล่องตัวไม่ต้อง มัวรอระเบียบวิธีการต่างๆ ของธนาคารและสถาบันการเงิน และควรหลีกเลี่ยงการก่อหนี้ทุกประเภทและทุกกรณี เพราะไม่ว่าจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจเช่นไร การไม่มีหนี้ถือเป็นอิสรภาพทางการเงิน
จำไว้เสมอว่า ไม่ว่าเราจะมีรายได้เท่าไรก็ไม่สำคัญเท่ากับมีเงินเดือนเหลือเก็บเท่าไร การสร้างนิสัยให้ตนเองเป็นคนรู้เก็บ รู้ออม ฉลาดใช้จ่าย นอกจากจะทำให้มีเงินสำรองไว้เพื่ออนาคตแล้ว เรายังจะมีความสุขล่วงหน้าในปัจจุบันอีกด้วย
-
2370 ฉลาดใช้เงินช่วงเศรษฐกิจผันผวน /article-science/item/2370-2011-10-25-16-15-47เพิ่มในรายการโปรด