โปรไบโอติกส์ ปรับสมดุลดี-ร้าย ลดเสี่ยงมะเร็ง
โดย :
Administrator
เมื่อ :
วันพุธ, 06 กุมภาพันธ์ 2556
Hits
21475
"โปรไบโอติกส์" หรือแบคทีเรียมีประโยชน์กันมา โดยนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต มักนำโปรไบโอติกส์มาเป็นจุดเด่นในการนำเสนอ อีกทั้งวงการสุขภาพก็พูดถึงอย่างแพร่หลาย ขณะที่วงการแพทย์ชี้ว่าอาจกลายเป็นยาปฏิชีวนะในศตวรรษที่ 21
สำหรับโปรไบโอติกส์ คือ แบคทีเรียที่ปะปนอยู่ในอาหาร แต่ไม่ก่อให้เกิดโรค เมื่อทานอาหารที่มีโปรไบโอติกส์เข้าไปแล้ว แบคทีเรียพวกนี้ทนกรดทนด่างในกระเพาะและลำไส้เล็กได้ จึงสามารถผ่านไปสู่ลำไส้ใหญ่ เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรแบคทีเรียในนั้น สร้างประโยชน์ต่อระบบการย่อยอาหาร การดูดซึม การขับถ่าย ทั้งยังช่วยปรับสมดุลปริมาณแบคทีเรียในร่างกาย
โปรไบโอติกส์ สามารถผลิตกรดแลคติก ที่เรียกว่า แลคติกแอซิด โดยมีหลายชนิด ได้แก่ แลคโตบาซิลลัส อะซิโดฟิลลัส, เอนเทอโรคอคคัส, สเตรปโตคอคคัส เทอร์โมฟิลัส, ไบฟิโดแบคทีเรียม ไบฟิดัม แบคทีเรียที่ดีเหล่านี้ อาศัยอยู่ในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ตั้งแต่เราเป็นทารก จะทำหน้าที่ช่วยย่อยอาหารและผลิตสารอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นกรดอะมิโน พลังงาน วิตามินเค วิตามินบี และสารปฏิชีวนะธรรมชาติหลายชนิด
การเติมไบโอติกส์ให้ร่างกายจึงมีประโยชน์ ดังนี้
1. กรดแลคติกที่แบคทีเรียผลิตออกมา ช่วยยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรค
2. ระบบขับถ่ายดี ไม่เกิดการหมักหมมของเสีย ลดอัตราเสี่ยงเกิดมะเร็งลำไส้และตับ
3. ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และกำจัดสารก่อมะเร็งบางชนิด
4. ช่วยลดระดับน้ำตาลและคลอเรสเตอรอลในเลือด
5. ผลิตเอนไซม์แลคเตส ซึ่งช่วยย่อยน้ำตาลในนม ทำให้ไม่มีอาการท้องอืดหรือท้องเสียจากการดื่มนม และช่วยให้การดูดซึมแคลเซียมดีขึ้น
6. วิตามินบีที่ได้ ทำให้เซลล์ในระบบภูมิต้านทานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และยังทำให้มีการผลิตเม็ดเลือดแดงได้ดี
เมื่อรู้จักโปรไบโอติกส์ อยากแนะนำให้รู้จักพรีไบโอติกส์กันด้วย เพราะมีความเกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกัน
เมื่อรู้จักโปรไบโอติกส์ อยากแนะนำให้รู้จักพรีไบโอติกส์กันด้วย เพราะมีความเกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกัน
โดย "พรีไบโอติกส์" คือ สารอาหารที่ร่างกายไม่สามารถจะย่อยได้ เมื่อผ่านเข้าไปถึงลำไส้ใหญ่จะกลายเป็นอาหารของแบคทีเรีย ส่งเสริมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ ให้เพิ่มจำนวนและแข็งแรงมากยิ่งขึ้น สารกลุ่มนี้ได้แก่ อินูลิน (พบในส่วนของหัวหรือรากสะสมอาหาร เช่น กระเทียมต้น หอม กระเทียม กะหล่ำปลี) และโอลิโกฟรุคโตส (มีอยู่ในพืช เช่น หัวหอม กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง และกล้วย) เหล่านี้จำเป็นต้องมีเพื่อรักษาสมดุลแบคทีเรียตัวดีและตัวร้าย
สรุปแล้วโปรไบโอติกส์ และพรีไบโอติกส์ รวมถึงใยอาหาร หากร่างกายได้รับอย่างเหมาะสม จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคติดเชื้อในทางเดินอาหาร , ช่วยลดสารพิษหลายชนิด, ช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น, ช่วยย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม ซึ่งแก้ปัญหาแน่นท้องหรือท้องเสียได้, ช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหาร โดยเฉพาะแคลเซียมและเหล็กได้ดี ไม่ใช่เพียงแค่นมเปรี้ยวและโยเกิร์ตเท่านั้นที่มี อาหารที่ผ่านการหมักดองบางประเภทแล้วยังคงมีจุลินทรีย์มีชีวิตอยู่ เช่น นัตโตะ(ถั่วเหลืองหมักของญี่ปุ่น), กิมจิ(ผักดองของเกาหลี), เทมเป้(ถั่วหมักของอินโดนิซีย) ก็มีโปรไบโอติกส์ปะปนอยู่ รวมถึงผักผลไม้ดองของไทยเราก็เช่นกันนะคะ แต่จะเลือกเสริมโปรไบโอติกส์ให้ร่างกายด้วยอาหารชนิดไหน ระวังเรื่องความสะอาด และถูกสุขลักษณะกันด้วย อย่าลืมว่า You are what you eat เลือกทานอะไรดีๆ จะได้มีร่างกายที่แข็งแรงกันนะคะ
ขอขอบคุณบทความจาก วิชาการ.คอม
คำสำคัญ
โปรไบโอติกส์,ลด,เสี่ยง,มะเร็ง
ประเภท
Text
ลิขสิทธิ์
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
ผู้แต่ง หรือ เจ้าของผลงาน
Administrator
วิชา
วิทยาศาสตร์ทั่วไป
ระดับชั้น
ม.1, ม.2, ม.3, ม.4, ม.5, ม.6
กลุ่มเป้าหมาย
ครู, นักเรียน, บุคคลทั่วไป
-
3343 โปรไบโอติกส์ ปรับสมดุลดี-ร้าย ลดเสี่ยงมะเร็ง /article-science/item/3343-2013-02-06-08-02-19เพิ่มในรายการโปรด