โลกร้อน
กาลเวลาทำให้สภาพแวดล้อมของโลกเปลี่ยนไป นับตั้งแต่โลกใบนี้ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อหกพันล้านปีที่แล้วจนกระทั่งสิ่งมีชีวิตได้อุบัติขึ้นและมีวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่อาศัยบนโลกสีฟ้าใบเล็ก อันแสนงดงาม ท่ามกลางความร่มเย็น อันน่าจะเป็นนิรันดร์ แต่ในช่วง30-40 ปีที่ผ่านมา สภาพแวดล้อมของโลก เปลี่ยนไปอย่างมหาศาล ก่อความเสียหายแผ่ขยายไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง ภาวะโลกร้อนได้ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี ค.ศ.1950 ศาสตราจารย์ โรเจอร์ รีวิลล์ ได้ตั้งสมมุติฐานว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเกิดจากจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีการใช้น้ำมันและถ่านหินซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นพลังงานหลัก น่าจะทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ ในชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงระดับอันตราย
แสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องทะลุชั้นบรรยากาศมายังผิวโลก นำความอบอุ่นมาให้สรรพสิ่งบนพื้นโลก ขณะเดียวกันก็สะท้อนความร้อนออกไปนอกผิวโลกในรูปรังสีอินฟราเรด แต่บางส่วนถูกกักเก็บไว้ในชั้นบรรยากาศทำให้โลกมีอุณหภูมิพอดี สำหรับสิ่งมีชีวิต ไม่ร้อนเกินไปดังเช่นดาวศุกร์ หรือเย็นยะเยือกเกินไปแบบดาวอังคาร จนสิ่งมีชีวิตไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่นับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษย์ปลดปล่อยก๊าซต่างๆ โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ เพื่อใช้ในการคมนาคม และอุตสาหกรรม นอกจากนั้น การเผาป่า น้ำเสียและขยะจำนวนมหาศาล ฯลฯ หรือแม้แต่สงคราม ล้วนก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จนทำให้ชั้นบรรยากาศสูงขึ้น รังสีอินฟราเรดไม่สามารถสะท้อนออกนอกโลกได้ดังที่เคยเป็นมาในอดีต เกิดสภาวะเรือนกระจก ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งภาวะเช่นนี้เป็นความสัมพันธ์ซับซ้อน เชื่อมโยงกัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเมื่อมีกาซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ มากขึ้นเมื่อใด อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มสูงขึ้น เพราะความร้อนจากดวงอาทิตย์ จะถูกกักเก็บไว้ในโลกมากขึ้น นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1860 จนถึงปัจจุบัน อุณหภูมิของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงปี ค.ศ. 1970 จนกระทั่งปัจจุบัน อุณหภูมิของโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น เกิดพายุรุนแรงและถี่ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นไต้ฝุ่น เฮอร์ริเคน ไซโคลน พัดกระหน่ำชายฝั่งทั่วโลก อย่างไม่เคยเป็นเช่นนี้มาก่อน สร้างความเสียหาย ผู้คนและสัตว์ล้มตายจำนวนมาก นอกจากนั้นมหาสมุทรยังดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินที่ปล่อยออกมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไว้อีกจำนวนมาก ทำให้มหาสมุทรทั่วโลกมีความเป็นกรดสูงกว่าเดิม เพราะเมื่อคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลละลายในน้ำ น้ำในมหาสมุทรจะกลายเป็นกรดคาร์บอนิค ทำให้ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของน้ำในมหาสมุทรเปลี่ยนไป
ภาพถ่ายทางดาวเทียม แสดงให้เห็นถึงการลดลงอย่างรวดเร็วของน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกา ขั้วโลกเหนือ และเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งถ้าน้ำแข็งละลายหมด ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นจากระดับปกติถึง 6 เมตร ผลจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ ยืนยันว่า เมื่อมหาสมุทรอุ่นขึ้น ผิวหน้าของมหาสมุทร สามารถถ่ายทอดพลังงานความร้อนได้มากขึ้น จนก่อให้เกิดพายุที่ทรงพลัง และมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะการเกิดเฮอร์ริเคน ในแถบสหรัฐอเมริกา ในขณะที่แถบยุโรปและเอเชียรวมทั้งประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะฝนตกอย่างหนักและน้ำท่วมรุนแรง หลายระรอก แต่ทั้ง ๆ ที่ภาวะโลกร้อนทำให้ฝนตกหนักและน้ำท่วมรุนแรง มันกลับทำให้น้ำในทะเลและมหาสมุทรระเหยอย่างรวดเร็วสู่บรรยากาศที่ร้อนกว่าเดิม จนทำให้เกิดความชื้นมากขึ้น รวมถึงดูดความชื้นไปจากดินไปด้วย ทำให้ภัยแล้งกลับรุนแรงและกินวงกว้างขึ้น พื้นที่ทางการเกษตรในหลายประเทศเปลี่ยนไปเป็นทะเลทราย ผู้คนจำนวนมากต้องเผชิญกับความอดอยาก และถ้าภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไป จะก่อให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวง ป่าและพื้นที่เพาะปลูกจะสูญเสียความชื้นร้อยละ 35 ภายใน 50 ปีข้างหน้า ผืนดินจะแห้งผาก พืชพรรณจะเหี่ยวเฉา ผลผลิตตกต่ำและเกิดไฟไหม้มากขึ้น แนวปะการังที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรก็จะถูกทำลายเป็นบริเวณกว้าง เนื่องมาจากภาวะโลกร้อนมีผลให้องค์ประกอบทางเคมีของมหาสมุทรเปลี่ยนไป นอกจากนี้ เชื้อโรคใหม่ๆ จะปรากฏเพิ่มขึ้นอีกมากมาย
หลายปีก่อนนักอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ มีความพยายามในการทำให้คนทั่วไปเชื่อว่า โลกร้อน เป็นเพียงทฤษฎี แม้ว่าโลกร้อนจะเกิดผลกระทบในระยะยาว แต่บัดนี้ผลกระทบนั้นได้ปรากฏผลเป็นความรุนแรงขึ้นแล้ว หากเรายังปล่อยให้ภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ภัยพิบัติที่ร้ายแรงจะจะยิ่งเกิดเพิ่มมากขึ้นและภัยพิบัติที่ร้ายแรงยิ่งกว่าจะตกอยู่กับลูกหลานของเรา พวกเขาจะต้องเผชิญกับอนาคตที่มืดมนและดำรงชีวิตอย่างลำบากยากเย็น ในสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย รุนแรง หากวันนี้เราทุกคนร่วมมือร่วมใจกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือเท่ากับเมื่อสามสิบปีที่แล้ว เราก็จะสามารถฝ่าวิกฤตโลกร้อนไปได้พร้อมกัน
ขอขอบคุณบทความจาก วิชาการ.คอม
-
3353 โลกร้อน /article-science/item/3353-2013-02-11-03-38-38เพิ่มในรายการโปรด