การออกแบบแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน
สภาวะที่ถือว่าเป็นวิกฤตชาติในขณะนี้ คือ ปัญหาน้ำท่วม ที่นับปีจะทวีความรุนแรงมากขึ้น อันเกิดจากสภาวะโลกร้อน ธรรมชาติปรับสมดุล การปรับเปลี่ยนฤดูกาลจากธรรมชาติ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองโดยไม่ได้รับการวางแผนอย่างรอบคอบ ละเอียดถี่ถ้วนในทุกแง่มุม การสร้างโครงการหมู่บ้านโดยไม่รีเสริทอย่างรอบคอบ ถมดินทับแหล่งน้ำแหล่งระบายน้ำเดิมที่มีมาแต่โบราณ การสร้างโครงการต่างๆ แต่มีทางระบายน้ำขนาดเล็กเกินไป การวางผังถนน ผังเมืองคดเคี้ยว การทับถมของตะกอนดิน อันเกิดจากการพังทลายของตลิ่ง และไม่มีที่ดูดซับน้ำคือต้นไม้ ซึ่งนับวันยิ่งร่อยหลอลง พฤติกรรมการทิ้งขยะก่อเกิดการอุดตันของท่อระบายน้ำ ไปจนถึงแม่น้ำลำคลองที่สกปรก พฤติกรรมการสร้างบ้านรุกล้ำแม่น้ำลำคลอง ทับถมลำธารประจำหมู่บ้าน ในขณะที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร นั้นตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ลุ่ม โดยเจตนาในการสร้างเมื่อครั้งโบราณคือการทำนารอบเมืองและการป้องกันศัตรู (ข้าศึกยกทัพมาแล้วติดหล่มหนองน้ำ) ให้ยากต่อการยกทัพมาต่อตี แนวโน้มในอนาคต สภาวะน้ำท่วมจะต้องลุกลามรุนแรงมากขึ้นไปอีก กรุงเทพและปริมณฑลอาจจะต้องรับมือน้ำท่วมอย่างไม่เคยมีมาก่อน และมากขึ้นทุกปี ทั่วประเทศ ทุกเมืองที่ขยายเติบโต อย่างไร้ทิศทาง ขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบ ก็อาจเจอปัญหาซ้ำแล้วซ้ำอีกแน่นอน แนวคิดในการจัดการเมือง ด้วยการออกแบบโดยทีมงาน “อยู่สบาย” ได้วิเคราะห์ในรายการโทรทัศน์ “ดีไซน์นิวส์” ทางสถานีเนชั่นชาแนล TTV 1 ไปแล้วนั้น มีข้อสรุปดังนี้ครับ
1. สร้างทางด่วนน้ำ (BYPASS) จากปัญหาการระบายน้ำที่เป็นอุปสรรค เสนอแนะให้มีการขุดคลองในแนวตรงตามตำแหน่งช่วงต่างๆ ของแม่น้ำหลักของเมือง พุ่งสู่ทะเลโดยสามารถสร้างแนวกันดินและสาธารณูปโภค เช่น ถนน ทางด่วน คร่อมน้ำ โดยเป็นได้ทั้งอุโมงค์น้ำ หรือทางน้ำเปิดโล่ง ซึ่งระหว่างการระบายน้ำอาจมีการสร้างเขื่อน ประตูเปิดปิดตามจังหวะ ที่เหมาะสมเพื่อรองรับน้ำช่วงอุทกภัยและสามารถแจกจ่ายน้ำในฤดูแล้งได้ สาเหตุของน้ำท่วม ส่วนหนึ่งมาจากความคดเคี้ยวของคูคลองทำให้การระบายน้ำของเมืองเป็นไปได้ช้าและใช้เวลายาวนานในการระบายออก ก่อให้เกิดน้ำขัง น้ำนิ่ง น้ำเสีย ตามลำดับ การสร้างทางด่วนน้ำจึงสามารถลดปริมาณน้ำได้อย่างแน่นอน
2. สร้างแหล่งน้ำ บึง หนอง ประจำหมู่บ้าน (แก้มลิง) สาเหตุที่เกิดจากการสร้างหมู่บ้านทับ, ขวางทางน้ำ หรือ ถม หนองน้ำโบราณเป็นต้นเหตุของการลดทอนการระบายน้ำช่วงหน้าฝนเสนอแนะให้มีการ สร้างข้อกำหนดของทุกหมู่บ้านตามจำนวนหลังคาเรือนที่เหมาะสมซึ่งสามารถระบาย น้ำช่วงน้ำหลากของหมู่บ้านได้ มีประตูเปิดปิดน้ำ ประจำท้องถิ่นเพื่อระบายน้ำออกเข้าสู่ทางด่วนน้ำสายรองและสายหลักต่อไป บึงประจำหมู่บ้านนั้นสามารถเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชนได้อีกทั้งสามารถ ปรับสโลปดินให้ลึกได้มากเพื่อกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด
3. การขุดลอกคูคลองครั้งยิ่งใหญ่และการสร้างกำแพงกันดิน แม่น้ำบางสายตื้นเขินมากขึ้นอันเกิดจากการทิ้งขยะของ ชุมชน การทับถมของตะกอนดิน, ทราย เป็นเหตุทำให้แม่น้ำลำคลอง ไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มที่อีกทั้งแม่น้ำบางสายกัดเซาะตลิ่งเพราะไม่ ได้ออกแบบกำแพงกันดินเอาไว้ก็ยิ่งสะสมตะกอนดินทรายมากเข้าไปอีก การขุดลอกคลองควรมีการทำอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ และสามารถขุดให้ลึกเพื่อรองรับกับปริมาณน้ำมากที่สุด โดยสร้างกำแพงกันดินตามตำแหน่งน้ำที่ปะทะตลิ่งหนักๆ หรือตลอดแนวแม่น้ำลำคลองที่เจออุทกภัยเป็นประจำทุกปี ซึ่งต้องอาศัยงบประมาณมากพอสมควรแต่คุ้มค่าถ้าเทียบกับความสูญเสียจากน้ำ ท่วมในแต่ละปี
4. ปรับสมดุลการอยู่อาศัย ในการให้การศึกษาปลูกฝังทัศนคติให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการสร้างเมืองแบบยั่งยืนวางแผนไม่ให้ชุมชนสร้างบ้านรุกล้ำ คูคลองสาธารณะ การสร้างความเท่าเทียมของบ้านและชุมชนต่อการอยู่อาศัยร่วมกันปัญหาการถมที่ สูงของคนรวยล้อมที่คนจนอย่างเห็นแก่ตัวควรมีช่องระบายน้ำร่วมใต้ดินซึ่งไม่ ก่อให้เกิดแอ่งกระทะหลังน้ำหลาก โดยนำหลักคิดของความร่วมทุกข์ ร่วมสุข ฉะนั้นจึงขอเสนอแนะให้มีการยกเครื่องเมืองทั้งระบบตั้งแต่กฎหมายผังเมือง กฎหมายอื่นๆในความเป็นอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล และสันติสุข
5. ปลูกต้นไม้ปลูกป่า เพิ่มปริมาณต้นไม้ บริเวณต้นน้ำของตอนเหนือเพื่อดูดซับน้ำลดทอนกำลังน้ำจากภูเขาสูงปรับสมดุลของสภาพแวดล้อมโดยบรรจุอยู่ในระบบการศึกษา เพื่อปลูกฝังทัศนคติให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทุกข์และสุข พร้อมเพรียงกัน เล็งเห็นถึงปัญหาระดับชาติ ร่วมกันออกกฎหมาย บังคับใช้สำหรับเมืองชุมชน หมู่บ้าน เช่นเพิ่มเติมสัดส่วนของสวนและต้นไม้ในเปอร์เซ็นต์ที่มากขึ้นมีระบบการให้รางวัลอินเซ็นทีฟ เพื่อสร้างแรงจูงใจบวกของทุกชุมชน เช่น รางวัลชุมชนดีเด่นด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดระบบน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้งบประมาณในสัดส่วนที่เหมาะสมยุติธรรม ในขณะที่มีการปรับโทษ ชุมชน เสื่อมโทรม น้ำเสีย น้ำเน่า ด้วยเช่นกัน ทั้งภาครัฐและเอกชน ลดความคิด ต่างคนต่างอยู่ เติมแนวคิดการอยู่ร่วมกันแบกปัญหา ร่วมกันของชุมชนใส่ทัศนคติ “ความรับผิดชอบร่วม”
6. วางแผนผังเมืองใหม่เพื่ออนาคต การออกแบบผังเมืองต้องมองทุกมิติ แล้วสร้างสรรค์โครงการวางแผนให้ไกลที่สุด แล้วทยอยสร้างทีละเฟส มีการวางผังเมืองในระยะลึก ระยะกว้าง ระยะไกล ทั้งศิลปวัฒนธรรม , ทรัพยากรธรรมชาติ , การจราจร , สภาพอากาศ และการเปลี่ยนแปลงของโลกและเปลือกโลก , เศรษฐกิจ , การศึกษาสังคม ฯลฯ แล้วรวบรวมเป็นโมเดลเมืองในฝัน โดยมอง การสร้างระยะใกล้ กลาง ไกล อย่างมีทิศทาง และเปิดโอกาส ให้คนรักบ้านรักเมืองแสดงความคิดประชาพิจารณ์เป็นระยะๆ ระดมสมองคิดจากนักสร้างเมืองมืออาชีพและนักออกแบบของประเทศ
ทีมงาน “อยู่สบาย” อยากเห็นการพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบไม่ปะติดปะต่อ ตามความไม่แน่นอนของรัฐบาลไทยอย่าให้ระบบการเมืองที่ขึ้นๆ ลงๆ ทำให้ระบบการสร้างเมืองผิดทิศทางไร้ระบบ กระจัดกระจายไม่เป็นเอกภาพ อันแสดงถึงความล่มสลายของสังคม สะท้อนออกมาที่เมืองไร้ระบบ ให้ลูกหลานทรมานกับความไม่แข็งแกร่งของรุ่นเรา แก้ปัญหาน้ำท่วม และปัญหาอื่นๆด้วยแนวความคิดสร้างสรรค์มองโลกในแง่บวกและความรักที่ทำร่วมกันทั้งประเทศไทยนะครับ
-
2488 การออกแบบแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน /article-science/item/2488-2011-11-19-15-55-37เพิ่มในรายการโปรด