ไวรัสปลายฝนต้นหนาวทำปอดบวม หอบหืด
เข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว หรือนับตั้งแต่สิงหาคมไปจนถึงพฤศจิกายน แม้จะเป็นช่วงที่มีไอเย็นเข้ามาคลายร้อน จึงเป็นที่ถูกใจหลายๆ คน แต่ในแง่ของสุขภาพถือเป็นช่วงที่ต้องระวัง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุไม่เกิน 5 ปี เนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและมีความชื้นสูง ส่งผลให้เชื้อไวรัสอาร์เอสวี หรือเรสไพราทอรีซินซิเชียล แพร่ระบาดมาก ไวรัสอาร์เอสวี ติดต่อกันได้ง่ายๆ เพียงการสัมผัสใกล้ชิด หรือสัมผัสสารคัดหลั่งทางตาหรือจมูก และทางลมหายใจ ไวรัสชนิดนี้คือสาเหตุของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง หากติดที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนจะทำให้ป่วยเป็นหวัด เป็นไข้ ทว่าติดที่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่างนั้นร้ายและรุนแรงกว่า
รศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล หัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และกรรมการสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย กล่าวในงาน "อาร์เอสวี วายร้าย ที่มากับฝน” ว่าร้อยละ 70 ของผู้ป่วยซึ่งติดไวรัสอาร์เอสวีที่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง มักจะปอดบวมและหลอดลมฝอยส่วนปลายอักเสบ โดยไวรัสจะเข้าไปเกาะทางเดินหายใจ ปล่อยมูกออกมา และเกาะติดกับเซลล์ ในระยะแรกอาการจะคล้ายไข้หวัด มีไข้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล แต่ถ้านานเกิน 4 วัน แถมไข้ยิ่งสูง ไอหนักขึ้น มีเสมหะ ไอหอบ หายใจเหนื่อย เวลาหายใจจะมีเสียงดังวี๊ด หน้าอกบุ๋ม เด็กที่เป็นจะซึม ตัวเขียว ไม่กินอาหาร หากปล่อยไว้ไม่พาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา ไวรัสชนิดนี้อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยด้วยว่า มีผู้ติดเชื้ออาร์เอสวีทั่วโลกกว่า 64 ล้านคน และคร่าชีวิตผู้ป่วยทั่วโลกไปแล้วกว่า 200,000 ราย
รศ.พญ.อรพรรณ บอกด้วยว่า ไวรัสอาร์เอสวี เป็นภัยสุขภาพตัวฉกาจสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้ใหญ่อายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กที่ป่วย ไวรัสนี้ยังไม่มียารักษา หากป่วยแพทย์จะใช้วิธีรักษาแบบประคับประคองตามอาการที่เป็น ซึ่งร้อยละ 80 หายได้ถ้ามารักษาทันท่วงที สำหรับเด็กที่ติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีแล้ว มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคหอบหืดมากกว่าเด็กคนอื่นๆ ถึง 10 เท่า ดังนั้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ควรเลี้ยงบุตรด้วยนมแม่เพราะมีภูมิคุ้มกันโรคที่ดี ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ เลี่ยงอยู่ในสถานที่แออัด เมื่ออากาศเย็นต้องทำร่างกายให้อบอุ่น
อย่างไรก็ตาม รศ.พญ.อรพรรณ ได้แนะนำให้สังเกตอาการสำคัญของไวรัสอาร์เอสวีให้เป็น ผ่านทางคลิปวิดีโออีกด้วย.
-
2503 ไวรัสปลายฝนต้นหนาวทำปอดบวม หอบหืด /article-science/item/2503-2011-11-23-17-42-19เพิ่มในรายการโปรด